Google Glass: จุดเริ่มต้นยุคหลังสมาร์ทโฟน?

Google Glass: จุดเริ่มต้นยุคหลังสมาร์ทโฟน?

พรุ่งนี้ จะเป็นวันแรกของ Google I/O 2013 หรือสัมมนาประจำปีของ Google ที่มีการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด

ที่เกี่ยวข้องกับ Android, Chrome, Chrome OS, Google APIs ฯลฯ ระหว่าง Google I/O 2012 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว Project Glass ซึ่งปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาเป็น Google Glass และเริ่มมีการจัดจำหน่ายรุ่น Explorer Edition ที่ราคา 1,500 ดอลลาร์ เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาสำหรับโปรแกรมเมอร์ที่มีความสนใจ อย่างไรก็ดี Google Glass ที่จะจัดจำหน่ายสู่ตลาดใหญ่ อาจเริ่มต้นก่อนสิ้นปี 2013 นี้ และจะมีราคาต่ำกว่า Explorer Edition เป็นอย่างมาก

Google Glass คือคอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Computer) ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Ubiquitous Computing หรือการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ทุกที่ทุกเวลา โดยถูกออกแบบสำหรับสวมใส่แทนแว่นตาหรือร่วมกับแว่นตา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถมองผ่านจอภาพ ที่จะแสดงผลเป็นภาพซ้อนอยู่เหนือสิ่งที่ผู้ใช้จะมองเห็นจริง (Augmented Reality) ในรุ่นปัจจุบัน Google Glass จะมีจอภาพอยู่เหนือตาข้างขวา ผู้ใช้จึงสามารถใช้ตาขวาเหลือบมองจอภาพได้ตลอดเวลา การทำงานของ Google Glass มีลักษณะคล้าย Smartphone เนื่องจาก Google Glass ถูกพัฒนามาจากระบบ Android เพียงแต่ผู้ใช้ต้องควบคุมด้วยระบบเสียง (Voice Command) ทดแทนการควบคุมในระบบสัมผัส (Touch Screen) และเนื่องจาก ?Google Glass ใช้ระบบ Android จึงมี App ต่างๆ ของ Google และผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่พร้อมใช้งาน เพียงแต่ต้องดัดแปลงมาใช้จอภาพที่อยู่เหนือตาขวาและการควบคุมด้วยเสียงดังกล่าว

นอกจากนี้ Google Glass ยังมีคุณลักษณะอื่นๆ ที่คล้าย Smartphone ในระบบ Android กล่าวคือ มีกล้องถ่ายรูป, WiFi, Bluetooth, หน่วยความจำ ฯลฯ ถึงแม้รุ่น ?Explorer Edition จะไม่มี 3G หรือ 4G แต่ ?Google Glass ยังสามารถ Tether กับ Smartphone ผ่าน WiFi หรือ ?Bluetooth เพื่อขอยืมใช้งาน 3G และ 4G ได้

ถึงแม้จะใช้ Android เป็นระบบพื้นฐานเหมือนกัน ความแตกระหว่าง Google Glass กับ Smartphone คือรูปแบบของการใช้งาน โดยเปลี่ยนจากโทรศัพท์มือถือมาเป็นรูปแบบที่คล้ายแว่นตา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายขอบเขตของการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ทุกที่ทุกเวลา ตามแบบฉบับ Ubiquitous Computing ซึ่งปัจจุบัน ได้ถูกวิวัฒนาการมาเป็น Smartphone, Tablet และ Smart TV

วัตถุประสงค์สูงสุดของ Ubiquitous Computing คือ Ease of Use หรือความง่ายในการใช้งาน โดยมุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ ซึ่ง Smartphone และ Tablet อาจได้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ เหนือกว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจากยุคก่อนหน้า โดยอาศัยระบบ Touch Screen, ความง่ายดายในการพกพา ฯลฯ ความสำเร็จของ Google Glass จึงขึ้นอยู่กับการรุกพรมแดน ของ Ease of Use ให้ได้ล้ำหน้ายิ่งกว่า Smartphone และ Tablet ในปัจจุบัน โดยมีข้อจำกัดของขนาดที่เล็กลง

แต่มีข้อได้เปรียบของความง่ายดายในการพกพา ซึ่งเมื่อเปรียบกับ Smartphone หรือ Tablet แล้ว Google Glass จะอยู่ในสายตาของผู้ใช้ในทุกอิริยาบถและพร้อมที่จะรับฟังคำสั่งด้วยเสียงอยู่ตลอดเวลา

อุปสรรคประการหนึ่งสำหรับ Google Glass คือพฤติกรรมของผู้ใช้ ที่จะยอมสวมใส่ Google Glass อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน Google จะพยายาม Partner กับ Ray-Ban หรือผู้ผลิตแว่นตาอื่นๆ เพื่อจะทำให้ Google Glass มีความเป็นรสนิยมทางแฟชั่นยิ่งขึ้น ยังมีข้อถกเถียงว่า ผู้ที่จะสนใจสวมใส่ Google Glass อาจเป็นกลุ่มผู้ชาย ที่มีความสนใจเทคโนโลยีเท่านั้น และตลาดที่ยากกว่าที่อาจเป็นกลุ่มผู้หญิง ที่มีรสนิยมทางแฟชั่นสูงกว่า และอาจไม่ยินยอมสวมใส่ Google Glass เลย

อาจเป็นค่านิยมทางสังคม ที่หลายคนสวมใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดทำเลสิค เพื่อที่จะไม่ต้องสวมแว่นตา ทั้งนี้ Google Glass จะทำอย่างไร ให้คนเหล่านี้กลับไปสวมแว่นตาอีกครั้ง

สำหรับประเทศไทย อุปสรรคอีกประการหนึ่ง คือการควบคุมด้วยระบบเสียงในภาษาไทย ซึ่งมีพัฒนาการที่ไม่เทียบเท่ากับ การควบคุมด้วยระบบเสียงในภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อความง่ายและความเป็นธรรมชาติในการใช้ Google Glass สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ

อย่างไรก็ดี Google Glass เป็นการบุกเบิกทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญ ที่จะมีผลสำคัญกับทั้ง Google เอง และโลกของนวัตกรรมในภาพรวม สำหรับ Google จะเป็นการบุกเบิกครั้งสำคัญที่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มเงาของ Apple ดังเช่น Android ที่อาจถูกเปรียบว่าอยู่ใต้ร่มเงาของ iPhone

สำหรับโลกนวัตกรรมในภาพรวม จะเป็นการบุกเบิกครั้งสำคัญ ที่จะเริ่มต้นยุคใหม่ของ คอมพิวเตอร์ที่สวมใส่ได้ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของยุคหลัง Smartphone ก็เป็นได้