โอกาส...จากการลงทุนทางเลือก

โอกาส...จากการลงทุนทางเลือก

ตัดเชือกอย่างสวยงาม สำหรับการเข้าซื้อขายวันแรกของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บีทีเอสโกรท (BTSGIF)

ที่เปิดซื้อขายด้วยราคาสูงกว่าราคา IPO ที่ระดับ 10.80 บาท ซึ่ง BTSGIF ถือเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแรกที่เสนอขายในประเทศไทย ที่มีมูลค่าการระดมทุนขนาดใหญ่มากกว่า6.2 หมื่นล้านบาท และเป็นหนึ่งใน IPO ที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของไทย และเป็น IPO ที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในปี 2556 นี่เป็นเพียง 1 ในสินทรัพย์ทางเลือกที่น่าสนใจ
หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ยังมีสินทรัพย์การลงทุนทางเลือก เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนน้ำมัน กองทุนทองคำ ฯลฯ ที่นักลงทุนให้ความสนใจไม่แพ้กัน ส่วนการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหรือ Private Equity ก็เกิดขึ้นในไทยมานานแล้ว เพียงแต่จำกัดวงอยู่แค่นักลงทุนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น
อันที่จริงแล้ว สินทรัพย์ประเภทลงทุนทางเลือก หรือ Alternative Investment (AI) เป็นสินทรัพย์ที่รู้จักอย่างกว้างขวางในต่างประเทศและเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีเพราะที่มาของรายได้มีความแตกต่างจากสินทรัพย์ทั่วไป เช่น หุ้นหรือพันธบัตร รวมทั้งยังได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการบริหารจัดการเชิงรุก (Active management)
ทั้งนี้ AI ประกอบด้วยสินทรัพย์หลักๆ 3 ประเภท คือ อสังหาริมทรัพย์ Private Equity ซึ่งมีประวัติยาวนานมากกว่า 50 ปี และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็น Asset Class ใหม่ล่าสุดของกลุ่มนี้ที่เริ่มเป็นที่นิยมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในภาพรวม อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานจะมีระดับความเสี่ยงและผลตอบแทน (Risk/Return) ที่ใกล้เคียงกันโดยอยู่ระหว่างตราสารหนี้และหุ้น ส่วน Private Equity จะมีความผันผวนสูงกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นการลงทุนระยะกลางถึงยาว

เหตุผลที่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป เริ่มสนใจสินทรัพย์ทางเลือกมากขึ้น เพราะโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างจากสินทรัพย์การลงทุนทั่วไป นั่นคือ

อสังหาริมทรัพย์ = ผลตอบแทนมั่นคง แปรผันตามเงินเฟ้อ
เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอจากค่าเช่าและแปรผันตามเงินเฟ้อ รวมทั้งมีความผันผวนต่ำจึงเป็นที่นิยมของนักลงทุนระยะยาว ปัจจุบันแม้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะผ่านพ้นจุดต่ำสุดและเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่ง แต่ในมุมมองระยะกลางยังถือว่าเป็นโอกาสที่น่าเข้าไปลงทุน เพราะราคาในบางประเทศยังต่ำกว่าต้นทุนในการสร้างใหม่ (Replacement Cost) ประกอบกับเศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจะช่วยสนับสนุนให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์มีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อไปได้อีก นอกจากนี้ สำหรับบางประเทศที่มีปัญหาเฉพาะตัว เช่น ญี่ปุ่น โดยบริษัทการเงินต่างชาติเทขายทรัพย์สินออกมามากในช่วงวิกฤตการเงินทำให้เป็นโอกาสเข้าลงทุนใน distressed debt ของอสังหาริมทรัพย์คุณภาพที่ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดีได้

โครงสร้างพื้นฐาน = ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
คุณลักษณะคล้ายคลึงกับอสังหาริมทรัพย์ คือ ให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนและแปรผันตามเงินเฟ้อ ความผันผวนต่ำ เพราะมีโครงสร้างการหารายได้ที่สม่ำเสมอ มั่นคงจากสัญญาสัมปทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีระยะยาว หรือผูกขาด คู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้ยาก สำหรับมุมมองระยะกลาง โครงสร้างพื้นฐานเป็นสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มที่ดี เพราะประเทศต่างๆ ยังคงต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก ขณะที่รัฐบาลต้องลดภาระการลงทุน ทำให้ต้องมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) หรือเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) โอกาสในการลงทุนจึงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ คือ ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบโดยเฉพาะความสามารถในการปรับราคาค่าบริการตามสัญญาที่ตกลงไว้

Private Equity = ผลตอบแทนที่มากกว่า
Private Equity คือ การลงทุนในบริษัทภาคเอกชนทั้งที่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนเงินลงทุนสูงผ่านขั้นตอนการเจรจา (Negotiation Process) และเป็นการลงทุนระยะยาว เป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนคาดหวังสูงสุดแต่ความเสี่ยงหรือความผันผวนก็สูงเช่นเดียวกัน จึงเหมาะกับนักลงทุนระยะยาวที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เพราะการลงทุนมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่ากิจการในระยะยาวโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ในระยะสั้นเป็นหลักซึ่งต่างจากหุ้นในตลาด
ดังนั้น ผลตอบแทนจึงเกิดจากการลงทุนในกิจการ เพื่อเข้าไปบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าของกิจการ หรือเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กิจการในการขยายธุรกิจโดยต้องอาศัยการบริหารจัดการเชิงรุก ซึ่งนักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและมีประสบการณ์ในการลงทุน สำหรับมุมมองระยะกลาง จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้นรวมทั้งการเติบโตในบางตลาด เช่น ภูมิภาคเอเชีย จึงเป็นโอกาสการเข้าลงทุนในระดับราคาที่น่าสนใจ และได้ประโยชน์จากมูลค่าพื้นฐานที่คาดว่าจะดีขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าสินทรัพย์ทางเลือกจะมีความน่าสนใจจากจุดเด่นที่กล่าวมาข้างต้น แต่ก็มีความเสี่ยงและความท้าทาย เพราะเป็นสินทรัพย์มีความซับซ้อนมากกว่าการลงทุนในหุ้นหรือพันธบัตรทั่วไป ทั้งในด้านรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ข้อกฎหมายที่ซับซ้อน และการประเมินมูลค่าโครงการที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาว ถือว่าคุ้มค่าเพียงพอสำหรับการลงทุน นี่เองที่ทำให้สัดส่วนการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกของนักลงทุนสถาบันเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากการสำรวจของบริษัท Greenwich Associates พบว่านักลงทุนในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2551 เป็น 10% ในปี 2555 และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนการลงทุนทางเลือกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง