ระหว่างทางของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน

ระหว่างทางของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน

19 สิงหาคม ค.ศ. 1772 พระเจ้ากุสตาฟที่สามแห่งสวีเดน (1746-1792) ได้ทรงทำรัฐประหารยึดอำนาจจากอภิชนนักการเมืองฝ่ายรัฐสภาได้สำเร็จ

ด้วยพระชนมายุเพียง 26 พรรษา เป็นการยึดอำนาจอย่างไม่มีการเสียเลือดเนื้อเลย อีกทั้งปวงประชามหาชนต่างโห่ร้องยินดีแสดงความจงรักภักดีตอบรับการที่พระองค์ยึดอำนาจจากพวกอภิชนฝ่ายรัฐสภา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์กลับมา เป็นเพราะในช่วงเวลาที่ฝ่ายอภิชนครองอำนาจนำทางการเมือง พวกเขาได้นำสวีเดนเข้าสู่สงครามถึงสองครั้ง (สงครามกับรัสเซียในปี ค.ศ. 1743 และสงครามเจ็ดปีในปี ค.ศ. 1763) และพ่ายแพ้อย่างหมดรูปทั้งสองครั้ง กระแสสังคมและการเมืองจึงหันมาทางสถาบันกษัตริย์ และในช่วงก่อนหน้านี้ สถาบันกษัตริย์สวีเดนอยู่ในสภาวะถดถอยตกต่ำอย่างยิ่งเป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ (ค.ศ. 1718-1771) การเมืองสวีเดนตกอยู่ในมือของพวกอภิชนสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กัน และภายใต้สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและเงื่อนไขรัฐธรรมนูญสวีเดนขณะนั้น ทำให้สวีเดนตกอยู่ในภยันตรายที่จะถูกยึดครองโดยรัสเซียอีกด้วย

หลังจากพระเจ้ากุสตาฟที่สามยึดอำนาจสำเร็จภายใต้บรรยากาศที่ประชาชนชาวสวีเดนส่วนใหญ่สนับสนุนพระองค์ พระองค์ได้ทรงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะรัฐธรรมนูญแห่งสวีเดน ค.ศ. 1772 เนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้แก่ หนึ่ง พระมหากษัตริย์เป็นประมุขฝ่ายบริหาร นั่นคือ เป็นรัฐบาลและควบคุมระบบราชการ สอง รัฐสภาจะมีการประชุมได้ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขฝ่ายบริหารเห็นควรให้มีการประชุม นั่นคือ รัฐสภาสวีเดนจะทำหน้าที่ของตนได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงขององค์พระมหากษัตริย์ สาม แต่ในการออกกฎหมายขึ้นภาษี รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อออกกฎหมายดังกล่าว พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจบริหารในการออกกฎหมายภาษีตามอำเภอใจไม่ได้

สี่ การทำสงครามในลักษณะที่ไม่ใช่เพื่อป้องกันประเทศ แต่เป็นสงครามในเชิงรุก พระมหากษัตริย์ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารจะประกาศสงครามเองโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของฝ่ายรัฐสภามิได้ ห้า ที่ผ่านมาก่อนการยึดอำนาจ ในส่วนงานที่ดูแลเรื่องความยุติธรรมของคณะองคมนตรี (the Privy Council) คณะองคมนตรีไม่มีอำนาจบทบาทแต่อย่างใด แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ คณะองคมนตรีทำหน้าที่อย่างอิสระเสมือนศาลสูงสุด ซึ่งในการลงคะแนนตัดสินของคณะองคมนตรีนี้ องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ์ลงคะแนนสองเสียง หก ในการทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสันติภาพ การสงบศึกกับต่างชาติ รวมทั้งการเสด็จเยือนประเทศอื่นๆ พระมหากษัตริย์ทรงต้องรับฟังความเห็นของคณะองคมนตรี คณะองคมนตรีสามารถมีสิทธิ์ลงคะแนนคัดค้านองค์พระมหากษัตริย์ได้ และองค์พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิบัติตามหากเสียงคัดค้านเป็นเอกฉันท์

จากเนื้อหาบางส่วนของรัฐธรรมนูญนี้ จะเห็นได้ว่า อำนาจฝ่ายบริหารมีมากขึ้นกว่าเดิม อำนาจของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัตินั้นถดถอยลดน้อยลงไปมาก ถือเป็นสภาวะที่สวิงหรือเหวี่ยงตัวกลับอย่างแรงของการเมืองสวีเดนที่ก่อนหน้านี้อยู่ในสภาวะที่ฝ่ายรัฐสภาเคยมีอำนาจมหาศาลและควบคุมฝ่ายบริหารด้วย และไม่มีองค์กรสถาบันใดจะมีพลังมากพอที่จะทัดทานหรือตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของนักการเมืองในสภาได้ ซึ่งในช่วงที่สภามีอำนาจมากนี้ ผู้ที่นิยมชมชอบหรือผู้ที่ได้ประโยชน์จากสภาพการณ์ทางการเมืองดังกล่าวเรียกว่าเป็น “ยุคแห่งเสรีภาพ” (the Age of Liberty) ของสวีเดน

ภายใต้บรรยากาศของแรงเหวี่ยงกลับทางการเมืองนี้ ประชาชนส่วนใหญ่พอใจกับสภาพที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีความเข้มแข็งและอยู่เหนือฝ่ายอภิชนนักการเมืองในรัฐสภา แต่แน่นอนว่า ถ้าคิดด้วยเหตุด้วยผล สภาวะดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่สภาวะที่พึงปรารถนา เพราะใครหรือสถาบันใดจะสามารถทัดทานและตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารที่นำโดยองค์พระมหากษัตริย์เองได้ ? จะมีได้ก็เพียงคณะองคมนตรี ซึ่งก็ต้องถามต่อว่า แล้วองคมนตรีมาจากไหน ? ใครเป็นคนแต่งตั้ง ? แล้วถ้าองค์พระมหากษัตริย์เป็นคนแต่งตั้ง องคมนตรีก็น่าจะเป็นคนที่อยู่ฝ่ายพระมหากษัตริย์เสียมากกว่า ยากที่จะมีองคมนตรีที่เป็นกลางและกล้าหาญพอที่จะคัดค้านพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน หากมีองคมนตรีผู้มีความกล้าหาญทางจริยธรรมทางการเมืองจริงๆ แต่ในเงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมืองดังกล่าว องค์พระมหากษัตริย์จะยอมรับฟังคำทัดทานเพียงใด ? อีกทั้งเงื่อนไขในการคัดค้านนโยบายของพระมหากษัตริย์โดยองคมนตรีและองค์พระมหากษัตริย์จะต้องปฏิบัติตาม ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ องคมนตรีจะต้องมีความเห็นเป็นเอกฉันท์เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งพระมหากษัตริย์จะยอมรับฟังหรือไม่ก็น่าสงสัยอยู่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกออกแบบมาให้คาดหวังที่ตัวบุคคลมากกว่าจะที่จะออกแบบให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเป็นระบบโดยไม่ได้เน้นไปที่ตัวคน

หากพิจารณาภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่เหวี่ยงกลับนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า พระเจ้ากุสตาฟยังคงต้องยอมรับเงื่อนไขสำคัญของการเป็นระบอบพระมหากษัตริย์อำนาจจำกัด (limited monarchy) หรือกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่ พระองค์ยอมรับและยอมให้รัฐธรรมนูญจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์ในการออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีและการทำสงคราม ถ้าเปรียบเทียบกับการปกครองอังกฤษ จะพบว่า อังกฤษได้ออกกฎหมายจำกัดพระราชอำนาจในเรื่องแบบเดียวกันนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1215 (Magna Carta) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทางการเมืองการปกครองระบอบ “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ของอังกฤษ และเป็นสัญลักษณ์หรือเงื่อนไขสำคัญขั้นต่ำของการเป็นระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของโลกด้วย

ประเด็นสำคัญที่เป็นบทเรียนในกรณีของการเหวี่ยงกลับทางการเมืองของสวีเดนในการที่ “กษัตริย์ยึดอำนาจจากอภิชนนักการเมืองในสภา” ก็คือ ระบอบการปกครองกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะลงตัวได้อย่างในปัจจุบัน และระหว่างทาง การเหวี่ยงกลับทางการเมืองก็เป็นสิ่งปรกติที่เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าจะเป็นกรณีของเดนมาร์กหรือของสวีเดนภายใต้การนำของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม เพราะการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนและเดนมาร์กมิได้เปลี่ยนแปลงโดยมีการสำเร็จโทษกษัตริย์เหมือนอย่างกรณีของอังกฤษและฝรั่งเศส

และแม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสมีการสำเร็จโทษกษัตริย์ แต่กระแสเหวี่ยงกลับทางการเมืองไปทางฝั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังสามารถเกิดขึ้นเช่นกัน การเมืองสวีเดนอยู่ภายใต้รัฐสภามาเกือบครึ่งศตวรรษก็สามารถเหวี่ยงกลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจนำได้ แต่แน่นอนว่า ที่กล่าวมานี้ มิใช่ต้องการจะให้การเมืองไทยเป็นเช่นนั้น แต่การทำความเข้าใจย้อนหลัง 80 กว่าปีแห่งการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยควรกระทำโดยเปรียบเทียบกับกระบวนการ พัฒนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดนและเดนมาร์กอย่างให้ความสำคัญต่อกระบวนการและช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่จะเทียบเคียงหรือประเมินระบอบของเรากับสภาวะที่ลงตัวแล้วของระบอบของเขาในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่น่าวิตกและไม่ควรเกิดขึ้นก็คือ “แรงเหวี่ยงทางการเมือง” ไม่ว่าจะเหวี่ยงไปสุดโต่งทางฝั่งรัฐสภาหรือฝั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือฝั่งทหาร เราจะเข้าใจและป้องกันการเกิดแรงเหวี่ยงทางการเมืองนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องเข้าใจว่า ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ดี หรือระบอบประธานาธิบดีก็ดี ล้วนแล้วเป็น “ระบอบการปกครองแบบผสม” หรือที่เรียกว่า “Mixed constitution” หาใช่ประชาธิปไตยบริสุทธิ์หรือราชาธิปไตยบริสุทธิ์ เมื่อเข้าใจว่าเป็นระบอบผสม ก็เข้าใจได้ว่า มันไม่ควรเหวี่ยงไปในทางใดทางหนึ่งจนเกินไป !


(จากส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา [HS1068A] ปีที่สาม)