ทำไมต้องลงทุน 2 ล้านล้านบาท (2)

ทำไมต้องลงทุน 2 ล้านล้านบาท (2)

ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(ซึ่งหมายถึง 7 ประเทศคือ พม่า ไทย มาเลเซีย เขมร ลาว เวียดนามและภาคใต้ของจีน) ที่กำลังพัฒนาตัวเองเป็นเขตเศรษฐกิจ ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรอย่างยิ่งที่จะเตรียมรับมือกับพัฒนาการดังกล่าวซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะสามารถวางตัวเองให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้มากหรือน้อยเพียงใด กล่าวคือ หากเห็นพ้องต้องกันว่าภูมิภาคนี้จะมีศักยภาพอย่างมากก็น่าจะเชื่อได้ว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานน่าคุ้มค่าอย่างแน่นอน

หลายคนอาจจะแย้งว่าการทำโครงการขนาดยักษ์ของรัฐบาลนั้นมักจะมีการคอร์รัปชันกันอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การสร้างสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งได้มีการตรวจพบการทุจริตเรื่องเครื่องตรวจกระเป๋า CTX และเป็นที่น่าตกใจว่าการตรวจพบนั้นเป็นการตรวจพบโดยระบบตรวจสอบของสหรัฐไม่ใช่ของไทยและผ่านมาจะ 8 ปีแล้วเท่าที่ทราบก็ยังไม่สามารถหาคนผิดมารับโทษได้ ดังนั้น หากจะมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาทแล้วจะไม่เกิดการโกงกันอีกหรือ? คำตอบคือเราก็จะต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้นได้อีก ซึ่งผมมองว่าหากมุ่งเน้นความโปร่งใส หมายความว่าข้อมูลต่างๆ ต้องเปิดเผยให้กับสาธารณชนมากที่สุดก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง คำถามต่อมาคือควรหรือไม่ที่จะไม่ทำอะไรเลย เพราะหากไม่ทำอะไรก็ย่อมจะไม่มีการคอร์รัปชัน ก็ขอให้ลองนึกตามไปว่าหากเรากลัวการคอร์รัปชันในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ตัดสินใจไม่สร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

สนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้ในปี 2006 ก่อนหน้านั้นกรุงเทพฯมีสนามบินนานาชาติแห่งเดียวคือดอนเมือง ในขณะที่มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม 43 ล้านคน ซึ่งในช่วงนั้นสนามบินดอกเมืองก็แออัดอยู่มากแล้วเพราะมีขีดความสามารถรับผู้โดยสารได้เพียง 30-35 ล้านคน ดังนั้น หากประเทศไทยไม่มีการเปิดใช้สนามบินแห่งใหม่ก็ยากที่ประเทศไทยจะสามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 51.3 ล้านคนในปี 2011 ได้ จะเห็นได้ว่าหากประเทศไทยขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมที่สำคัญเราก็จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก

สำหรับโครงการ 2 ล้านล้านบาทนั้นนอกจากจะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับโครงสร้างการขนส่งของไทยที่บิดเบือนและขาดประสิทธิภาพอย่างมาก (ตารางประกอบ) เพราะการขนส่งทางถนนนั้นมีต้นทุนสูงกว่าการขนส่งทางรางมาก ซึ่งประเทศไทยใช้ระบบรางในการขนส่งเพียง 1.3% แต่ใช้รถบรรทุกขนส่งทางถนนมากถึง 95% กล่าวคือปัจจุบันประเทศไทยมีถนนยาวประมาณ 200,000 กม.แต่มีทางรถไฟไม่ถึง 4,000 กม.และทางน้ำเพียง 5,000 กม.

ต้นทุนที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นหากลดลงได้ก็จะช่วยลดต้นทุนของสินค้าทำให้ราคาสินค้าถูกลง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งเอกชนทำเองไม่ได้เพราะเป็นการลงทุนมหาศาลที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่จะต้องพึ่งพารัฐบาล แต่จะสามารถให้เอกชนมีส่วนในการลงทุนบางส่วนได้

นอกจากนั้น การพึ่งพาการขนส่งทางถนนทำให้เกิดการสูญเสียจากอุบัติเหตุสูงมาก ประเทศไทยมีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 10,000 คนต่อปี ขณะที่มีการเสียชีวิตทางรางไฟ 200 คนต่อปี โดยธนาคารโลกประเมินว่ามูลค่าความเสียหายจากอุบัติเหตุในไทยสูงถึง 232,000 ล้านบาทต่อปี (โดยเฉลี่ยความเสียหายจากผู้เสียชีวิต 1 คนประมาณ 5.3 ล้านบาท) กล่าวคือหากเราใช้ระบบขนส่งทางรางที่ปลอดภัยกว่าและสามารถลดความเสียหายลงไป 20% ต่อปี ก็จะทำให้ลดความสูญเสียหรือความเสียหายคิดเป็นมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท นอกจากนั้น การลดมลภาวะโดยหันมาใช้ระบบราง (ที่ไม่ต้องใช้รถยนต์และรถบรรทุกเป็นจำนวนหลายหมื่นคัน) จะช่วยลดโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากมลภาวะที่จะลดค่ารักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันประมาณ 7,200 ล้านบาทต่อปี การลดความเสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นประโยชน์สุขกับประชาชน ทำให้รัฐควรลงทุนในการปรับโครงสร้างระบบคมนาคม แม้ตัวเลขเชิงพาณิชย์จะให้ผลตอบแทนต่ำ (หรือขาดทุน) เพราะจะมีกำไรทางเศรษฐกิจในภาพรวม ตรงนี้จะเห็นได้ว่าหากรัฐบาลไม่ลงทุนก็จะไม่มีใครลงทุนเพราะประโยชน์ที่ตกกับส่วนรวม (เช่น การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน) นั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลกำไรต่อเอกชนที่ลงทุน ดังนั้น เอกชนจึงจะไม่สามารถนำเสนอบริการดังกล่าวตามกลไกตลาดเสรีได้

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์กับประเทศนั้นจะต้องอาศัยรัฐบาลเป็นผู้วางแผนและนำการลงทุนด้วยเหตุผลหลักๆ ดังนี้

1. โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นย่อมเป็นเรื่องระยะยาวที่เอกชนจะไม่สามารถมาเป็นผู้ชี้นำได้ ต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลนำเสนอเป็นแผนระดับชาติ ซึ่งเรื่องนี้สามารถถกเถียงกันได้หากมีฝ่ายใดเห็นว่ามียุทธศาสตร์อื่นใดที่สำคัญและเร่งรีบมากกว่าการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศให้ลดการพึ่งพาถนนมาเป็นการพึ่งพาราง

2. การลงทุนระยะยาวที่มีความเสี่ยงสูงนั้นแน่นอนว่ารัฐบาลจะสามารถกู้เงินมาลงทุนได้ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเอกชน แต่รัฐบาลเองก็ยังต้องลงทุนให้รอบคอบและได้ผลตอบแทนสูงสุดเพื่อให้เป็นภาระกับประชาชนน้อยที่สุด และแม้ว่ารัฐบาลจะต้องสร้างหนี้สินจำนวนมาก แต่หากลงทุนในโครงการที่คุ้มค่า ก็เท่ากับรัฐบาลได้สร้างสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ใช้ประโยชน์อีกหลายสิบปี เท่ากับว่างบดุลของประเทศจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะมูลค่าสินทรัพย์จะเพิ่มพูนและมีรายได้เกินกว่าหนี้สิน

3. ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่นั้นเป็นประโยชน์ที่ตกอยู่กับส่วนรวม ซึ่งภาคเอกชนไม่สามารถตักตวงมาเป็นผลกำไรได้ เช่น การลดมลภาวะและการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางท้องถนน ดังนั้น รัฐบาลจึงจะต้องมีบทบาทในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลนำเสนอนั้นผมไม่ได้เป็นห่วงว่าจะมีการรีบกู้เงินและใช้เงินเป็นจำนวนมากจนกระทั่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างฉับพลัน เพราะเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนตรวจสอบอยู่มากและมีหลายกลุ่มแสดงท่าทีคัดค้าน ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าจะมีการตรวจสอบในทุกขั้นตอน โดยปกติการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของไทยนั้นใช้เวลาอย่างมาก เช่น สนามบินหนองงูเห่า (สุวรรณภูมิ) นั้นเป็นโครงการที่นำเสนอมา 50 ปีแล้ว เช่นเดียวกับระบบ 3 จีที่ไทยกำลังจะได้ใช้เต็มรูปแบบเพราะเพิ่งให้สัมปทานเอกชน ขณะที่โลกเขาก็กำลังจะไปใช้ 4 จีแล้วครับ