โจทย์ที่ยังไม่ตอบของทีวีสาธารณะ

โจทย์ที่ยังไม่ตอบของทีวีสาธารณะ

รู้สึกว่าสองเดือนที่ผ่านมา สถานีทีวีสาธารณะแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยอย่างไทยพีบีเอสนั้นจะเจองานเข้าอย่างไม่ขาดสาย

นับตั้งแต่กรณีการประท้วงเนื้อหาข่าวเด่นประเด็นใต้ ไปจนถึงกรณีการงดออกอากาศรายการตอบโจทย์ ซึ่งทำให้สถานีแห่งนี้จำเป็นต้องทบทวนบทบาทของตัวเองเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติศรัทธาที่สั่งสมมากว่า 4-5 ปี

แน่นอนว่า การมีทีวีสาธารณะนับเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่คุ้นเคยและมีพฤติกรรมการชมที่ยังคงยึดติดกับทีวีพาณิชย์มาอย่างนมนาน แต่จากจุดเริ่มต้นจนดำเนินการมาถึงขวบปีที่ 5 นี้ สถานีโทรทัศน์ช่องนี้ก็ได้สะท้อนความต่างของเนื้อหาและวิธีคิดที่ไม่เหมือนทีวีพาณิชย์ทั่วไปอย่างเด่นชัด ซึ่งแม้หลายๆ คนจะมองว่า เนื้อหาออกจะติดแนวเอ็นจีโอไปสักหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ไม่แย่มากนัก เมื่อเทียบกับที่ได้รับชมกันอย่างกลาดเกลื่อนในบรรดาทีวีพาณิชย์

ด้วยการดำเนินงานของทีวีสาธารณะที่ถูกออกแบบมาให้พึ่งพาเงินภาษี (บาป) จากประชาชน ทำให้งบประมาณสองพันกว่าล้านถูกผันให้มาหล่อเลี้ยงสถานีแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างวัฒนธรรมองค์การในรูปแบบที่ให้สาธารณชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าเข้าเจ้าของสถานีแห่งนี้ ดังนั้น เมื่อเนื้อหาข่าวหรือรายการใดๆ กระทบต่อสังคมอย่างยิ่งยวดแล้วละก็ การถูกตรวจสอบโดยสาธารณชน ทั้งที่ดูและไม่ได้ดูไทยพีบีเอสจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ โดยหลักการของทีวีสาธารณะในมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศ ที่ระบุหลักการสากลอย่างองค์กรยูเนสโกนั้น ได้ระบุให้เห็นว่าทีวีสาธารณะจำเป็นต้องธำรงไว้ซึ่งกรอบการจัดตั้งและการทำหน้าที่ 4 ประการหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. Universality คือการครอบคลุมและเข้าถึงประชาชนผู้ชมอย่างทั่วถึง โดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เทคโนโลยี ข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจำกัดด้านเนื้อหาเป็นตัวกีดกันการเข้าถึงสื่อสาธารณะของประชาชน ซึ่งแม้ในข้อนี้จะไม่ได้หมายความให้ทีวีสาธารณะกระชากเรทติ้งแข่งกับทีวีพาณิชย์ก็ตาม แต่โดยหลักแล้วเนื้อหาในทีวีสาธารณะควรรองรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ในระดับมวลชน สามารถย่อยเนื้อหายากๆ ให้ง่ายแก่การเข้าใจของสาธารณชนได้

2. Diversity คือความหลากหลายของเนื้อหารายการและประเภทรายการที่นำเสนอ ความหลากหลายของคนดูกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงความหลากหลายของเนื้อหาที่ถกเถียงในสื่อสาธารณะ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หมายความถึงการที่สื่อสาธารณะควรให้พื้นที่สื่อกับคนกลุ่มน้อย ซึ่งไม่มีสิทธิมีเสียงหรือไม่มีกำลังซื้อพอที่จะมีพื้นที่ในสื่อเชิงพาณิชย์ด้วย เพราะสื่อสาธารณะคือการทำให้สื่อกลายเป็นปริมณฑลสาธารณะที่ตอบโจทย์การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายให้เกิดขึ้นในสังคมให้มากที่สุด

3. Independence คือการที่สื่อมวลชนต้องเป็นอิสระจากการชี้นำหรือการเป็นเจ้าของของรัฐบาลหรือกลุ่มทุน เพื่อให้เนื้อหาที่นำเสนอในสื่อสาธารณะเป็นอิสระจากการครอบงำของกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น การหารายได้ของสื่อสาธารณะส่วนใหญ่จะมาจากภาษีทีวีที่เก็บจากผู้ชมโดยตรง หรือในกรณีของไทยพีบีเอสที่เก็บจากภาษีสรรพสามิตเหล้า บุหรี่นี้ ก็คือการออกแบบอิสรภาพทางการเงินขององค์การให้ตอบสนองประชาชนคนรับสารได้อย่างเป็นอิสระและคล่องตัว ปลอดการแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มทุน

4. Distinctiveness คือความโดดเด่นของบริการของสื่อสาธารณะที่ควรแตกต่างและโดดเด่นกว่าสื่อเชิงพาณิชย์ ทั้งในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบรายการ และเนื้อหารายการ เพื่อให้ตอบโจทย์ได้ว่า การที่สังคมมีทีวีสาธารณะ ซึ่งมีอภิสิทธิ์ในการใช้ภาษีของประชาชนในการบริหารงานนั้น สามารถนำความแตกต่างและสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับคนดูในสังคมได้

จากหลักการทั้ง 4 ประการดังกล่าวในข้างต้น น่าจะเป็นกรอบในเชิงหลักการที่กำหนดทิศทางของทีวีไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในกรณีของวิกฤติศรัทธาที่เกิดขึ้นจากทั้งสองกรณีตัวอย่างที่กล่าวมาในข้างต้น พบว่า สำหรับกรณีแรกดูจะเป็นการนำเสนอข่าวในประเด็นที่มีความอ่อนไหวกับทั้งด้านความมั่นคงและวัฒนธรรม ซึ่งต้องใช้วิจารณญาณในการนำเสนอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับแหล่งข่าวและผู้ที่ตกเป็นข่าว โดยการเล่าเรื่องเนื้อหาข่าวที่ออกแนวสกู๊ปเจาะลึกอาจนำไปสู่การชี้นำสังคมที่สร้างความเข้าใจผิดได้ อันส่งผลให้มีบรรดากลุ่มตัวแทนนิสิต นักศึกษาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยื่นหนังสือประท้วงการรายงานข่าวต่างๆ ที่ส่งผลในแง่ลบต่อพวกเขาในฐานะที่ถูกตีความว่าเป็นผู้ต้องหา ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับกรณีที่สอง อันนี้ถือเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ เนื่องจากเป็นการจัดรายการในประเด็นที่อ่อนไหวกับสังคมไทยเช่นกัน ซึ่งแม้รูปแบบรายการจะไม่มีการฟันธงว่าใครถูกใครผิด ใครดีใครเลวไปกว่ากัน แต่ด้วยการเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่ง ส่งผลให้สถานีตัดสินใจ "เลื่อน" การออกอากาศรายการตอบโจทย์ออกไป ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนพันธุ์แท้ไทยพีบีเอสไปหลายคนแล้ว หากยังส่งผลให้ผู้ผลิตรายการดังกล่าวประกาศถอนตัวจากการทำรายการป้อนให้สถานี พร้อมตามมาด้วยสงครามน้ำลายบนโลกออนไลน์ระหว่างผู้ผลิตรายการดังกล่าวและคนภายในสถานีอีกมากมาย พ่วงไปกับกระบวนการสอบสวนและการโหนกระแสของกลุ่มการเมืองที่ต้องการจะจัดหนักจัดเต็มกับข่าวดังกล่าวเพื่อที่จะชี้นำและเบี่ยงเบนประเด็นให้คนไปสนใจ "ตอบโจทย์" มากกว่าเรื่องของตัวเองในสภาฯ

ณ จุดนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติศรัทธาขององค์กรได้เกิดขึ้นแล้ว กระแสการเมืองต่างรุมกดดันให้สถานีแห่งนี้ตอบโจทย์ท่ามการแบ่งขั้วแบ่งสีที่รุนแรง ซึ่งหลักการของสื่อสาธารณะที่นำเสนอในข้างต้นน่าจะเป็นทางรอดและคำตอบที่ยั่งยืนให้แก่สถานีได้ไม่มากก็น้อย