ชวนให้เชื่อว่าเก่งจริง

ชวนให้เชื่อว่าเก่งจริง

ในยุคที่ติเพื่อก่อใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนเหมือนกับว่ารอบตัวมีแต่คนที่ลงมือทำอะไรแล้วจะล้มเหลวไปหมด

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบอกให้คนอื่นเชื่อว่าฉันทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ผลสำเร็จจริงๆ เว้นเสียแต่ว่ามีโอกาสได้ลงมือทำให้ดูจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะกว่าที่จะไปถึงขั้นตอนเริ่มต้นลงมือทำได้ ก็ต้องฝ่าสารพัดติเพื่อก่อรอบทิศไปได้ก่อน ซึ่งใช้ความรู้ความสามารถที่มากกว่าที่ต้องใช้ในการลงมือทำจริงๆ เสียอีก ดังนั้น ถ้ามีหนทางประหยัดเรี่ยวแรงในการรับมือกับไต้ฝุ่นติเพื่อก่อไว้บ้างคงเป็นสิ่งที่น่าให้ความสนใจ

นานมาแล้วที่เมืองฝรั่งเกิดอยากได้วิธีการที่จะใช้ในการบอกกล่าวความเก่งของผู้คนโดยใช้ผลงานที่ผ่านมาเป็นตัวบ่งบอก วิธีการนี้เอาไว้ใช้ตอนที่ฝรั่งจะเลือกคนมาเป็นใหญ่เป็นโต หรือหาคนมาทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน เดิมทีเดียวก็ปล่อยให้แต่ละคนที่สนใจจะมาเป็นใหญ่เป็นโตบอกเล่าให้กลุ่มคนที่จะคัดเลือกได้ทราบว่าตนเองมีดีอะไรมาบ้าง มาเล่าอรรถประวัติที่บ่งบอกความเก่งให้ทราบ แต่ไม่ค่อยได้ผลเพราะแต่ละคนก็นำเสนอความเก่งของตนเองไปในแต่ละแบบที่แตกต่างกันมากจนไม่อาจเปรียบเทียบความเก่งในระหว่างกันได้ ฝรั่งพวกนี้มีข้อดีอยู่ข้อหนึ่งคือทนอยู่เฉยๆ กับปัญหาที่ไม่สามารถเปรียบเทียบความเก่งของคนที่มาเป็นใหญ่เป็นโตได้ เลยช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรดี คำตอบที่ได้คือ CCAR ที่คนที่เรียนวิชาบริหารมาน่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง

ฝรั่งบอกว่าให้เริ่มต้นบอกกล่าวความเก่งของตัวเราด้วยการบอกว่าตอนที่เราทำการอยู่ที่นั่นที่นี่ กำลังพบปัญหาหนักๆ อะไรอยู่บ้าง เล่าให้คนเชื่อก่อนว่าปัญหานั้นท้าทายความสามารถจริงๆ คนเก่งไม่เก่งเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่เริ่มต้นเลือกปัญหาที่จะมาบอกกล่าวให้คนอื่นฟังแล้ว ถ้าเก่งจริงจะเลือกปัญหาที่บอกแล้วคนอื่นเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องท้าทายจริง เรื่องที่เป็นปัญหาท้าทายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่โตมูลค่าสองล้านล้าน จะเป็นเรื่องที่สตางค์ไม่เยอะแต่มีผลต่อชะตากรรมของผู้คนในอนาคตก็ได้ เรื่องเกี่ยวกับไอคิวของเด็กอนุบาล เด็กประถม เริ่มต้นอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายเหมือนกับการปฏิรูปสองล้านล้าน แต่ถ้าบอกเรื่องเล็กนี้ต่อไปว่าเด็กอนุบาลในบ้านเมืองนั้นมีสติปัญญาในระดับปัญญาทึบอยู่ไม่เกินเจ็ดคนจากหนึ่งร้อยคน ไม่ต่างไปจากบ้านอื่นเมืองอื่น แต่พอเด็กกลุ่มนั้นโตขึ้นไปเรียนอยู่ระดับประถมกลายเป็นระดับสติปัญญาทึบหนึ่งคนจากสามคน เรื่องที่ดูเป็นเรื่องเล็กตอนแรกกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้บริหารทุกคนที่ไม่อยากเห็นพนักงานของตนมีปัญญาทึบหนึ่งคนในทุกสามคน จนวันหนึ่งอาจไปถึงขั้นว่าในคณะกรรมการบริหารหน่วยงานนั้น จะมีกรรมการที่สติปัญญาอยู่ในขั้นที่เรียกกันอย่างชาวบ้านว่าโง่ดักดานอยู่ถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ การจะบอกให้คนเริ่มอยากเชื่อว่าเราเก่งจริง เริ่มต้นจากการเลือกปัญหาที่ทำให้คนอื่นยอมเชื่อว่าเป็นเรื่องท้าทายจริงก่อน

ส่วนเรื่องไหนท้าทายไม่ท้าทายบอกกันเจาะจงลงไปไม่ได้ ขึ้นกับบริบทในขณะที่เผชิญปัญหานั้น ก๊าซใกล้หมดในขณะที่ขับรถอยู่ในเมืองไม่ใช่เรื่องที่ท้าทายอะไร แต่ถ้าก๊าซใกล้หมดตอนที่กำลังอยู่บนเขา กลายเป็นเรื่องท้าทายแน่ๆ ขั้นต่อไปที่จะบอกให้คนอื่นเชื่อว่าเราเก่งจริงก็ต้องบอกกล่าวกันให้เข้าใจว่าตอนนั้นรอบๆ ตัวเป็นอย่างไร ทุนทรัพย์ กำลังคน เทคโนโลยี มีมากน้อยเพียงใด ผู้คนร่วมมือร่วมใจกันแค่ไหน คนเก่งจริงกับคนคุยเก่งต่างกันที่ขั้นนี้ ถ้าคารมดีอาจเล่าปัญหาเล็กให้ดูใหญ่โต ดูท้าทายได้ แต่ไม่ง่ายที่จะปั้นน้ำเป็นตัวในเรื่องบริบท เพราะเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปรับรู้รับทราบกันมาระดับหนึ่งแล้ว บอกว่าตนเองเก่งกาจสามารถแก้ไขปัญหายิ่งใหญ่ได้ในสภาพองค์กรที่คนทราบว่ามั่งคั่งไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร แต่ถ้าบอกว่าตนเองสามารถแก้ปัญหาในโรงเรียนข้างบ้านที่นักเรียนปัญญาทึบถึงหนึ่งในสามคน ให้กลายเป็นโรงเรียนที่เด็กจบมาแล้วอยู่กับคนอื่นอย่างมีความสุข เป็นอย่างที่ตัวเองอยากเป็นได้ ทำสิ่งที่ตนเองอยากทำได้ รู้ในสิ่งที่ตนเองอยากรู้ได้ ก็พอจะเชื่อได้ว่าเก่งจริง ทำได้น่าจะจริง แต่ถ้าบอกว่าจากตอนแรกนักเรียนในโรงเรียนนั้นมีสติปัญญาทึบราวสามสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ตนเองเข้าไปแก้ปัญหาจนเด็กจบมาเป็นอัจฉริยะกันหมด คงไม่น่าเชื่อว่าเก่งจริง แต่พอเชื่อได้ว่าเก่งคุย

เมื่อบอกจนคนเชื่อแล้วว่าปัญหานั้นท้าทายภายใต้บริบทที่เราบอกกล่าว ขั้นต่อไปก็บอกว่าเรามีวิธีแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร โดยชี้ไปที่หลักคิดที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้น ถ้าหลักคิดดีๆ คนฟังจะเห็นความเก่งของเราได้ทันที แต่ไม่ให้เน้นเรื่องเทคนิค เน้นว่าเราใช้วินโดว์แปดไปช่วยในการแก้ปัญหาได้อย่างไร และทำไมต้องเป็นวินโดว์แปด ไม่ใช่เน้นว่าเราเก่งวินโดว์แปดอย่างไร คนเก่งหลายคนที่คนไม่ยอมเชื่อว่าเก่งเพราะมัวแต่ใส่ใจบอกกล่าวรายละเอียดปลีกย่อย โดยเฉพาะเรื่องทางเทคนิคมากกว่าจะบอกเล่าหลักการ คนเก่งกับคนไม่เก่งแตกต่างกันชัดเจนในเรื่องหลักการ ถ้าฟังแล้วเดี๋ยวก็หลักหนึ่ง อีกเดี๋ยวก็เปลี่ยนไปหลักอื่นแล้ว คงไม่ใช่คนเก่งทำ แต่อาจเป็นแค่คนคารมดีเท่านั้น

บอกความท้าทาย บอกบริบทให้เห็นสภาพที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นเพื่อเสริมให้เห็นความท้าทายมากขึ้น ตามมาด้วยวิธีการโดยเฉพาะหลักคิดที่ใช้ในการแก้ปัญหา จากนั้นก็ต่อให้เหมือนดูละครที่ต้องมีตอนจบ เราต้องบอกต่อไปว่าได้ผลเป็นอย่างไร ตั้งโจทย์ไว้ใหญ่แค่ไหน ผลที่บอกกล่าวได้ก็ต้องยิ่งใหญ่เท่านั้น ตั้งขนาดความท้าทายไว้สองล้านล้าน แต่กลับบอกว่าได้ผลเป็นหมื่นล้าน คนที่ติดตามมาตั้งแต่ต้นก็รู้ว่าเจอคนเก่งคุย ไม่ใช่คนเก่งทำ ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องบอกให้ได้ว่าคนที่เชื่อว่าเราเก่งนั้นเคยได้อะไรที่ดีขึ้นจากผลงานที่ผ่านมาของเราบ้าง แต่ไม่ใช่ได้แบบตามน้ำคือคนอื่นทำแต่เราติดป้ายประกาศ ต้องเป็นผลลัพธ์ที่มาจากวิธีและหลักคิดที่เราใช้แก้ปัญหานั้นจริงๆ เท่านั้น

ทุกคนสามารถเริ่มต้นแสดงให้คนอื่นเห็นความเก่งจริงของตัวเราได้ทุกวัน ทุกหนทุกแห่งโดยเพียงเริ่มต้นจากลองมองรอบๆ ตัวแบบช่างสงสัยเพิ่มขึ้นอีกนิด ว่าตรงนี้มีอะไรบ้างที่ท้าทายให้ฉันปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง แทนที่จะเริ่มต้นด้วยการมองรอบๆ ตัวเพื่อหาว่ามีอะไรให้ฉันวิจารณ์ได้บ้าง