อะไรคืออะไรในโครงสร้างราคาพลังงาน (2)

อะไรคืออะไรในโครงสร้างราคาพลังงาน (2)

เมื่อตอนที่ผ่านมาผมได้กล่าวถึงโครงสร้างราคาน้ำมันโดยได้เริ่มอธิบายถึงปัจจัยที่ไปมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา ณ โรงกลั่นไปแล้ว

ในตอนนี้ผมจะมาพูดถึงราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และส่วนประกอบที่เหลืออื่นๆ ของโครงสร้างราคาน้ำมันว่าแต่ละส่วนนั้นมีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดอย่างไร

จากที่ได้กล่าวมาในตอนที่แล้วว่าราคา ณ โรงกลั่นนั้นเป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่มีการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ (ไม่ใช่ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศสิงคโปร์) แต่นอกจากน้ำมันเบนซินออกเทน 95 แล้วยังมีน้ำมันเบนซินประเภทอื่นอีกที่เรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ หรือน้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลังในสัดส่วนต่างๆ เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 ก็คือน้ำมันที่มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซินอยู่ร้อยละ 90 และส่วนผสมของเอทานอลอยู่ร้อยละ 10 เป็นต้น ดังนั้น ราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์แต่ละชนิดก็จะคำนวณจากสัดส่วนของน้ำมันเบนซินและเอทานอลของชนิดน้ำมันนั้นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันแก๊สโซฮอล์แต่ละชนิดก็จะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสัดส่วนที่ต่างกันของเอทานอลที่เข้าไปผสมนั่นเอง สำหรับราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลเองก็เช่นกัน คือเป็นราคาที่มีการคำนวณส่วนผสมของน้ำมันไบโอดีเซล หรือที่เรียกกันว่าน้ำมัน B100 เข้าไปในสัดส่วนตามที่รัฐกำหนดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สัดส่วนน้ำมัน B100 นั้นจะอยู่ระหว่างร้อยละ 4.5 - 5 ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของวัตถุดิบซึ่งก็คือปาล์มน้ำมันนั่นเอง

สำหรับส่วนประกอบในโครงสร้างราคาน้ำมันที่ผมจะขอกล่าวต่อไปก็คือภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาล ซึ่งหากเข้าไปดูโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานจะเห็นว่าน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราที่ต่างกัน คือมีตั้งแต่สูงสุดที่ 7 บาท/ลิตร ที่เก็บสำหรับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จนถึงต่ำสุดที่ 0.005 บาท/ลิตร ที่เก็บสำหรับน้ำมันดีเซล โดยในส่วนของน้ำมันเบนซินซึ่งรวมไปถึงน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั้นที่มีอัตราภาษีสรรพสามิตที่ต่างกันนั้นก็เนื่องมาจากการที่รัฐต้องการที่จะกำหนดส่วนต่างของราคาเพื่อให้ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งก็คือน้ำมันแก๊สโซฮอล์นั่นเอง สังเกตได้จากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีสัดส่วนเอทานอลผสมมาก ก็จะมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลน้อย

สำหรับในส่วนของน้ำมันดีเซลนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเพียง 0.005 บาท/ลิตรเท่านั้น คือแทบจะเหมือนกับได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตเลย ซึ่งก็ทำให้รายได้ของรัฐลดลงจากเดิมไปถึงปีละกว่า 50,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากรัฐบาลต้องการที่จะบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลนั้นถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคการขนส่ง ภาคการค้าภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยมีปริมาณการใช้เฉลี่ยรวมถึงเกือบ 60 ล้านลิตรต่อวัน (จากตัวเลขการใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2556 ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน) โดยรัฐได้มีนโยบายให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท/ลิตร ทั้งนี้หากเข้าไปดูที่ราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันดีเซลเองนั้น จะเห็นว่ามีความใกล้เคียงกับราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ แต่การยกเว้นภาษีสรรพสามิตนั่นเองที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลนั้นต่ำกว่าราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ยกเว้นก็แต่เพียงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E85 ที่รัฐมีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปชดเชย ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

สำหรับอัตราภาษีเทศบาลนั้น มีการเก็บในอัตราที่คงที่คือร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละประเภท ดังนั้น หากภาษีสรรพสามิตมีการเปลี่ยนแปลง ภาษีเทศบาลก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นถือเป็นกลไกสำคัญของรัฐในการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิด โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานนั้น จะเป็นผู้พิจารณาการปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ตามแต่สถานการณ์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยในบางครั้งหากราคาน้ำมันในตลาดมีความผันผวนมากซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคา ณ โรงกลั่น การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ก็จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนดังกล่าวต่อราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปได้

นอกจากนี้ กองทุนน้ำมันฯ ยังถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนด้วย โดยการกำหนดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ นั้นจะแตกต่างจากภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลก็คือกองทุนน้ำมันฯ จะสามารถเป็นได้ทั้งบวกและลบ กล่าวคือหากในโครงสร้างราคาเป็นบวกก็จะหมายถึงอัตราที่เรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และหากเป็นลบก็หมายถึงอัตราที่รัฐใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปชดเชย ซึ่งเมื่อเข้าไปดูในโครงสร้างราคาน้ำมันนั้นจะเห็นได้ว่ามีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 น้ำมันแก็สโซฮอล์ 95 E10 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และที่ได้เข้าไปชดเชยก็คือน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E85 ซึ่งอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ และเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันที่แตกต่างกันนี้ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันต่างกัน เช่นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E85 นั้นได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ถึงลิตรละ 10.90 บาท ก็เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้น้ำมันหันไปใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้นนั่นเอง

นอกจากกองทุนน้ำมันฯ แล้ว ยังมีการเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บจากน้ำมันสำเร็จรูปทุกประเภทเท่ากันคือ 0.25 บาท/ลิตร ก็เพื่อใช้ในส่วนของการสนับสนุนโครงการและการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานด้วย

สำหรับตัวสุดท้าย คือค่าการตลาด ซึ่งก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าขนส่งน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งค่าการตลาดนี้ก็ถือเป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการค้าน้ำมันนั่นเอง มีข้อสังเกตก็คือค่าการตลาดนั้นไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐ แต่ค่าการตลาดนั้นจะขึ้นอยู่กับการแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละรายเอง การกำหนดค่าการตลาดที่สูงเกินไปก็จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแพง ซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้กับผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ ที่มีค่าการตลาดที่ต่ำกว่าได้ แต่หากกำหนดค่าการตลาดที่ต่ำเกินไปก็จะทำให้ไม่สามารถอยู่ได้ในธุรกิจด้วยเช่นกัน

ส่วนประกอบที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้นั้นเมื่อนำมารวมกันก็จะกลายเป็นราคาขายปลีกของน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิดที่เราใช้กันในแต่ละวัน ซึ่งหากจะดูแล้วก็จะเห็นว่าเป็นโครงสร้างที่ใช้กับผู้ค้าน้ำมันทุกราย ไม่เฉพาะกับผู้ค้ารายใดรายหนึ่งเท่านั้น และถ้าดูจากโครงสร้างราคาน้ำมันนี้ก็จะเห็นว่าราคาน้ำมันในประเทศจะแพงกว่าหรือถูกกว่าประเทศอื่นนั้นก็จะดูได้จากความแตกต่างในส่วนของนโยบายด้านภาษีและเงินกองทุนฯ นั่นเอง