ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสังคมโลกและแนวทางแก้ไข

ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสังคมโลกและแนวทางแก้ไข

ระบบเศรษฐกิจสังคมและระบบนิเวศของโลกในปัจจุบัน (รวมทั้งไทยด้วย) มีปัญหาใหญ่ 4 ข้อ

คือ 1. ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างประเทศและกลุ่มคนในสังคม 2. ความยากจนอัตคัดขาดแคลนของคนส่วนใหญ่ 3. สงครามและความรุนแรง 4. ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก

ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดที่เน้นการลงทุนและการหากำไรของบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งระบบทุนนิยมโดยรัฐในประเทศรัสเซีย จีน ฯลฯ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ซึ่งกรรมสิทธิ์ในทุนปัจจัยการผลิตเป็นของนายทุนเอกชนส่วนน้อยมุ่งผลิตเพื่อขายเน้นการกำไรสูงสุด และสะสมทุนเพื่อนำไปขยายการผลิตเพื่อขาย แบบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือตัวการเร่งรัดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ที่ไม่มีการคิดถึงต้นทุนทางธรรมชาติ ต้นทุนทางสังคม ความคุ้มค่าในแง่ประโยชน์ใช้สอยต่อส่วนรวม และผลกระทบในทางลบต่อสังคมและระบบนิเวศ

กระบวนการผลิตและการบริโภคดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความยากจน แล้วยังเพิ่มมลภาวะ ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และทำให้ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และระบบนิเวศเสื่อมโทรมทั่วทั้งโลก

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศรายได้ต่ำเปลี่ยนจากการปลูกพืชเพื่อยังชีพแบบดั้งเดิม เป็นการปลูกพืชเพื่อการส่งออกแบบสมัยใหม่ โดยใช้น้ำ ปุ๋ย พลังงานเคมี สารเคมีกำจัดวัชพืช ฯลฯ เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเอาเปรียบทั้งธรรมชาติและแรงงาน เกษตรกรต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น ขายพืชผลได้ราคาต่ำลงโดยเปรียบเทียบ ต้องพึ่งพาการซื้ออาหารอื่นๆ จากตลาดเพิ่มขึ้น เสี่ยงภัยอันตรายต่อการได้รับสารเคมีเป็นพิษเพิ่มขึ้น เป็นหนี้และยากจนเพิ่มขึ้น

บรรษัททุนข้ามชาติไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิต ใช้ทรัพยากร พลังงาน สร้างมลภาวะและขยะในประเทศรายได้ต่ำ ที่มีมาตรฐานการควบคุมสิ่งแวดล้อมต่ำ และรัฐบาลประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่รวมทั้งไทยต้องการเอาใจ และหรือมีผลประโยชน์ส่วนตัวร่วมกับนักลงทุนต่างชาติ

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่เป็นธรรม เช่นเน้นการวิจัย ลงทุนและการผลิตสินค้าบริโภคฟุ่มเฟือยที่คนรวย คนชั้นกลาง มีรายได้พอที่จะซื้อ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ เสื้อผ้าหรูหรา ยารักษาโรคที่คนรวยส่วนน้อยเป็น ฯลฯ และนายทุนสามารถทำกำไรได้ดีมากกว่าจะสนใจวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์สำหรับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน เนื่องจากคนจนมีกำลังซื้อที่น้อยกว่าคนรวย

การที่นายทุนมุ่งแสวงแต่กำไรเอกชน นอกจากจะทำให้ระบบนิเวศเสื่อมโทรมขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดภัยอันตรายต่อคนงาน ผู้บริโภค รวมทั้งอุบัติภัยต่างๆ จากกรณีสารเคมีเป็นพิษมากขึ้นด้วย รัฐบาลส่วนใหญ่โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำไม่สนใจดูแลป้องกันและควบคุมเรื่องความปลอดภัยในกระบวนการผลิตและบริโภคมากนัก เพราะรัฐบาลเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวทางด้านวัตถุระยะสั้น มากกว่าจะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมสำหรับแรงงานและผู้บริโภค

แรงงาน ผู้บริโภค ประชาชนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนทำงานหาเงินเพื่อความอยู่รอดไปวันๆ รวมทั้งพวกเขายังถูกครอบงำด้านความรู้ความคิดอ่าน ให้มองด้านเดียวคือนิยมชมชอบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ว่าจะนำความเจริญ ความสุขมาให้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ ไม่สนใจและไม่ตระหนัก ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงกำลังทำลายคุณภาพชีวิตของพวกเขาและลูกหลานมากเพียงใด และคุณภาพชีวิตมีความหมายต่างจากการมุ่งหาเงินและมุ่งบริโภคสูงสุดอย่างไร

ภายใต้โครงสร้างระบบทุนนิยมโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางสังคม และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทำร้ายประเทศยากจนและคนจนมากที่สุด เพราะพวกเขาขาดแคลนทั้งทุน ความรู้และเทคโนโลยีพอที่จะป้องกันหรือแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อมได้น้อยกว่าประเทศร่ำรวยและคนรวยมาก

ประเทศสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง เช่นอดีตสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก จีน ฯลฯ นั้นจริง ๆ แล้วเป็นประเทศทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ที่เน้นการเพิ่มผลผลิตและสะสมทุนโดยรัฐเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ แข่งขันกับรัฐนายทุนอื่นๆ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมโลกมากกว่าสังคมนิยม ซึ่งมุ่งประโยชน์สูงสุดของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว รัฐบาลประเทศเหล่านี้บริหารแบบใช้อำนาจรวมศูนย์มากไป ทำให้เกิดปัญหาความไม่เสมอภาคและการขาดเสรีภาพทางการเมืองและสังคม การขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การทุจริตฉ้อฉล เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูง เน้นการแข่งขันเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเอาชนะทางเศรษฐกิจการเมืองประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรม โดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีในประเทศของตน

แนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเมือง และระบบนิเวศ ประชาชนจะต้องร่วมมือกันหาทางเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มีลักษณะผูกขาด เอื้อผลประโยชน์นายทุนส่วนน้อย ไปเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ (Eco Socialism) ที่ผู้ผลิตเป็นเจ้าของผู้ควบคุมและผู้บริหารปัจจัยการผลิตร่วมกัน (Associative Producers) และฟื้นฟูระบบที่ทรัพยากรสำคัญเป็นของส่วนรวม (The commons) ขึ้นมาใหม่ เน้นการผลิตและการกระจายผลผลิตที่เป็นประโยชน์เพื่อการสนองความต้องการใช้สอยที่จำเป็นของสมาชิกในสังคม อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม กระจายอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และอย่างคำนึงถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืน นั่นก็คือ เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความสุขของประชาชน มากกว่าการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม ผลิตเพื่อขายสนองความต้องการฟุ่มเฟือยของคนรวย/คนชั้นกลาง

(วิทยากร เชียงกูล. เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข. กรุงเทพธุรกิจ : 2556)