รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2554-2555

รายงานสภาวะการศึกษาไทย 2554-2555

การจัดการศึกษาของไทยในรอบปี 2554-2555 เน้นการเติบโตเชิงปริมาณตามการเพิ่มงบของรัฐบาล (ปีละ 4 แสนล้านบาท)

ตามที่สถาบันการศึกษาต้องการขยายปริมาณงาน และตามที่คนส่วนใหญ่มีค่านิยมอยากเรียน เช่น ระดับมัธยมยังเรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีวะ ระดับอุดมศึกษายังเรียนสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มากกว่าสายวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี สัดส่วนคนได้เรียนต่อประชากรโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปัญหาเด็กที่ไม่ได้เรียนและออกกลางคันยังคงมีสัดส่วนสูง คุณภาพการจัดการศึกษาของทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ คะแนนเฉลี่ยการสอบระดับชาติและระหว่างชาติอยู่ในเกณฑ์ต่ำและลดลงจากเมื่อก่อน ทั้งที่งบประมาณการศึกษาเพิ่มขึ้น ครูได้เงินเดือน ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงได้รับการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาและต่ำกว่า ขณะที่คนกลุ่มที่ผ่านไปเรียนจนจบมัธยมปลายได้เข้าเรียนอุดมศึกษาเพิ่มขึ้น ทำให้คนในสังคมไทยมีความแตกต่างทางด้านระดับการศึกษาและฐานะเพิ่มขึ้น แรงงานกลุ่มที่ว่างงานมากที่สุด คือผู้จบปริญญาตรี เนื่องจากมีคนจบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์มาก ขณะที่ตลาดแรงงานยังขาดแคลนแรงงานด้านที่จบสายอาชีวะ เทคนิค วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

การประเมินผลนักเรียนนานาชาติในระดับชั้นประถมปลายตามโครงการ PISA ของกลุ่ม OECD ที่ไทยได้คะแนนเฉลี่ยต่ำและลดลงในรอบสิบปี สะท้อนว่าไทยต้องพยายามปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคุณภาพคนให้แข่งกับประเทศอื่นได้เพิ่มขึ้น โครงการ PISA เป็นการวัดความรู้ทักษะในวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ที่นักเรียนจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานในอนาคตได้ ดังนั้นจึงเป็นการวัดที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าคุณภาพของแรงงานในแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป

โครงการ PISA ทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างนักเรียนที่เป็นตัวแทนของทั้งประเทศ และแปลข้อสอบเป็นภาษาแม่ของเด็กในแต่ละประเทศ ทำทุก 3 ปี ทำมาแล้ว 4 ครั้ง ไทยได้เข้าร่วมมาตลอด ปัญหาของนักเรียนไทย คือ สอบได้คะแนนเฉลี่ยต่ำเป็นลำดับท้ายๆ ของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยและประเทศรายได้ปานกลาง ในการทดสอบล่าสุดปี 2552 ไทยได้คะแนนเฉลี่ยวิชาการอ่าน เป็นอันดับที่ 53 (จากราว 65 ประเทศ) วิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็ได้ต่ำพอๆ กัน และต่ำกว่าเซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ค่อนข้างมาก และที่สำคัญคือ ทั้งคะแนนเฉลี่ยและลำดับของไทยในปี พ.ศ. 2552 ยังต่ำกว่าผลการทดสอบครั้งแรกๆ ของไทยด้วย เพราะประเทศอื่นๆ สนใจปฏิรูปการศึกษาจนพัฒนาแซงไทย

การปฏิรูปการศึกษาในฟินแลนด์ จีน (เซี่ยงไฮ้, ฮ่องกง) และสิงคโปร์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ไทยควรศึกษา การที่นักเรียนชั้นประถมปลายในประเทศเหล่านี้ทำคะแนนเฉลี่ยในการทดสอบนักเรียนนานาชาติตามโครงการ PISA ของ OECD ได้สูง เป็นผลมาจากการปฏิรูปการศึกษาอย่างมีคุณภาพที่ไทยน่าจะเรียนรู้จากพวกเขา

สิ่งที่ทั้ง 3 ประเทศคิดเหมือนกันคือ การศึกษาหรือการพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพ คือ เรื่องที่สำคัญที่สุดในการที่จะพัฒนาประเทศให้แข่งขันและอยู่รอดอย่างมีคุณภาพชีวิตได้ พวกเขายังเลือกทำคล้ายกัน คือ

1. คัดเลือกและพัฒนาทั้งผู้บริหารการศึกษาและครูให้มีคุณภาพและแรงจูงใจในการทำงานสูง

2. กระจายอำนาจให้ทางโรงเรียนมีความรับผิดชอบและอิสระในการดำเนินงานสูง

3. ปรับปรุงหลักสูตร ให้มีเนื้อหาสาระที่จะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง และทำกระบวนการเรียนการสอนให้สนุก น่าสนใจ ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการทำงานของสมองและจิตวิทยาในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละวัย ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทดลองทำ รวมทั้งศึกษาจากโครงการและสังคมที่เป็นจริง ซึ่งแตกต่างไปจากการสอนแบบบรรยาย ให้ท่องจำตามคำบรรยายและตำราแบบเก่า

ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ได้ผล

1). ผ่าตัดโครงสร้างการบริหาร จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิคนกลางที่มีอำนาจเต็ม วางแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติที่รัฐมนตรีศึกษาและข้าราชการต้องทำตาม เปลี่ยนแปลงระบบการบริหารแบบลดอำนาจของกระทรวงศึกษามาเป็นภาคี 4 ฝ่าย ตามแนวประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และกระจายอำนาจทรัพยากรความรับผิดชอบไปสู่องค์กรชุมชนและสถานศึกษา ซึ่งควรมีการบริหารจัดการแบบเครือข่าย ช่วยพัฒนาให้ผู้อำนวยการและครูอาจารย์ในสถานศึกษามีความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบสูงขึ้น ทำสถานศึกษาทุกแห่งให้มีคุณภาพสูงใกล้เคียงกันทั้งประเทศ

2). ปฏิรูปการคัดเลือก ฝึกอบรม การว่าจ้าง การทำงาน การให้ผลตอบแทนผู้บริหารครูอาจารย์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนเก่ง คนดีมาทำอาชีพนี้ ที่ควรจะต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดีที่สุด ถึงจะผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณภาพได้

3). ปฏิรูปการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับการทำงานของสมอง ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้น มีความฉลาดทั้งทางปัญญา อารมณ์ จิตสำนึกเพื่อสังคม

4). ปฏิรูประบบการสอบคัดเลือกให้เป็นการวัดความสามารถในการเรียนรู้แบบไปใช้งานได้มากกว่าการท่องจำ และจัดการศึกษาที่มีคุณภาพหลายรูปแบบที่จะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะมากพอที่จะนำไปใช้งานให้โลกศตวรรษที่ 21 ได้ เปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าเรียนได้อย่างกว้างขวางหลากหลายเพิ่มขึ้น

5). รณรงค์ให้เด็กและเยาวชนไทยรักการอ่าน อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักการอ่านหนังสือดีๆ ช่วยให้เด็กที่เรียนเก่ง ปรับตัวเองได้ดี มีความสุข ความพอใจเพิ่มขึ้น การจัดกิจกรรมการอ่านรูปแบบต่างๆ ส่งเสริมให้ทุกองค์กรและสังคมไทยทั้งสังคมเป็นสังคมแห่งการอยากรู้อยากเห็น อยากอ่าน อยากเรียนรู้อยู่เสมอ

สรุป การจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้ได้ผล คือสร้างพลเมืองที่ฉลาดขึ้น มีความรับผิดชอบ มีผลิตภาพ (ความสามารถในการทำงานการผลิต) สูงขึ้น ผู้บริหารไทยต้องเปิดใจกว้าง มองปัญหาที่เป็นอุปสรรคเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ศึกษาเรียนรู้จากบทเรียนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศอื่น โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปครู และกระบวนการการเรียนการสอน การกระตุ้นให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการรักการอ่าน การค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้วิชาการ วิชาชีพ ทักษะชีวิตและทักษะสังคมได้อย่างคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์

รู้จักนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นโลกที่ต้องการแรงงานและพลเมืองที่มีความรู้ทักษะสมัยใหม่ (เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ การวางแผน การคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา การบริหารจัดการ การปรับตัวได้เก่ง ฯลฯ) ที่สร้างงาน สร้างผลผลิต สร้างชีวิตให้ดี ให้ตนเองและสังคมได้เพิ่มขึ้น (ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.witayakornclub.wordpress.com)