ค่าเงินบาทกับมาตรการแก้ปัญหา

ค่าเงินบาทกับมาตรการแก้ปัญหา

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่ 3 ของเดือน

ช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้ ค่าเงินบาทได้กลายมาเป็นประเด็นที่ร้อนแรงมากโดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจและการเมือง พอๆกับอุณหภูมิในบ้านเรา ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเย็นลง นักธุรกิจส่วนใหญ่บอกว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง โดยเฉพาะภาคการส่งออก และเรียกร้องให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลง 1% เพื่อลดปริมาณการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ
กระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯเองดูเหมือนว่าอยากจะเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าระดับดอกเบี้ยในปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เงินทุนไหลเข้าจำนวนมากแล้ว ยังเป็นภาระต่อแบงก์ชาติที่มีหน้าที่ต้องออกพันธบัตร เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินเหล่านี้ออกจากระบบ ซึ่งทำให้เกิดการขาดทุนจำนวนมาก ขณะที่นักวิชาการบางส่วนกลับแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ย เพราะกลัวว่าจะเป็นการเพิ่มความร้อนแรงให้กับระบบเศรษฐกิจและทำให้เกิดเงินเฟ้อในที่สุด
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าระดับดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบัน มีส่วนอยู่บ้างที่ทำให้เงินทุนไหลเข้า แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนักลงทุนต่างประเทศเวลาตัดสินใจว่าจะไปลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศไหน เขาจะมองหลายปัจจัยมาก ไม่ใช่ดูแค่เรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางเศรษฐกิจ แนวโน้มเงินเฟ้อ ทิศทางดอกเบี้ย เสถียรภาพทางการเมือง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเครดิตเรทติ้งของประเทศ ฯลฯ และที่สำคัญเขาจะต้องมีการประเมินมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินประเทศนั้นๆด้วยว่า อ่อนเกินไปหรือแข็งเกินไปอย่างไร โดยเฉพาะแนวโน้มค่าเงินในระยะต่อไป ดังนั้นเราจึงเห็นว่าบางประเทศที่ดอกเบี้ยต่ำ แต่เงินก็ยังไหลเข้าจำนวนมาก ในขณะที่บางประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูงเงินกลับไหลเข้าไม่มาก
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยก็มีความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาท ที่ในบางช่วงมีการแข็งค่าขึ้นแบบผิดปกติ และอยากที่จะเห็นการแก้ไขปัญหาแบบมีเอกภาพ ที่สำคัญสุดเราต้องทำให้นักลงทุนต่างชาติคงความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายการเงิน และนโยบายการคลังของประเทศ เพราะ Economic Policy Credibility คือเรื่องที่ต่างชาติให้ความสำคัญมาก ๆ ถ้าขาดตรงนี้ไป เราอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่กว่าและแก้ยากมากกว่า คือการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และการอ่อนตัวที่รวดเร็วของค่าเงินเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น บราซิล
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว สภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้จัดประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการและที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 องค์กร ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย, สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
โดยในที่ประชุมได้ข้อสรุปว่ามาตรการที่น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดที่สุด และยังคงรักษาระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ในนโยบายการเงินการคลังของไทยคือการจำกัดการเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน เนื้อความต่อจากนี้ไปคือ Press Release ที่เราแจกให้กับสื่อมวลชนในวันนั้น ซึ่งผมขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดขึ้นจากการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินผ่านตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยในบางช่วงของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณเกือบ 200,000 ล้านบาท (Outstanding) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2555 ถึง 55,000 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 23 ของจำนวนตราสารหนี้ทั้งหมดในตลาดตราสารหนี้ไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เห็นว่าการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ภาครัฐควรแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด คือการออกมาตรการที่จะจำกัดการเก็งกำไรของตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ไม่ควรกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและตลาดทุนโดยรวมของประเทศ
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ไม่เห็นด้วยกับการออกมาตรการที่จะจำกัดการลงทุนในตลาดหุ้น หรือมาตรการจำกัดการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะยาว เพราะเชื่อว่าประเทศไทยยังต้องการเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ในภาวะที่ประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงของการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และในภาวะที่บริษัทไทยกำลังอยู่ในช่วงของการลงทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนในระยะยาว หรือการลงทุนในตลาดทุนจึงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า คือหากภาครัฐต้องการที่จะจำกัดการลงทุน ที่มีลักษณะการเก็งกำไรระยะสั้น ควรกำหนดมาตรการห้ามไม่ให้นักลงทุนชาวต่างประเทศเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเหลือไม่ถึงครึ่งปี หรือ 6 เดือน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเคยใช้ได้ผลแล้วในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เป็นต้น และยังเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประเมินว่ามาตรการที่เสนอ จะเพียงพอในการดูแลค่าเงินบาทในระยะนี้ ซึ่งจะสามารถทำให้ค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกับนักธุรกิจ นักลงทุนและประชาชนทั่วไป คือ กรณีเม็ดเงินไหลเข้านั้นอาจจะยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะหลายประเทศโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ได้มีการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของตนเอง ซึ่งคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเม็ดเงินบางส่วนจะไหลเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้ส่งออกต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดการพึ่งพาอัตราแลกเปลี่ยน ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
ผมเชื่อว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลนโยบายการเงินการคลัง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง คงจะมีการเตรียมการที่ดีแล้วในการรับมือกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงผ่านตลาดค้าเงินโดยตรง หรือการนำบางมาตรการจาก 4 มาตรการ ที่เตรียมไว้ใช้ในการดูแลค่าเงินมาใช้ อย่างไรก็ตาม สภาธุรกิจตลาดทุนไทยเชื่อว่ามาตรการห้ามนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตราสารหนี้ ที่ออกโดยแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และรัฐวิสาหกิจ ที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน มีความเหมาะสมและเพียงพอในการดูแลค่าเงิน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย

พบกันใหม่เดือนหน้า สวัสดีครับ