เสรีภาพสื่อ : วาทกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน?

เสรีภาพสื่อ : วาทกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน?

วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) องค์กรวิชาชีพตลอดจนองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิเสรีภาพสื่อ

มักจะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อ ทว่าท่ามกลางกระแสเสรีนิยมใหม่และการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่ทำให้ “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” หลายคนก็เริ่มตั้งคำถามถึงความจำเป็นที่ยังจะต้องให้สิทธิพิเศษนี้กับวิชาชีพสื่อ โดยเฉพาะสื่อวารสารศาสตร์ (journalism) ที่ดูเหมือนจะถูกบั่นทอนความน่าเชื่อถือและบทบาทที่คาดหวังในสังคมจากอดีตไปอักโข

เสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ทางเครือข่ายสมาคมผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีป้า (Southeast Asian Press Alliance -- SEAPA) ได้ร่วมกับ ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแถลงรายงานประจำปีสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามด้วยการเสวนาในประเด็นเดียวกันโดยนักวิชาชีพด้านวารสารศาสตร์และตัวแทนจากซีป้า

ตามรายงาน สถานการณ์เสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ยังคงอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง โดยมีภาวะคุกคามที่เด่นชัดจาก การใช้ความรุนแรง การทำร้ายและข่มขู่นักข่าว กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การแทรกแซงและมาตรการควบคุมของรัฐ อิทธิพลของทุนผ่านความเป็นเจ้าของและโฆษณา การเซนเซอร์เนื้อหา (ทั้งโดยผู้มีอำนาจและสื่อเซนเซอร์ตัวเอง) บทบาทที่ไร้ประสิทธิภาพขององค์กรกำกับดูแลสื่อ ตลอดจน การใช้เสรีภาพโดยขาดความยับยั้งทางจริยธรรมของสื่อบางกลุ่ม และ ความล้มเหลวของการกำกับดูแลตนเองของกลไกวิชาชีพสื่อ สรุปภาพรวมก็คือ ปัญหามีทั้งที่มาจากภายนอกวงการและจากภายในวงการสื่อเอง

ภาพสะท้อนหนึ่งที่น่าสนใจต่อ กรณีสื่อไทยและสภาวะที่หลายคนมองว่าเป็นวิกฤติศรัทธาในปัจจุบัน มาจากคุณกวี จงกิจถาวร นักหนังสือพิมพ์อาวุโสซึ่งคร่ำหวอดทำข่าวเรื่องประเทศอาเซียนมานาน คุณกวีเล่าถึงช่วงสองสามปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ว่าเป็นยุคทองของเสรีภาพสื่อไทย ไม่ใช่เพราะนักสื่อสารมวลชนมีเสรีภาพมากจากประชาธิปไตยเบ่งบาน แต่เป็นเพราะ สื่อใช้เสรีภาพในทางที่ถูกต้องด้วยการทำหน้าที่เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดตลอดจนการปรึกษาหารืออันนำไปสู่ข้อเสนอที่มีคุณค่าต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งออกมาในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรากฐานของการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปสื่อในสังคมไทย

ทว่าจุดหักเหสำคัญของวงการสื่อไทยก็เกิดขึ้นในปีเดียวกัน จากวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้สื่อจำนวนหนึ่งต้องปิดตัวลง นักข่าวตกงาน และสำหรับสื่อที่ยังคงจะสู้ต่อก็ต้องเริ่มประนีประนอมจุดยืนทางวิชาชีพเพื่อแลกกับความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ อุดมการณ์อันทระนงของการเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจเริ่มคลอนแคลน และถูกทำให้ง่อนแง่นลงไปอีกเมื่อระบอบทักษิณเริ่มจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2544 มีการสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งก็โดยการไม่ทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ และการพยายามคุกคามสื่อด้วยวิธีที่แยบยลกว่าเดิมๆ ผ่านการครอบครองซื้อกิจการสื่อ การฟ้องหมิ่นประมาทและเรียกค่าสินไหมในอัตราสูง การแทรกแซงความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการผ่านความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการเมือง และอื่นๆ อีก ภายใต้ระบอบนี้สื่อจำนวนหนึ่งถูกจัดระเบียบความคิดให้โอนอ่อนกับนโยบายประชานิยมและการสร้างตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกส่วนพยายามดิ้นรนต่อต้าน และท้ายที่สุดเมื่อเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 สื่อที่ต่อต้านระบอบทักษิณบางคนบางกลุ่มก็กลับกลายมาถูกข้อกล่าวหาของสื่อที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจากการยอมผ่อนปรนให้กับระบอบเผด็จการด้วยการไม่ตั้งคำถามใดๆ กับการยึดอำนาจดังกล่าว หลายคนยังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่าที่พยายามสถาปนาขึ้นมาใหม่หลังรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองดังกล่าวก็คือ ค่านิยมอุดมการณ์ที่เปลี่ยนไปของวงการสื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการอยู่รอด กอปรกับการพึ่งพิงธุรกิจและนักการเมืองที่ทำให้ “ระยะห่าง” ที่ควรจะมีในวิชาชีพต้องรางเลือนไป ในบริบทนี้ คุณกวีเปรียบเทียบนักข่าวว่าได้กลายร่างจากสุนัขเฝ้าบ้านที่ดุดันไปเป็นสุนัขบนตัก (lapdog) ที่เชื่องและจูงจมูกได้ง่ายดายด้วยแรงจูงใจ ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้การลอกเลียน รวบรวม และแบ่งปันข้อมูลทำได้อย่างง่ายดายก็ทำให้นักข่าวในยุคดิจิทัลกลายมาเป็น “นักปั่นแปะข่าว” กล่าวคือปั่นเรื่องราวที่มีมูลเหตุความสำคัญเพียงน้อยนิดให้กลายเป็นประเด็นใหญ่ประเด็นร้อน และแปะข่าวจากข้อมูลที่ลอกมาจากเว็บไซต์ หรือจากที่แชร์มาจากเพื่อนนักข่าวที่เอื้อเฟื้อมา

นอกจากนี้ แรงกดดันจากองค์กรสื่อที่พยายามปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยีด้วยการให้นักข่าวสามารถส่งข่าวได้ในทุกแพลทฟอร์มสื่อด้วยความฉับไว (แต่อาจไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่รัดกุม) ก็ทำให้ความรอบด้านและลุ่มลึกของข่าวสารในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ นี้ต้องถูกประนีประนอมโดยไม่ต้องสงสัย เหล่านี้ยังไม่รวมสถานการณ์ของการใช้และบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปอย่างพลิกโฉม ที่ผู้ใช้สื่อที่ไม่ใช่นักวิชาชีพสามารถเป็นบล็อกเกอร์ หรือนักข่าวพลเมืองได้ ทำให้พื้นที่ของข่าวสารมีผู้เล่นใหม่มาประชันขันแข่งมากขึ้นไปอีกนอกเหนือจากนักวิชาชีพ

ในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เราคงมิอาจตอบคำถามเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อด้วยวาทกรรมเดิมๆ ที่ว่า เสรีภาพต้องมาควบคู่กับความรับผิดชอบเท่านั้น เพราะเงื่อนไขที่แวดล้อมการสร้างเสรีภาพและความรับผิดชอบถูกกำหนดโดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองอันกว้างไกลกว่าการควบคุมของนักวิชาชีพหรือองค์กรสื่อ ขณะเดียวกัน นักวิชาชีพสื่อเองก็ต้องยืนหยัดที่จะธำรงความเป็นอิสระในระดับที่สามารถจะต่อรองได้มากที่สุด พร้อมๆ กับการย้ำเตือนไม่ให้ละเมิดเสรีภาพที่ตนได้รับหลักประกันมาตามกฎหมายด้วยเหตุผลหรือการปฏิบัติที่ง่ายๆ ใดๆ