นวัตกรรมทางการเงิน ตลาดล่วงหน้าและเสถียรภาพของระบบการเงิน

นวัตกรรมทางการเงิน ตลาดล่วงหน้าและเสถียรภาพของระบบการเงิน

การเก็งกำไรค่าเงินและความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงิน ล้วนมีส่วนสัมพันธ์ กับ การนำนวัตกรรมทางการเงินไปใช้อย่างไม่เหมาะสม

ธุรกรรมส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในตลาดซื้อขายล่วงหน้า

การที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเก็งกำไรค่าเงินบาทในตลาดปริวรรตเงินตราเป็นส่วนสำคัญดันให้เงินบาทแข็งสุดในรอบ 16 ปี และมีโอกาสทดสอบระดับ 26-27 บาทต่อดอลลาร์ ในระยะต่อไป หากเงินบาทหลุดไปถึงระดับดังกล่าวในเวลาอันสั้น คงเห็นการปิดกิจการของเอสเอ็มอีส่งออกแน่นอน เพราะคงปรับตัวไม่ทัน บางส่วนอาจขาดทุนและจำเป็นต้องปรับราคาส่งออก ส่งผลให้ผู้นำเข้าต่างชาติอาจหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่น

ความผันผวนของราคาทองคำ น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย ก่อให้เกิดกำไรมากๆ ขาดทุนมากๆ โดยไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรต่อภาคเศรษฐกิจภาคการผลิตจริง ล้วนเป็นผลจากการใช้นวัตกรรมทางการเงินในตลาดล่วงหน้าทั้งสิ้น เช่น การดิ่งลงของราคาทองคำอย่างรวดเร็ว

เงินจำนวนมากจากการอัดฉีดของธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ต่างไหลเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทย

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยบรรเทาเงินไหลเข้าที่ดันให้เงินบาทแข็ง และ มีผลกระทบข้างเคียงเฉพาะหน้าน้อยที่สุด

หากจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทก็ต้องมุ่งไปที่ การกำกับธุรกรรมในตลาดการเงินล่วงหน้า

ตลาดการเงินล่วงหน้านั้นเริ่มต้นพัฒนามาจากตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อน เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนสูง และราคาก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับการผันแปรของภูมิอากาศค่อนข้างมาก ฉะนั้นเวลาเราพิจารณาถึง ตลาดล่วงหน้า หรือ Future Market จึงมีหลายประเภท ตั้งแต่ ตลาดสินค้าล่วงหน้า (Commodity Future Market) ซึ่งอาจจะเป็นตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ตลาดซื้อขายทองคำหรือโลหะประเภทต่างๆ ล่วงหน้า นอกจากนี้ ก็ยังมี ตลาดดัชนีหลักทรัพย์ล่วงหน้า (Stock Index Future Market) และ ตลาดเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Foreign Currency Future Market)

ในปี ค.ศ. 1970 สหรัฐอเมริกาได้ปล่อยให้เงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี การปล่อยลอยตัวอย่างเสรีส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยและการปริวรรตเงินตราต่างประเทศพลอยผันผวนไปด้วย ก่อให้เกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ตลาดเงินตราต่างประเทศแห่งชิคาโกได้เสนอสัญญาทางการเงินล่วงหน้าสำหรับบริหารความเสี่ยงในตลาดปริวรรตเงินตราขึ้นในปี ค.ศ. 1972 และเมื่อมีการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวเคลื่อนไหวอย่างเสรี ทำให้เกิดความผันผัวนของอัตราดอกเบี้ยจึงมีการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเงินในเวลานั้นเพื่อบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย โดยเรียกตราสารทางการเงินนี้ว่า Interest Rate Future Contracts ต่อมานวัตกรรมทางการเงินในตลาดการเงินล่วงหน้าเหล่านี้ก็ได้แพร่หลายสู่ระบบการเงินระหว่างประเทศโดยที่อังกฤษได้จัดตั้งศูนย์กลางซื้อขายตราสารทางการเงินล่วงหน้า ที่เรียกว่า The London International Financial Future Exchange ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1982 ส่วนฝรั่งเศสได้มีการก่อตั้งตลาดการเงินล่วงหน้าในปี ค.ศ. 1986 หลังจากนั้นการพัฒนาตลาดการเงินล่วงหน้าก็เกิดขึ้นในเอเชีย เริ่มจากสิงคโปร์ ฮ่องกง ซิดนีย์ และ ญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีการศึกษาเพื่อจัดตั้งตลาดตราสารอนุพันธ์แห่งประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ต่อมาจึงได้มีการจัดตั้ง ตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรและมีการจัดตั้งตลาดตราสารอนุพันธ์แห่งประเทศไทย

“futures contract” กับ “forward contract” นั้นต่างก็เป็นสัญญาซื้อ-ขายประเภทล่วงหน้าในตราสารต่างๆ มีเป้าหมายในการบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากความไม่แน่นอนของราคาในอนาคต อย่างไรก็ตาม คุณลักษณะของทั้ง 2 ประเภทยังมีข้อแตกต่างกันพอสรุปดังนี้

“futures contract” คือสัญญาประเภทล่วงหน้าชนิดที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มีกฎหมายรับรู้และรับรอง ให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนได้โดยผ่านตลาด (clearing house) ส่วน “forward contract” นั้นคือสัญญาประเภทล่วงหน้าที่มิได้มีการกำหนดมาตรฐานไว้ (สัญญานั้นอาจสามารถซื้อ-ขายในตลาด over the counter - OTC) โดยผู้ซื้อยินยอมที่จะรับ และผู้ขายยินยอมที่จะส่งมอบซึ่งสินทรัพย์ที่ได้กำหนดราคาแน่นอนในตอนทำสัญญาซื้อ-ขาย เมื่อถึงระยะเวลาอันกำหนดไว้ “futures contract” จึงมีสภาพคล่องสูงกว่าและมีความเสี่ยงต่ำกว่า “forward contract” อย่างไรก็ตาม ตราสารทั้งสองลักษณะต่างถูกใช้ไปในกิจกรรมเก็งกำไร การทำ Carry Trade การปั่นราคาสินทรัพย์ในประเทศจึงเกิดขึ้นจากเม็ดเงินของประเทศที่ใช้นโยบาย Quantitative Easing ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจเขาฟื้น หากเงินไหลกลับอย่างรวดเร็วต้องรับมือให้ดี ไม่เตรียมการเอาไว้เกิดวิกฤติแน่นอน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องบริหารจัดการการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นเก็งกำไร

อีกประเด็นที่น่าติดตาม คือ บทบาทของนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ทั้งหลาย

โจเซฟ สติกลิตซ์ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินไว้อย่างน่าสนใจว่า นวัตกรรมทางการเงินหลายอย่างในอดีตมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงิน ซึ่งส่งผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่า นวัตกรรมทางการเงินหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในระยะหลังนี้ ยังมองไม่ออกว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจและภาคการผลิตที่แท้จริงอย่างไร นวัตกรรมหลายอย่างในระยะหลังมุ่งหวังเพียงส่งเสริมการเก็งกำไรในตลาดเงิน ตลาดทุน หรือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำไรดังกล่าวเป็นเสมือนภาพลวงตา เกิดขึ้นและหายไปภายหลังจากฟองสบู่ของการเก็งกำไรแตกตัวลง

ผู้คนที่พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน คือ คนที่ทำงานอยู่ในภาคการเงิน ดร. โจเซฟ สติกลิตซ์ ยกตัวอย่าง ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนวัตกรรมทางการเงินดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักลงทุนวัยเกษียณอายุเนื่องจากการซื้อตราสารหนี้ดังกล่าวจะช่วยให้พวกเขาลดความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้ ตราสารหนี้ลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานของตลาดเงินและระบบสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ตราสารหนี้ดังกล่าวยังมีส่วนโดยตรงในการเพิ่มระดับสวัสดิการของแรงงานวัยเกษียณอายุด้วย แต่นวัตกรรมดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในแวดวงการเงินบางส่วนเพราะลูกค้าหรือนักลงทุนที่ถือตราสารประเภทนี้จะไม่มีแรงจูงใจที่จะซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดเงินบ่อยๆ ซึ่งทำให้ผู้คนที่ทำงานในแวดวงการเงินขาดรายได้จากค่านายหน้าในการซื้อขายตราสาร ด้วยเหตุนี้ นวัตกรรมทางการเงินใหม่ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมักจะเป็นตราสารทางการเงินที่เกิดจากแรงจูงใจในการสร้างรายได้มากขึ้นของผู้คนในแวดวงการเงิน จึงเป็นตราสารที่ส่งเสริมการเก็งกำไร ส่งเสริมการขยายตัวและการปล่อยสินเชื่อเกินความต้องการมากๆ ทำให้นวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจน้อย แม้นกระทั่ง เครื่องมือทางการเงินที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อบริหารความเสี่ยงกลับถูกใช้ไปเพื่อการเก็งกำไรอย่างเป็นด้านหลัก มากกว่าใช้เพื่อบริหารความเสี่ยง เช่น การ Short Sell หุ้น ตราสารประเภท Option เป็นต้น

ขณะที่ อลัน กรีนสแปน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวในที่ประชุม Future Industry Association ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งสะท้อนการขยายของนวัตกรรมทางการเงินและการเติบโตของตราสารอนุพันธ์ได้เป็นอย่างดีว่า “การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในตลาดการเงินในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คือ การเติบโตและขยายตัวของอนุพันธ์ทางการเงิน By Far the most significant event in finance during the past decade has been the extraordinary development and expansion of financial derivatives”

นอกจาก ตราสารทางการเงินที่เราคุ้นเคยในตลาดการเงิน เช่น หุ้นสามัญ (Common Stock) หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) หุ้นกู้ (Debenture) หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) ยังมีนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราสารบางชนิดได้ถูกพัฒนามานานมากแล้ว แต่อาจเป็นตราสารที่เราอาจไม่คุ้นเคยนักหากไม่ได้อยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุน

แต่เป็นเรื่องที่เราทั้งหลายต้องทำความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทางการเงิน และ เป็นทุนนิยมแบบกาสิโน มากขึ้นตามลำดับ ครับ