ชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน

ชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน

จีนเรียกแนวทางการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางว่าเป็น “สังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” (Socialism with Chinese Characteristics)

ฝรั่งหลายคนกล่าวทีเล่นทีจริงว่าเรียก “ทุนนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” (Capitalism with Chinese Characteristics) น่าจะเหมาะกว่าวันนี้ผมขอเสนออีกมุมมองหนึ่งว่าแนวทางในปัจจุบันของจีนนั้น อาจเรียกว่าเป็น “ชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” (Nationalism with Chinese Characteristics) ก็ได้

เพราะนับแต่ปี ค.ศ. 1978 ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีนรุ่นที่ 2 ได้ดำเนินการเปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจจีนเป็นต้นมา จีนก็ได้หลุดพ้นจากกับดักความขัดแย้งในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เติ้งเสี่ยวผิงเห็นว่าการทะเลาะกันว่าจะแซ่สังคมนิยม หรือแซ่ทุนนิยมนั้น “ไร้สาระ” เพราะ “ไม่ว่าแมวขาวแมวดำ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” “จับหนูได้” ก็คือทำยังไงก็ได้ให้จีนแข็งแกร่ง เพื่อตอบสนองเสียงเรียกร้องแนว “ชาตินิยม” ที่ฝังรากในหัวใจของชาวจีน

“ชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” เป็นความรักชาติบนพื้นฐานของความคิดที่ขัดแย้งกันสองประการ คือความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีตของจีน ขณะเดียวกันก็มีความรู้สึกว่าจีนเคยอ่อนแอและถูกมหาอำนาจรุมรังแกอย่างน่าอับอาย

ชาวจีนจะภาคภูมิใจในอารยธรรมจีนที่สืบทอดต่อกันอย่างไม่ขาดสายเป็นเวลากว่า 4,000 ปี ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดของปราชญ์มากมาย ทั้งขงจื๊อ เล่าจื๊อ เมิ่งจื๊อ จนถึงตำราพิชัยสงครามซุนวูอันลึกซึ้งแพรวพราว ความเจริญรุ่งเรืองในอดีตชวนให้จีนทึกทักเอาเองว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ดังคำว่า “จงกั๋ว” ในภาษาจีน ที่แปลว่า ดินแดนอันเป็นศูนย์กลาง

แต่อีกด้านของความรู้สึก ก็คือ ความอับอายของชาวจีน ตั้งแต่แพ้สงครามฝิ่นให้กับมหาอำนาจตะวันตกในช่วงปลายราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา ซุนยัดเซ็น ผู้นำในการปฏิวัติราชวงศ์ชิง อธิบายความอัปยศในช่วงนั้นว่าเป็นยิ่งกว่า “การเสียชาติ” เพราะจีนตกอยู่ในสภาพ “กึ่งอาณานิคม กึ่งศักดินา” ซึ่งทั้งถูกมหาอำนาจหลายๆ ชาติรุมแบ่งเค้ก และยังถูกพวกชนชั้นสูงขูดรีดซ้ำ เลวร้ายเสียยิ่งกว่ากรณีของอินเดียและหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมหาอำนาจเพียงชาติเดียวเข้ามายึดเป็นอาณานิคม หลังจากที่ราชวงศ์ชิงล่มสลาย จีนก็กลับเข้าสู่ยุคขุนศึกที่แผ่นดินแตกเป็นเสี่ยงๆ จนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกญี่ปุ่นย่ำยีไม่มีชิ้นดี เข้าทำนอง “คนป่วยแห่งเอเชีย” ที่ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา” ตราบจนเหมาเจ๋อตงชนะสงครามกลางเมืองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ. 1949 นั่นแหละ ที่จีนแผ่นดินใหญ่รวมเข้ากันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

ชาตินิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน จึงเป็นความปรารถนาที่จะสร้างชาติจีนให้กลับมารุ่งเรืองยิ่งใหญ่ดังในอดีต เป็นความต้องการทวงคืนตำแหน่งแห่งหนเดิมของตน

พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในสมัยเหมาเจ๋อตง ได้รวมจีนเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง และกระแสชาตินิยมที่จะสร้างสรรค์จีนให้ลุกขึ้นยืนบนลำแข้งของตัวเองได้เสียที ฐานความคิดนี้เองผลักดันให้เหมาเจ๋อตงดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดหลายประการ เริ่มจากการก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward) ในช่วงปี ค.ศ. 1958 - 1961 ซึ่งจีนรีบเร่งปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายจะ “ไล่ทันอังกฤษ” ภายใน 15 ปี แต่ผลสุดท้ายกลับเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ตามมาด้วยการประกาศ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เพื่อทำสงครามชนชั้นขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มนิยมขวา แต่กลับกลายเป็นมุมมืดในประวัติศาสตร์จีนเมื่อ “สังคมนิยม” ของเหมาเจ๋อตงกลายเป็นฝันร้ายที่ไม่สิ้นสุด จึงเกิด “สังคมนิยมอันมีเอกลักษณ์แบบจีน” ของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งประกาศเลิกลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

เมื่อเลิกลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง สิ่งเดียวที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเหลืออยู่สำหรับใช้รวมพลังชาวจีนให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็คือ แนวคิดชาตินิยมที่ยังฝังรากอยู่ว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนนี่แหละที่เป็นผู้สร้างชาติจีนใหม่ และจะนำพาจีนกลับมารุ่งเรืองยิ่งใหญ่ได้

แต่แม้ชาตินิยมอาจสามารถรวมภายในจีนให้เป็นหนึ่งได้ แต่ก็อาจทำให้ภายนอกจีนต้องแตกกับชาวบ้านเขาไปหมด เรื่องไกลๆ ในต่างประเทศก็กลายมาเป็นเรื่องใกล้ตัว กระตุ้นต่อมรักชาติเอาได้ง่ายๆ เช่น ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อนักการเมืองญี่ปุ่นจากหลายพรรคเดินทางไปคารวะหลุมฝังศพยาสุคูนิซึ่งเป็นหลุมศพอดีตนายทหารที่เคยนำกองทัพญี่ปุ่นรุกรานจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความไม่พอใจแก่จีนโดยที่จีนถือว่า เป็นการกระทำที่แสดงถึงความไม่สำนึกผิดต่อความผิดพลาดในอดีตที่ญี่ปุ่นได้รุกรานเพื่อนบ้านและฆ่าล้างชาวจีนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากในช่วงเวลานั้น

ต่อมรักชาตินี้เอง ทำให้จีนมีปัญหาแย่งดินแดนกับเพื่อนบ้านรอบทิศ โดยที่ผ่านมาประเด็นใหญ่ ได้แก่ปัญหาการแย่งชิง “เกาะเตียวหยู” หรือ “เกาะซานเกะกุ” กับคู่รักคู่แค้นญี่ปุ่น และประเด็นพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีคู่กรณี ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน โดยที่จีนงัดหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายมายืนยันว่าหมู่เกาะเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีนมานมนาน ก็ขนาดชื่อทะเลยังเรียกว่า “ทะเลจีนใต้”

นักยุทธศาสตร์ชาวอเมริกัน Edwark Luttwak กล่าวในหนังสือ The Rise of China vs. the Logic of Strategy ว่าศัตรูตัวฉกาจที่จะขัดขวางการก้าวเป็นมหาอำนาจของจีน ก็คือพฤติกรรมหาเรื่องชาวบ้านของจีนเอง Luttwak เห็นว่าจีนกำลังล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในทางการทูต และเป็นความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเติบโตของจีนจะส่งผลให้ประเทศรอบข้างจับมือกันต่อต้านอิทธิพลจีนโดยธรรมชาติ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งการก้าวเป็นมหาอำนาจของเยอรมันทำให้ศัตรูคู่เดิมอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษต้องจับมือกัน และยิ่งจีนเที่ยวทะเลาะแย่งดินแดนกับชาวบ้านตามกระแสชาตินิยม ยิ่งจะชวนให้ทุกคนหวาดระแวง เพราะแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ก็ล้วนติดกับดักชาตินิยมของตนเช่นกัน เรียกว่า ต่างฝ่ายต่างก็ “ถอยไม่ได้” ทั้งนั้น

จีนไม่ใช่มหาอำนาจที่ทำตัวกร่างไปทั่วหรอกครับ จีนเพียงแต่มีมุมมองทางประวัติศาสตร์ด้านเดียว คือด้านที่สอดรับกับกระแสชาตินิยมของตัว เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ