ถึงเวลาเก็บภาษีบนความมั่งคั่ง

ถึงเวลาเก็บภาษีบนความมั่งคั่ง

ในขณะที่รัฐบาลกำลังผลักดันร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน

ด้านการคมนาคมขนส่ง โดยมีเป้าหมายที่จะนำพาให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่งคั่งให้กับประชาชนในประเทศ อีกฟากหนึ่งรัฐบาลก็กำลังประสบกับปัญหาความยากลำบากสะท้อนจากการประกาศอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้โดยสภาพัฒน์ที่ระบุว่า มีอัตราการขยายตัวในระดับ 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หากในภาวะปกติแล้ว การขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับดังกล่าวถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และ สะท้อนศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ด้วยฐานการขยายตัวที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ออกมาแสดงความเห็นตรงกันข้าม โดยบอกว่า รู้สึกเป็นห่วงกับอัตราการขยายตัวดังกล่าว เพราะแม้ฐานการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีก่อนจะต่ำ แต่ในไตรมาสที่เหลือของปีนั้น อัตราการขยายตัวได้ไต่ระดับสูงขึ้น นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าที่ 5%

และหากเศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย นั่นหมายความว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่ายอดการจัดเก็บรายได้ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ รัฐบาลจัดเก็บได้ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10.4% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายรถยนต์คันแรกที่เป็นส่วนสำคัญให้รายได้กรมสรรพสามิตขยายตัวได้ถึง 10% เทียบจากปีก่อน

แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า หรือ นโยบายปรับสมดุลเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างนั้น ได้สิ้นสุดลง ขณะที่ สัญญาณการบริโภคในประเทศก็เริ่มชะลอตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าที่ต่ำกว่าประมาณการ 1.9% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการนำเข้าลดลงจากเงินบาทแข็งค่า ทำให้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรสูงกว่าเป้าหมายเพียง 0.7% สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยคลังได้เรียก 3 กรมจัดเก็บมาหารือ นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะมีความยากลำบากในการจัดเก็บรายได้มากขึ้น

เมื่อรัฐบาลมีแผนที่จะทำให้งบประมาณเข้าสู่สมดุลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่ รายจ่ายประจำที่ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 80% ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในแต่ละปี รัฐบาลจึงมีหน้าที่ประคับประคองเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย จึงจะมีรายได้เพียงพอต่อยอดการใช้จ่ายในแต่ละปี ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังจำเป็นต้องคิดหาทางที่จะเพิ่มฐานรายได้ เพื่อนำมาชำระหนี้จากแผนการกู้เงินดังกล่าวในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ภาษีบนฐานการบริโภค และ ภาษีบนฐานความมั่งคั่งของประชาชน เป็นฐานภาษีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่า จะเป็นฐานภาษีสำคัญที่จะมาทดแทนฐานภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ทุกประเทศกำลังแข่งขันลดอัตราเพื่อแย่งชิงนักลงทุน แต่ทั้งภาษีบนฐานการบริโภคและภาษีบนฐานความมั่งคั่งของประชาชนนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับประเทศที่มีคนร่ำรวยเป็นผู้ผลักดันกฎหมาย

โดยภาษีบนฐานการบริโภคที่สำคัญ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้กฎหมายกำหนดเพดานการจัดเก็บที่ 10% แต่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 7% การปรับขึ้นภาษีตัวนี้เพียง 1% จะให้รัฐบาลมีรายได้เป็นกอบเป็นกำราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะมีผลเกี่ยวข้องกับฐานเสียงของพรรคการเมือง เนื่องจากกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ

ส่วนภาษีบนฐานความมั่งคั่งนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งเช่นเดียวกัน ดูได้จากความล้มเหลวในการผลักดันร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานที่ดูแลนโยบายการคลัง ที่ใช้เวลาเริ่มต้นมากว่า 20 ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากรัฐบาลมีแผนจะลงทุนระบบคมนาคมด้วยเงิน 2 ล้านล้านบาท ความมั่งคั่งก็จะเกิดขึ้นตามแนวเส้นทางที่รัฐบาลลงทุน การเก็บภาษีบนความมั่งคั่งของผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนของรัฐบาลในอัตราที่สูงกว่าปกติ จึงควรเป็นแนวทางที่เหมาะสม

หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังล่อแหลมต่อการจัดเก็บรายได้ รัฐบาลคงมีทางเลือกไม่มากนัก สำหรับการเพิ่มฐานรายได้ ส่วนจะเลือกแนวทางใด เป็นประเด็นที่ต้องจับตา