สุดยอดเครื่องมือทางการจัดการ 2013

สุดยอดเครื่องมือทางการจัดการ 2013

คำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับจากท่านผู้บริหารต่างๆ ก็คืออะไรคือเครื่องมือทางการจัดการ (Management Tools) ใหม่ๆ บ้าง

ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะแนะให้ไปศึกษาหรือดูจากข้อมูลที่บริษัท Bain & Company ได้สำรวจไว้ ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาทาง Bain ก็ได้แถลงผลการสำรวจเครื่องมือทางการจัดการที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลกประจำปี 2013 ออกมาแล้วครับ โดยทาง Bain เองถือเป็นต้นตำรับในการสำรวจถึงเครื่องมือทางด้านการจัดการต่างๆ และเป็นแหล่งที่ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของการใช้เครื่องมือทางการจัดการต่างๆ

ทุกๆ สองปี ทาง Bain เขาจะมีการสำรวจผู้บริหารทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชีย อเมริกาใต้ ถึงเครื่องมือทางด้านการจัดการที่ใช้กันมากที่สุด โดยล่าสุดเขาก็ได้ประกาศเครื่องมือทางด้านการจัดการที่สำคัญที่คนใช้กันมากที่สุดทั่วโลกมาแล้ว 25 ตัวครับ เนื่องจากพื้นที่จำกัดถ้าท่านผู้อ่านอยากจะรู้ว่า 25 ตัวที่ว่ามีอะไรบ้าง ลองเข้าไปดูที่ www.bain.com ได้นะครับ แต่เรามาดูในประเด็นที่น่าสนใจจากผลการสำรวจของ Bain กันดีกว่าครับ

ประเด็นแรกคือเครื่องมือใหม่ๆ ที่เป็นหรือกำลังเป็นที่นิยมกันที่เข้ามาอยู่ใน 25 อันดับนี้ โดยเป็นเครื่องมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาจากการสำรวจครั้งนี้นะครับ (การสำรวจเมื่อสองปีที่แล้วยังไม่มีเครื่องมือเหล่านี้) ได้แก่ Big Data Analytics, Complexity Reduction, Employee Engagement Surveys และ Zero-Based Budgeting ครับ

ตัวแรกคือ Big Data นั้น สำหรับท่านที่ติดตามความคืบหน้าทางการจัดการคงไม่แปลกใจครับ เพราะช่วงปีกว่าๆ ที่ผ่านมา มีการพูดและเขียนกันในเรื่องนี้เยอะมากครับ โดย Big Data นั้นจะหมายถึงปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมากในหลักที่มากกว่า terabytes เป็น petabytes และ ก้าวสู่ exabytes ซึ่งจากระบบตัวชี้วัดและข้อมูลสารสนเทศที่องค์กรมีกันอยู่ ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่องค์กรเก็บหรือติดตามมีมากขึ้นเรื่อยๆ และจากพัฒนาการของซอฟต์แวร์ ประกอบกับศาสตร์ทางด้านข้อมูลและสถิติ ทำให้องค์กรสามารถนำข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลนั้น มาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการ การให้บริการลูกค้า การนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

สำหรับ Complexity Reduction นั้นอาจจะฟังดูแปลกหูหน่อยนะครับ แต่หลักการไม่ยุ่งยากครับ เนื่องจากองค์กรต่างๆ พอเติบโตและขยายตัวมากขึ้นก็มักจะทำให้เกิดความสลับซับซ้อนในด้านต่างๆ มากขึ้น ทั้งในเรื่องของการดำเนินงาน การบริหารองค์กร โครงสร้างองค์กร หรือ ระบบข้อมูลสารสนเทศ สิ่งที่องค์กรต่างมุ่งแสวงหาคือทำอย่างไรถึงจะสามารถลดความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้น นิตยสาร Forbes เมื่อตอนต้นปีถึงกับมีบทความหนึ่งที่ประกาศว่าองค์กรส่วนใหญ่ต้องมี Chief Complexity Reduction Officer กันเลยทีเดียวครับ การนำหลักการและเครื่องมือนี้มาใช้จะช่วยให้องค์กรประหยัดต้นทุนแต่ขณะเดียวกันก็สามารถนำเสนอสินค้าบริการที่ลูกค้าต้องการได้ อีกทั้งช่วยทำให้กระบวนการทำงานและการตัดสินใจในองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Employee Engagement Surveys นั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับองค์กรธุรกิจไทยครับ บริษัทชั้นนำของไทยจำนวนมากที่มีการสำรวจ Employee Engagement กัน ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงแค่การวัดความพึงพอใจของพนักงานเหมือนในอดีต แต่จะครอบคลุมทั้งในแง่ที่พนักงานเองรู้สึกผูกพัน เกี่ยวข้องกับงาน เพื่อนร่วมงาน องค์กร และมีความกระตือรือร้นในการทำงานและในองค์กรหรือไม่ ทำให้ทราบว่าพนักงานเองพร้อมที่จะทำเพื่องานและองค์กรมากกว่าตามภาระหน้าที่ขั้นต่ำหรือไม่

สุดท้ายคือ Zero-Based Budgeting ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่ใช่สิ่งที่ใหม่เลยครับ เราสอนเรื่องนี้ในสถาบันการศึกษามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่สงสัยว่าเพิ่งจะเริ่มตื่นตัวกันในระดับโลก โดยระบบนี้เป็นการทำงบประมาณโดยให้เริ่มต้นจากศูนย์เลย ไม่ใช่เป็นการนำเอางบประมาณที่ได้รับในอดีต หรือที่ใช้ไปในอดีตมาเป็นจุดตั้งต้น แต่ให้เริ่มจากศูนย์เลย และมาพิจารณากันอย่างละเอียดว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ มีความจำเป็นจริงหรือไม่ และเป็นการบังคับให้ผู้บริหารต้องย้อนกลับไปทบทวนกิจกรรมและโครงการต่างๆ ว่ายังมีความจำเป็นหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งงบประมาณโดยเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

เครื่องมือทั้งสี่ประการถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่เข้ามาในปีนี้ครับ ส่วนทั่วโลกนั้นเครื่องมือที่มีการใช้กันมากที่สุดห้าอันดับแรก ได้แก่ 1. Strategic Planning 2. Customer Relationship Management 3. Employee Engagement Surveys 4. Benchmarking 5. Balanced Scorecard