ขอรัฐมนตรีคลังหารสอง

ขอรัฐมนตรีคลังหารสอง

เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและเครือเนชั่นกรุ๊ป จัดเวทีดีเบต 2 รัฐมนตรีคลัง

ระหว่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ในหัวข้ออนาคตเศรษฐกิจไทย โดยมีผู้เข้ารับฟังจากผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ รวมถึง สื่อมวลชนหลายแขนง

ระยะเวลาที่ยาวนานร่วม 2 ชั่วโมงของการดีเบต ไม่ได้ทำให้ความน่าสนใจของผู้เข้ารับฟังที่มีนับร้อยคนลดลงแต่อย่างใด ในทางกลับกันการตอบข้อซักถามของผู้ดำเนินรายการ และคำวิจารณ์ ที่มีลูกล่อลูกชนในหลากหลายประเด็นของทั้งสองท่าน ได้สร้างสีสันให้กับเวทีนี้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญ คำกล่าวของทั้งสองท่านที่ผู้ฟังได้รับ สะท้อนถึงความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

รัฐมนตรีคลังทั้งสองท่านเติบโตจากวงการธุรกิจตลาดทุน มีความเข้าใจในภาคธุรกิจดังกล่าวเป็นอย่างดี คุณกิตติรัตน์รับตำแหน่งสูงสุดในภาคเอกชน คือ เอ็มดีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนคุณกรณ์เป็นเจ้าของธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น ทั้งสองก้าวเข้าสู่วงการการเมืองที่ต่างกันอย่างสุดขั้วในแง่นโยบายและแนววิธีบริหาร นี่คือความเหมือนและความต่างเป็นอย่างแรก

คุณกรณ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลและวิธีบริหารงานของคุณกิตติรัตน์อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิก โดยเฉพาะนโยบายการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท คุณกรณ์วิจารณ์ว่า คุณกิตติรัตน์ทรยศต่อวินัยการคลัง เพราะเป็นการใช้เงินกู้นอกระบบงบประมาณ ขณะที่ คุณกิตติรัตน์กล่าวแย้งว่า วิธีการกู้เงินในระบบงบประมาณเพื่อลงทุนนั้น เป็นเรื่องที่ล้าสมัย เพราะมีข้อจำกัดมากมาย ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า โดยเฉพาะมีปัจจัยการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้น เขาจึงปฏิเสธข้อกล่าวหาทรยศต่อวินัยการคลัง

แต่ความกล้าที่จะลงทุนด้วยการกู้เงินนอกระบบงบประมาณถึงจำนวน 2 ล้านล้านบาทเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีรัฐมนตรีคลังวัยหนุ่มอย่างคุณกรณ์ไม่กล้าที่จะคิด เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงต่อวินัยการคลัง ขณะที่ ความกล้าเสี่ยงที่จะลงทุนด้วยเงินกู้ก้อนโต เพราะคิดว่า คุ้มค่า และ เชื่อว่า จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เป็นสิ่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีคุณกิตติรัตน์เป็นรัฐมนตรีคลัง ที่มีวัยวุฒิมากกว่าคุณกรณ์หลายปีนั้น กล้าคิด และ กล้าทำอย่างที่ไม่กลัวเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ใช้เงินของลูกหลานในอนาคต

กรณีนโยบายในการดูแลสินค้าเกษตร คุณกรณ์บอกว่า การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ขณะที่ คุณกิตติรัตน์ยืนยัน การรับจำนำข้าว จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้แก่เกษตรกรได้มีระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่วนผลขาดทุนและปัญหาการคอร์รัปชันนั้น ทั้งสองโครงการต่างก็ประสบปัญหาดังกล่าว เพียงแต่ต่างกันที่รูปแบบและจำนวนเงิน

ส่วนประเด็นดอกเบี้ยนโยบายควรปรับลดหรือไม่ ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คุณกรณ์เชื่อว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ช่วยให้เงินทุนไหลเข้าลดลง ในทางกลับกัน ยังจะทำให้เงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อลงทุนในตลาดทุน ส่วนคุณกิตติรัตน์บอกว่า ขณะนี้ เงินไหลเข้ากำลังท่วมระบบและส่งผลเสียต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การลดดอกเบี้ย เพื่อลดแรงจูงใจในการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ จึงควรเป็นแนวทางสำคัญ ขณะเดียวกัน ยังบอกด้วยว่า มีความคิดทุกวันที่จะปลดผู้ว่าการธปท.เพราะคุยกันคนละภาษา ซึ่งถือเป็นคำพูดที่แรงมากสำหรับรัฐมนตรีคลังที่มีต่อผู้ว่าธปท.

นี่คือ สองรัฐมนตรีคลังของประเทศ คนหนึ่งเป็นอดีต คนหนึ่งเป็นปัจจุบัน ทั้งสองเป็นคนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว หากนำแนวคิดของทั้งสองมาหารสอง น่าจะเกิดความสมดุลในแง่ความกล้า ที่จะนำพาเศรษฐกิจโดยไม่ทำให้ประชาชนในประเทศอยู่ในภาวะที่เสี่ยงเกินไป