ผลิต ประกอบ ขาย มุมมองการค้าจากเวทีสากล

ผลิต ประกอบ ขาย มุมมองการค้าจากเวทีสากล

ผมได้มีโอกาสร่วมการประชุม World Business Leaders กับผู้แทนหลาย ๆ ประเทศในสัปดาห์นี้

ซึ่งเป็นการประชุมจากผู้แทนธุรกิจหลายๆ ประเทศที่มาประชุมที่ประเทศจีน ผมขอสรุปภาพคร่าวๆ และเสริมด้วยภาพที่เรามอง และอาจต้องคิดตามด้วยกันนะครับ
ซึ่งในช่วงปีที่แล้ว เราเริ่มเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านธุรกิจ และการเติบโตของธุรกิจโดยรวมมีความเปราะบางมากกว่าเดิม ซึ่งในการมองภาพใหญ่นั้นหลายๆ ท่านได้มีความเป็นห่วงในการปรับตัวของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวของอเมริกา ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเริ่มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังไม่แน่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะดำเนินการไปอย่างยั่งยืนหรือไม่
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของประเทศหลายๆ ประเทศในยุโรป ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ถึงจุดต่ำสุดแล้ว (ถึงแม้ว่าจะมีการปรับระดับความน่าเชื่อถือต่อประเทศบางประเทศเพราะสถานการณ์ดูแล้ว น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ผมยังไม่มั่นใจว่ามุมมองดังกล่าวน่าจะยังเร็วเกินไป และยังต้องอยู่ในสภาพวะเฝ้าระวังไปอีกระยะหนึ่ง) ซึ่งโดยรวมการว่างงานของคนในหลายๆ ประเทศยังมีอยู่มาก และกำลังซื้อยังไม่ได้มีการปรับตัวดีขึ้นในประเทศดังกล่าว
ในการมองสภาพธุรกิจในปัจจุบัน รัฐบาลและทางการในหลาย ๆ ประเทศมีแนวนโยบายในการให้มีการเพิ่มสภาพคล่องให้มาก ๆ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นจากสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น มีการลดอัตราดอกเบี้ย (อาจเกิดจากทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและการลดอัตราดอกเบี้ยโดยตรง) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจเพื่อให้เกิดการกระตุ้นทั้งด้านของความต้องการในการลงทุนเพื่อให้เกิดสินค้า บริการ หรือหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน และเป็นการกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายให้มากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นมีการดำเนินการกันอย่างแพร่หลายในช่วงกว่า 3-5 ปีที่ผ่านมา
แต่การดำเนินการดังกล่าวนั้นสามารถทำได้และเป็นผลที่ดี หากสภาพพื้นฐานโดยทั่วไปยังไม่แย่มากนัก ถ้าเรามองเปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้าเราทุกคนต้องการขายของ การขายของให้กับตลาดที่มีโอกาสเจริญเติบโตนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ และมีโอกาสประสบผลสำเร็จ และการลดต้นทุนให้กับธุรกิจนั้น ก็จะเป็นแรงเสริมที่ทำให้การแข่งขันกับธุรกิจต่างๆ นั้นทำได้ดียิ่งขึ้น
การดำเนินการที่ส่งเสริมในสภาพที่อาจไม่แข็งแรงนัก เช่น กำลังซื้อโดยรวมไม่มาก หรือแม้แต่ลดลง (อาจเกิดจากรายได้ที่ลดลง การว่างงาน ราคาสินค้าที่ผลิตลดลง เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีราคาลดลงในช่วงตั้งแต่ปีที่แล้วจนในปัจจุบัน) ซึ่งการลดความสามารถในการซื้อและความต้องการในการซื้ออาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจและเตรียมตัวในการดำเนินธุรกิจว่าจะดำเนินการอย่างไร
ในความเป็นห่วงเรื่องการปรับลดลงของความต้องการในการบริโภคหรือความต้องการซื้อที่ลดลง (Demand Deflationary) เป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว และมีโอกาสที่จะเพิ่มเติมขึ้นในหลาย ๆ ตลาด และผู้ประกอบการ และทุกประเทศต้องการหาตลาดใหม่ หาผู้บริโภครายใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าเอเชียจะยังเป็นผู้บริโภครายใหญ่ แต่สภาพของการเป็นผู้บริโภครายใหญ่นี้ อาจจะอยู่ได้อีกไม่นาน เพราะกำลังซื้อของคนในเอเชียเอง โดยเฉพาะคนซื้อที่เป็นผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงนั้น จะเป็นผลให้กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระเงินต่าง ๆ นั้นลดลงด้วย
ภาพโดยสรุปจากหลาย ๆ มุมมองนั้นคือ ความไม่แน่นอนนั้นมากกว่าเดิมโดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคนั้นทั่วโลกจะชะลอตัวลง ความชะลอตัวลงนั้นอาจไม่สามารถเพิ่มกำลังซื้อและเพิ่มความต้องการซื้อได้ไม่มาก เพราะหากเป็นการซื้อเพราะต้องการใช้ก็จะเป็นกำลังซื้อที่แท้จริง แต่กำลังซื้อที่เกิดจากการกระตุ้น และการผลักภาระการจ่ายออกไปข้างหน้า ก็จะเป็นกำลังซื้อที่บิดเบือน และยังอาจเป็นผลให้เกิดปัญหาความสามารถในการชำระหนี้คืนต่อไปได้ในอนาคต
จากการสังเกตการณ์การประชุม มีผู้แทนหลายๆ ประเทศกล่าวถึงความต้องการในการหาตลาดใหม่ หลายๆ ท่านบอกกว่าการร่วมมือกันของหลายๆ ประเทศในการเจรจา เป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ไม่มีมากนักที่จะกล่าวว่าความต้องการในการบริโภคนั้นลดลงแล้วและดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่มองข้ามไปในหลาย เวที
นอกจากนี้มีผู้ประกอบการหลาย ๆ คนได้กล่าวถึงกรณีการกีดกันทางการค้าที่เกิดจากหลาย ๆ ประเทศ มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ผู้ประกอบการในจีนได้กล่าวว่ามีการกีดกันทางการค้าด้านการนำเข้าสินค้าแผงผลิตไฟฟ้า โซลาร์เซล ซึ่งผู้ประกอบการเล่าว่าเครื่องจักรที่ผลิตแผงนั้นก็นำเข้าจากยุโรปแต่ทำไม่จึงไม่อนุญาตการนำเข้าแผงโซล่าร์เซลดังกล่าวเข้าไปในยุโรป
จากภาพรวม ผมขอให้เราคิดด้วยกันจากข้อมูลที่มี และแนวโน้มในอนาคตนั้น ตลาดที่เราอยู่นั้นโดยเฉพาะใน อาเซียน และเอเชีย เป็นตลาดเป้าหมายของคนขายจากทั่วโลก ซึ่งเกิดจากกำลังซื้อ และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยโดยทั่วไป ผู้ขายในอาเซียน และในเอเชีย รวมถึงเราผู้ประกอบการในประเทศต้องมีการแข่งขันกันเพื่อขายสินค้า (อาจจะเป็นภายในประเทศ และในอาเซียน เป็นหลัก) ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวทุกประเทศ มีแนวโน้มในการลดต้นทุน หาตลาดใหม่ และตั้งใจว่าต้องขายให้ได้ให้มากขึ้น (ผมไม่แน่ใจว่าผลิตมาก จะขายได้มากเพราะตลาดดูเหมือนจะลดลงไปเรื่อยๆ) และมีไม่มากรายนักที่บอกว่าต้องเริ่มดูหรือประเมินขนาดของตลาดใหม่
มีหลายๆ ประเทศมีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้า ที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิเช่น ที่เราเห็นเมื่อปีที่แล้วในการออกนโยบายการบริโภคข้าว การถือครองหุ้นของบริษัทด้านทรัพยากรธรรมชาติของอินโดนีเซีย การห้ามหรือปรับเปลี่ยนการรับสินค้า หรือการห้ามนำเข้าสินค้าบางประเทศของยุโรป ซึ่งในทุกๆ เดือน และปี การกีดกันทางการค้าทีไม่ใช่ภาษีในหลายๆ ประเทศมีมากขึ้น
บางท่าน กล่าวว่า การกีดกันทางการค้าดังกล่าว (Local Protection) เป็นการลดต้นทุนทางอ้อมให้กับผู้ประกอบการและทำให้ผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าให้กับตลาดในประเทศได้ดีขึ้น และมีผลกำไรมากขึ้นและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ (เราเป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ต้องการให้ผู้ประกอบการต่างประเทศเข้ามาลงทุนเยอะๆ มาค้าขาย และเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีการออกกฎกติกา เพื่อป้องกันธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามามากนัก เหมือนกับหลายๆ ประเทศในปัจจุบัน)
สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเป้าหมายของนักล่าผู้ซื้อในเวทีการค้านี้ ไม่มีวันที่จะสิ้นสุด เพียงแต่ว่าเราจะสามารถล่าผู้ซื้อได้ดีหรือดีกว่าคนอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน
ข่าวร้ายของการไม่มีตลาด หรือผู้ซื้อให้ติดตามยังไม่มาถึง แต่ที่แน่ๆ ผู้ซื้อและกำลังซื้อของผู้ซื้อลดลงนัยๆ และถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องประเมินใหม่ ทั้งการมองเป้าหมาย การลงทุน การเก็บผลกำไร กำลังผลิต การดำเนินการ นโยบายเพื่อปกป้องธุรกิจในประเทศ และการทำงานอย่างเป็นกลุ่มเข้าด้วยกัน เพราะถ้าเราไม่เตรียมและปรับตัว ในอนาคตอาจมีธุรกิจไทยหลายๆ ธุรกิจอยู่ไม่ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ได้ปรับตัวแล้วและหาทางช่วยธุรกิจ ไม่เฉพาะด้านต้นทุนดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ในมิติอื่นๆ อีกหลายมิติ