บัสเวย์ บทเรียนสำหรับ BRT ไทย

บัสเวย์ บทเรียนสำหรับ BRT ไทย

ผมเห็นกรุงเทพมหานครว่าจะเพิ่มเส้นทางรถ BRT (Bus Rapid Transit) แล้ว ผมบอกได้คำเดียวว่า "อย่า" หมายถึงอย่าขยายเลย

BRT ไม่ใช่สรณะในการแก้ปัญหาจราจรเลย ผมจึงขออนุญาตนำบทเรียนของรถ Busway หรือ Transjakarta ซึ่งเป็น BRT ของอินโดนีเซียมาเล่าให้ฟังครับ

ผมไปกรุงจาการ์ตาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2526 และแวะเวียนไปเป็นระยะๆ ผมเคยไปทำงานในโครงการที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง อินโดนีเซีย และยังเคยไปศึกษาการวางแผนพัฒนาสาธารณูปโภคของธนาคารโลก ณ กรุงจาการ์ตาอีกด้วย นอกจากนั้นยังไปสำรวจโครงการตลาดที่อยู่อาศัยที่นั่นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นการสำรวจที่ได้ข้อมูลที่มากและครอบคลุมมากที่สุดโดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส

ทุกครั้งที่ผมไป หลังเสร็จจากภารกิจที่มี "ราชรถมาเกย" แล้ว ผมจะพยายามไปใช้บริการรถ BRT เพื่อศึกษา ตลอดจนนั่งรถสองแถวบ้าง สามล้อบ้าง จักรยานยนต์รับจ้างบ้าง แท็กซี่บ้าง เพื่อศึกษาดูการจราจรภาคปฏิบัติ ผมพบอย่างหนึ่งว่า สำหรับคนที่พอมีพอกิน หรือชนชั้นกลางระดับกลางบน เช่น ระดับ C+ หรือ B- ขึ้นไป ไม่ค่อยนั่งรถ Busway อาจเป็นเพราะไม่สะดวกสบายเช่นรถ BRT บ้านเรา ต่างใช้รถจักรยานส่วนตัวหรือไม่ก็รถยนต์เท่าที่ฐานะจะอำนวย

Busway ของอินโดนีเซียสายแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 หรือ ก่อนไทย 6 ปี ปัจจุบันนี้มีประมาณ 14 เส้นทาง จากที่วางแผนไว้ 15 เส้นทาง โดยมีสถานีหยุดรถ 200 จุด มีรถอยู่ราว 600 คัน รวมระยะทางบริการเกือบ 200 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นระบบที่มีความยาวมากที่สุดในโลก มากกว่าที่กรุงโบโกตา เมืองต้นตำรับของ BRT เสียอีก

แต่ละวันมีผู้โดยสาร Busway ประมาณ 350,000 คน โดยคิดค่าโดยสารประมาณ 11 บาท แต่ทั้งนี้รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัทที่ให้บริการอีกประมาณหัวละ 6.3 บาท ทั้งนี้เพื่อตรึงราคาค่าโดยสารให้ถูกเข้าไว้ โดยถือเป็นบริการสาธารณะสำหรับประชาชนและลดปัญหาการจราจรอีกด้วย

การที่ Busway สามารถขยายตัวได้มากในกรุงจาการ์ตาก็เพราะที่นี่ไม่มีรถไฟฟ้า หรืออีกนัยหนึ่งไม่มีเงินเพียงพอที่จะสร้างรถไฟฟ้าเช่นมหานครอื่นๆ หรือมีเงิน แต่เพื่อเอื้ออำนวยกับบริษัท Busway ก็เลยไม่สร้าง ซื้อเวลาไปเรื่อย ซึ่งก็คล้ายกับพวกแพขนานยนต์ที่ต่อต้านสะพานข้ามแม่น้ำ หรือชาวบ้านที่ถูกเวนคืนเพียงหยิบมือเดียวก็ต่อต้านการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อคนนับล้านๆ เป็นต้น

กรุงจาการ์ตาก็เคยคิดจะสร้างรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่พับไปในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกวันนี้ยังมี "อนุสรณ์สถาน" ให้เห็นเป็นแท่งหิน แต่ของไทยคงโกงกินกันน้อยกว่า จึงยังมีเหลือซากเป็น "Stonehenge" หรือโครงการรถไฟฟ้า Hopewell คือนอกจากมีเสาแล้ว ยังมีคานพานไว้เพิ่มเติม และของไทยยังมีรถไฟฟ้าเสร็จสามารถใช้งานได้อีก 2 สายคือ BTS และ MRT ขณะนี้กรุงจาการ์ตาก็กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานสายแรกได้ในปี 2559 สายต่อมาจะเสร็จในปี 2561 ส่วนสายที่ 3 จะเสร็จในราวปี 2567-2570 ผมก็หวังว่าผมคงจะอยู่ถึงตอนเปิดใช้!

ปัญหาของรถ Busway ในกรุงจาการ์ตาก็คือ เลนที่มีไว้ตลอด 24 ชั่วโมง มันเกินความจำเป็น น่าจะมีเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ขณะเดียวกันในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ก็มีรถส่วนบุคคลหรือรถอื่นๆ วิ่งเข้ามาใช้เส้นทางรถ Busway ทำให้รถ Busway ขับไปไม่ได้ จึงทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนได้จริง

หากวิเคราะห์ถึงจำนวนผู้โดยสารจะพบว่า ในแต่ละวันมีผู้โดยสารรถ Busway ของกรุงจาการ์ตา 350,000 คน หรือราวครึ่งหนึ่งของรถ BTS ของไทย ณ วันละ 550,000 - 600,000 คน ทั้งที่ BTS มีระยะทางเพียง 33 กิโลเมตร และมีสถานีรวมเพียง 33 สถานี ขณะที่รถ BRT ของไทยมีผู้ใช้บริการวันละ 20,000 คน เท่านั้น และรถประจำทางในกรุงเทพมหานครทั้งระบบมีผู้ใช้บริการ 1 ล้านคน

จะเห็นได้ว่าการมี BRT ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรแต่อย่างใด แต่กลับยิ่งทำให้การจราจรบนถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาส ติดขัดหนักกว่าเดิม ผมจึงเคยเสนอให้มี Bus Lane (โดยไม่ต้องมี BRT ให้เป็นภาระ) เฉพาะในช่วงเร่งด่วน จับปรับคนที่ฝ่าฝืน และหลังจากเวลาดังกล่าว ก็ให้คืนช่องทางจราจรให้กับรถอื่นๆ ไปเสีย

อนึ่งตั้งแต่หลังเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นต้นมา ท่านผู้ว่าฯ ก็มีนโยบายลดค่าโดยสารจาก 10 บาท เป็น 5 บาท ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะไม่ได้มีผู้โดยสารใดเรียกร้องว่าค่าโดยสารนี้แพงแต่อย่างใด การสั่งลดนี้ก็คงยิ่งเพิ่มการขาดทุนให้กับ BRT การให้ในสิ่งที่ไม่ได้เป็นความต้องการจำเป็น อาจไม่ได้ความนิยมดังหวัง แต่อาจเกิดคำถามจากประชาชนถึงความสามารถในการวางแผนและการบริหารก็ได้

นี่แหละครับเราจึงเรียนรู้โลกเพื่อเปลี่ยนแปลงไทยให้ดีกว่าเดิมโดยมีกรณี Busway / BRT เป็นอาทิ