สอนสมอง

สอนสมอง

คนทำงานวันนี้ ล้วนมีเรื่องมากมายที่ท้าทายให้ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันประเด็นหนึ่งซึ่งคนส่วนใหญ่ยกให้ว่า “หิน” กินไม่ลงคือเจ้าความเปลี่ยนแปลง

ที่เหมือนมาแกล้งเราบ่อยขึ้น แรงขึ้น จนอยากเลิกคบ แต่เขาก็ไม่ยอมจบ จนมืออาชีพต้องหาวิธีสยบเขาเป็นเรื่องเป็นราว

ในวงการบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management มีผู้รู้ หรือ กูรูมากมาย ไล่ตั้งแต่ John Kotter อาจารย์มหาวิทยาลัย Harvard ที่ทั้งเขียนตำราและเป็นที่ปรึกษาบริษัทดังๆในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆในองค์กร Michael Porter กูรูจากสถาบันเดียวกัน ผู้ผลักดันให้องค์กรขยับ โดยการปรับกลยุทธ์ หรือ David Ulrich เจ้าพ่อวงการบริหารคน จาก University of Michigan ซึ่งเป็นเซียนในเรื่องความท้าทาย ว่าทำอย่างไรคนในองค์กรจึงจะขยับ ปรับไปตามความเปลี่ยนแปลง

วันนี้ ดิฉันขออนุญาตเสริมแนวทางการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องเข็ญใจ ท้าทายทุกเวลา

จะเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนเป้าหมาย เปลี่ยนระบบ กี่ตลบ ก็ทำได้...ไม่ยากมาก

แต่จะให้คนทำใจ ปรับความเคยชิน ทิ้งพฤติกรรมเดิมๆ เพื่อเสริมองค์กร โดยการปรับตัว และวิถีทางทำงานนั้น...ไม่ง่าย

ในช่วงหลัง จึงมีผู้สนใจ ให้ความสำคัญในแง่สมองและระบบประสาท หรือ Neurology เพื่อทำความเข้าใจ และ โยงใยในเรื่องการเปลี่ยนแปลง กูรูชื่อดังในเรื่องนี้ มีอาทิ Edward de Bono ผู้จบสายแพทย์ และผันตนเป็นกูรูผู้ที่ศึกษาวิชาเกี่ยวกับความคิดและสมอง เพื่อให้ลองมองหาทางที่สร้างสรรค์ และ David Rock อาจารย์และที่ปรึกษาดัง ผู้ริเริ่มใช้คำ NeuroLeadership หรือศาสตร์ของการนำโดยใช้ความเข้าใจเรื่องระบบประสาทและพฤติกรรมมนุษย์
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง “นิสัย” ของสมอง

สมองทั้งฉลาดและขี้เกียจในเวลาเดียวกัน เขาไม่ชอบคิดและทำอะไรใหม่ๆ เพราะต้องใช้พลังมาก สั่งให้กายทำสิ่งที่ซ้ำๆ สิ่งที่ทำประจำ ทำง่าย เพราะเขาจะใช้ระบบที่บรรจงสร้างไว้ จนกลายเป็นกึ่งอัตโนมัติ

เราจึงไม่ชอบทำอะไรที่ไม่ชิน แม้หลายครั้งจะรู้ว่าสิ่งนั้นควรทำ รู้ทั้งรู้ว่าดีกว่า หรือแม้รู้ว่าอย่างไรก็ต้องทำ ว่าจำเป็น ไม่ทำไม่ได้ ก็ตามที

อย่าว่าแต่ปรับพฤติกรรมในที่ทำงานที่ “เขาว่าดี” กับองค์กรเลย แม้ปรับพฤติกรรมส่วนตัว ที่ต้องทำเพราะสำคัญถึงชีวิต คนก็ยังติดกับ ปรับยาก

ตัวอย่างเช่น การติดตามวิจัยพฤติกรรมของผู้สูบบุหรี่ โดย สถาบันแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของสหรัฐ ฟันธงว่า แม้จะมีผลวิจัยชัดเจนว่าการสูบบุหรี่ทำให้ชีวิตผู้สูบ (รวมถึงคนรอบข้างซึ่งถือเป็นผู้สูบมือสอง) สั้นลงกว่า10 ปี คนสูบบุหรี่ 70% อยากเลิก แต่เอาเข้าจริงๆ แค่ 7.9% เท่านั้นที่ฝืนและยืนหยัดสู้กับตนเองจนเลิกได้สำเร็จ

เหตุหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ คือ เจ้าสมองตัวดีของเรา ที่เฝ้าดึงให้เราทำอะไรที่เคยชินนั่นเอง

วิธีการหนึ่งซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและพฤติกรรมมนุษย์แนะนำในการ “จัดการ” กับสมอง คือ ต้องช่วยปรับไม่ให้เขาตื้อตัน เมื่อคิดอะไรไม่ทัน ก็เอาง่ายเข้าว่า เพราะขี้เกียจหาทางอื่น

สมองของคนเราเป็นอวัยวะมหัศจรรย์ ที่มีพลังลึกล้ำ และศักยภาพมหาศาล แต่มนุษย์ทั่วไป ยังไม่ได้มีโอกาสใช้เขาอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็น เพื่อการแก้ปัญหา เพื่อจรรโลงความคิดสร้างสรรค์ หรือเพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลง

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เราใช้เขาไม่คุ้ม เพราะเราต่างมะรุมมะตุ้มสมองของตนด้วยวิธีการต่างๆ ที่ล้วนสร้างอุปสรรค ทั้งกักพลังเขา ทั้งทำให้เฉา ทำเอาจนลีบ ตีบตัน

พฤติกรรมทำร้ายสมองที่สำคัญ คือ วิธีการดำรงชีวิตในปัจจุบัน นอกเหนือจากมลภาวะที่เป็นพิษ คนยังใช้สารเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ เหล้า หรือยา ที่ล้วนกระหน่ำทำร้ายสมอง ทั้งยังย่ำยีอวัยวะนี้ด้วย ความเครียด นอนน้อย กินมั่ว ไม่ออกกำลังกาย ไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ สมองจึงกราบขออภัย ว่ารับไม่ไหว ขอฝ่อดีกว่า

วันนี้ เรามาเริ่มด้วยวิธีพื้นฐานในการสอนสมองกันค่ะ

Dr. Andrew Weil แพทย์ชาวสหรัฐผู้โด่งดังเรื่องการรักษาสุขภาพ โดยการผสมผสานการแพทย์ยุคใหม่กับศิลปะและปรัชญาหลากหลายของการดำรงชีวิต แนะนำให้ผู้ที่รักสมอง เร่งใส่ใจในปัจจัยเหล่านี้

เติมอาหารสมอง โดยเฉพาะปลาที่มีสารโอเมก้า 3 อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เน้นผักและผลไม้ทุกสีทุกวัน ยิ่งหลากสียิ่งดีเพื่อความสมบูรณ์และความสมดุลของสารอาหาร

ออกกำลังกาย ต้องออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิคครั้งละ 1 ชั่วโมง อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อทำให้หัวใจแข็งแรง และส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพสมอง

พักผ่อนให้เพียงพอ โดยนอนวันละ 8 ชั่วโมง คนทำงานส่วนใหญ่นอนน้อยกว่า 8 ชั่วโมงเป็นกิจวัตร ส่งผลให้เกิดความล้า และความเสื่อมถอยของทั้งร่างกายและสมองก่อนวัยอันควร

ทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว ในประเด็นนี้ เราคนไทยน่าจะคุ้นเคยกว่าฝรั่ง เพราะอยู่ในวิถีพุทธที่อบอวลด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ ยามเจอการเปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีสติมั่นคง จะปลงได้อย่างรู้จริง ว่าทุกสรรพสิ่ง มันเป็นเช่นนั้นเอง

สัปดาห์หน้า มาคุยกันต่อถึงวิธีสอนสมองให้เขาช่วยเรา ยามเจอวิกฤติ ชีวิตต้องพลิกผัน จะได้ไม่ทิ้งกันง่ายๆค่ะ