ก้าวพ้นคำว่า “กะหรี่” “ผ้าถุง” “ไพร่” ไปด้วยกัน

ก้าวพ้นคำว่า “กะหรี่” “ผ้าถุง” “ไพร่” ไปด้วยกัน

เช่นเดียวกับคำว่า “ผ้าถุง” คำว่า “ไพร่” ที่ในความหมายทางสังคมเคยเป็นคำต่ำ แสดงการดูถูกเหยียดหยาม

กลายเป็นคำที่ใช้ขึ้นมาก็รังแต่จะสร้างความเจ็บช้ำแตกแยกติดกับอยู่ในถ้อยคำภาษา คำว่า “กะหรี่” จะต้องถูกปลดเปลื้องออกจากวังวนนี้

สังคมไทยจะต้อง “ก้าวข้าม” คำเหล่านี้ทั้งในสำนึกความหมายทางภาษา และ ความเป็นจริงทางทางเศรษฐกิจสังคมและทางเพศที่ยังเหลื่อมล้ำกันอยู่ไปสู่ความเสมอภาค

ประชาธิปไตยรังเกียจสองมาตรฐาน เชิดชูความเสมอภาค ชาวโลกจึงศรัทธาร่วมกันว่าเป็นหลักการที่เอื้ออำนวยความเสมอภาคให้คนในสังคมมากที่สุดในทุกด้านรวมทั้งความเสมอภาคระหว่างเพศด้วยแม้ในภาคปฏิบัติจะยังทำกันไม่ได้ทั่วถึงและเป็นจริงกันได้นัก สังคมไทยที่ระดับผู้นำถึงรากหญ้าพยายามสถาปนา “ประชาธิปไตย” ก็จึงต้องพยายามประคับประคองกันไปสู่จุดหมายความเสมอภาคระหว่างเพศด้วยในท่ามกลางความเหลื่อมล้ำสองสามสี่ห้ามาตรฐานในทุกเรื่อง

หากความเสมอภาคทางเพศยังต้องใช้เวลาอีกนาน อย่างน้อยเราก็ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงในสำนึกความหมาย เพื่อเป็น “สัมมาทิฐิ” คือปัญญาความเห็นชอบ และ “สัมมาสังกัปปะ” คือ ความดำริชอบ ใช้สมองความคิดพิจารณา จนกว่าจะนำทางเราไปสู่ “สัมมากัมมันตะ” คือ การกระทำชอบที่ปลดเปลื้องทุกข์ของประเทศเรื่องการค้าประเวณีในที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอ่อนไหวที่คนไทยมีต่อคำว่า การค้าประเวณี ที่มีต่อ “ภาพลักษณ์” (ระวังอย่าพิมพ์คำนี้เป็นชื่อของนายกฯเป็นอันขาด) ของประเทศ จนเมื่อได้ยินคำนี้ ไม่ว่าจะได้ยินที่ไหน สถานการณ์ใด ออกมาจากปากใคร แหล่งข่าวใด คนไทยเราตั้งแต่ระดับนายกฯและรัฐมนตรี รัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาเป็นผู้ชายเสียแทบทั้งนั้น จนถึงคนไทยทั่วไปทั้งที่เขียนการ์ตูนได้และไม่ได้ จึงมีอาการ “ของขึ้น” กันทั่วหน้า พากันเดือดร้อนห่วงใยโต้ตอบแก้ไขวนเวียนแต่เฉพาะเรื่อง “ภาพลักษณ์” (ระวังอย่าพิมพ์คำนี้เป็นชื่อของนายกฯ) กันเป็นครั้งๆ พอให้หน้าบางๆ ของตนคลายร้อนผ่าวชั่วครู่ชั่วยาม

ในประเทศที่ประชาธิปไตยหยั่งรากลึก เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มาตรการกฎหมายและสังคมเกี่ยวกับการค้าประเวณีสะท้อนชัดเจนมากถึงความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศ เช่นในสวีเดน ได้ละเว้นการลงโทษผู้ค้าและเสนอทางเลือกอื่นให้ โดยหันไปเน้นการลงโทษลูกค้าและผู้จัดหา จนเป็นที่เดือดร้อนกันในอีกรูปแบบหนึ่งทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

ส่วนในกลุ่มประเทศที่ภูมิคุ้มกันประชาธิปไตยบกพร่องที่ยังมีอยู่ในทุกทวีป พบว่ามักมีอาการอย่างหนึ่งร่วมกันในด้านสิทธิเสมอภาคระหว่างเพศ คือในทางกฎหมายเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับหญิงผู้ที่สังคมตราหน้าว่าเป็น “กะหรี่” หลายๆ ประเทศในเอเชีย รวมทั้งมองโกเลียและไทย มีปรากฏการณ์นี้ร่วมกันอย่างยิ่ง

การค้าประเวณีผิดกฎหมาย ในมองโกเลีย แต่การค้าประเวณีการค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของประเทศนี้ซึ่งในระดับโลกรับรู้กันเป็นอย่างดี

สำหรับไทย โลกยังไม่ลืมนายกรัฐมนตรีในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2500 ผู้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวชาวต่างประเทศฯว่า “การค้าประเวณีไม่มีในประเทศไทยเพราะผิดกฎหมาย” ท่านนายกฯผู้มาจากทั้งการปฏิวัติรัฐประหารและการเลือกตั้ง เปี่ยมล้นด้วยความพร้อมและสำนึก "กฎหมายนิยม" ผู้นี้ เพียงในชั่วข้ามคืนโดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงทางสังคม ได้ออก พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ลงโทษทางอาญาหญิงค้าประเวณีผู้เคยขายตัวมาได้อย่างไม่ถูกกฎหมายเอาผิดมาแต่โบราณกาลและถึงขั้นเคยมีกฎหมายรองรับด้วยพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 ซึ่งอย่างน้อย พรบ.นี้ก็อำนวยให้ “หญิงโคมเขียว” ไม่ต้องถูกไล่ล่าจนต้องแสวงหาพึ่งความคุ้มครองจาก “แมงดา” ในทุกรูปแบบตั้งแต่ในเครื่องแบบนอกเครื่องแบบ ระดับสูงสุดจนถึงต่ำสุด เพื่อจะได้ประกอบอาชีพที่สังคมถือว่าคือ “ความชั่วร้ายที่จำเป็น” เหมือนอย่างที่ได้เกิดขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้ กฎหมายปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ของท่านนายกฯ ผู้รังเกียจการค้าประเวณีก็จริง แต่ได้ใช้ทรัพย์ในการได้มาซึ่งอนุภรรยาจำนวนนับไม่ถ้วน โดยชายไทยจำนวนมากยังอดไม่ได้ที่จะอิจฉาแม้ว่าตัวเองก็ได้บริโภคอุปถัมภ์ “หญิงโสเภณี” อยู่อย่างอุดมสมบูรณ์

หาไม่ การค้าประเวณีหรือจะผลิดอกออกผลได้งดงามในไทยแลนด์ พร้อมๆ กับทวีความรุนแรงในการเอารัดเอาเปรียบ การฉ้อฉลต่างๆ ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกับหญิงไทยและหญิงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากเมียนมาร์และลาว

กว่าสังคมไทยเพียงส่วนเล็กๆ ที่มีทั้งฝ่ายองค์กรผู้หญิง ตั้งแต่ระดับคุณหญิงคุณนายจนถึงหญิงผู้ค้า องค์กรสิทธิพลเมือง ร่วมกับข้าราชการประจำ และข้าราชการทางการเมือง จะได้ดวงตาเห็นธรรม เห็นว่า “กะหรี่” นั้นหรือคือ เหยื่อผู้ถูกทิ้งรับเคราะห์กรรมอยู่ข้างหลัง จึงพากันผนึกกำลังรณรงค์ยกเลิกโซ่ตรวน พรบ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ได้สำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2539 นี้เองแม้ “ความเป็นจริง” เรื่องการค้าประเวณีในสังคมไทยก็ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ใหม่ที่ออกมาใช้แทนและ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

มาจนถึงวันนี้ ยังตัดไม่ขาดเลย โซ่ตรวนล่ามหญิงไทยเรื่องการค้าประเวณี โดยเฉพาะความรู้สึกรังเกียจเหยียดหยามแบบ “ปากว่าตาขยิบ” (เช่น ที่มีต่อการท่องเที่ยวทางเพศ) ที่คนไทยจำนวนมากมีต่อหญิงโสเภณีและทุกคำทุกความหมายที่เกี่ยวกับพวกเธอ

ผู้เชิดชูประชาธิปไตยจะต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดังในปาฐกถาพิเศษของนายกฯ ที่มองโกเลีย นอกจากทางสำนึกที่ไม่ยอมตกอยู่ในวังวนความหมายเก่าๆ ของคำว่า “กะหรี่” ต้องนำพาสังคมปกปักพิทักษ์ให้ประจักษ์ว่า “กะหรี่มิใช่หญิงคนชั่ว” ที่อยู่บันไดล่างสุดของสังคม ต้องยอมทุ่มเทสร้างโอกาสเศรษฐกิจการศึกษาที่แท้จริงให้ผู้หญิง มิใช่โยนเศษเงินให้เป็นกองทุนแต่ละงวดๆ ให้ผู้หญิง อย่างเป็นการสร้างเงื่อนไขความภักดีทางการเมืองเป็นบริการตอบแทน

เช่นเดียวกับจุดยืนของประชาคมโลกเรื่องการค้าประเวณีมีสหประชาชาติ เป็นอาทิ ที่ผ่อนปรนไม่เอาผิดผู้ค้า แต่ยืนหยัดว่าผู้ที่สมควรเอาตัวมาลงโทษ คือ ผู้แสวงหาประโยชน์ โฆษณา ควบคุม ชี้นำ คิดการ วางแผนให้ผู้อื่นกระทำ ทั้งด้วยการใช้กำลัง และการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารทุกรูปแบบที่กระทำต่อผู้ค้าประเวณี ทั้งในการค้าประเวณีจริงและเสมือนจริง (virtual sex) ในโลกไซเบอร์

พูดเป็นภาษาปากง่ายๆ ก็คือ ไม่ปฏิเสธ “กะหรี่” เลยแม้ในสำนึก จงยกเลิกการเหยียดหยามเอาผิดทั้งหมด แต่จัดให้หนักๆ เอาผิดเต็มขั้น “แมงดา” ไม่ว่าจะตัวเดียวหรือทั้งฝูง ตลอดจน "แม่เล้า-มาดาม-มาม่าซัง" ทั้งในและนอกราชอาณาจักร