อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ของทีวีสาธารณะในสังคมไทย

อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต ของทีวีสาธารณะในสังคมไทย

เวลามีปัญหาร้ายแรง หรือวิกฤติการณ์ ผู้มีปัญญามักมองว่าคือโอกาสแห่งการทดสอบศักยภาพและคุณค่าว่าจะอยู่ได้ยั่งยืนเพียงไร

สำหรับภาคส่วนใหม่แห่งสื่อมวลชนของไทยอย่างทีวีสาธารณะ หนึ่งเดือนที่ผ่านมาถือว่าเป็นบททดสอบที่สำคัญ ทั้งสำหรับบทบาทในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

กรณีแรกที่เป็น ทอลค์ ออฟ ทาวน์ และ กลายเป็น ดราม่ากลายๆ ไปแล้วคือ รายการตอบโจทย์ประเทศไทย ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งอาจหาญมาทำซีรี่ย์ในประเด็นที่มีความอ่อนไหวสูงในสังคมไทย นั่นก็คือ ประเด็น “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” และมีแขกรับเชิญที่ล่อแหลมอย่างยิ่งอย่าง นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยคนแรกเคยถูกฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและต้องลี้ภัยไปต่างแดนหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่คนหลังก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในแกนนำของ “ค่ายล่มเจ้า” มาร่วมรายการด้วย

จริงๆ ตอนที่ซีรีย์รายการนี้ซึ่งมีทั้งหมด 5 ตอน ยังคงดำเนินอยู่ นับว่าได้รับความสนใจพอสมควรทีเดียว โดยดูจากกระแสที่แลกเปลี่ยนกันในเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ทางไทยพีบีเอสเองก็โปรโมทตลอดด้วยทีเซอร์ (ตัวอย่างรายการขนาดสั้นที่ออกมาดึงดูดให้เกิดความสนใจ) ทั้งก่อนหน้ารายการออกอากาศและช่วงระหว่างนั้นเพื่อระดมเรทติ้ง จนกระทั่งเกิดการงดออกอากาศไปในวันศุกร์ที่ 15 มี.ค. 2556 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย โดยหน้าจออ้างถึงมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ที่ว่าด้วยเรื่องการผลิตรายการที่ขัดต่อจริยธรรมวิชาชีพขององค์กร

เมื่อนั้นเอง รายการตอบโจทย์ก็ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนประมาณเดียวกับ ละคร “เหนือเมฆ 2” ทางช่อง 3 ในแง่ที่ว่าการถูกเซนเซอร์มีนัยทางการเมืองหรืออย่างไร ซึ่งตอนแรกรูปการณ์ก็ออกมาว่าน่าจะเป็นประเด็นคุกคามสื่อมากกว่าเพราะมีกลุ่มคนที่ใช้ชื่อ “คนไทยหัวใจรักชาติ” มากดดันไม่ให้ออกอากาศตอนสุดท้ายถึงสถานี และผู้อำนวยการสถานีคือ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ก็อ้างว่าจำเป็นต้อง “ชะลอ” การออกอากาศไปเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ต่อมาไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทางทีมผู้ผลิตรายการตอบโจทย์ นำโดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ซึ่งเป็นพิธีกรและผู้ผลิตอิสระก็มาพลิกประเด็นให้เป็นเรื่อง ความไม่เป็นมืออาชีพและการแทรกแซงของ “คนข้างใน” ไทยพีบีเอส ด้วยการขอยุติการผลิตรายการให้สถานี พร้อมกับยืนยันเจตนารมณ์เรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะให้ประเด็นเรื่องพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องที่พูดถึงอภิปรายกันได้อย่างเปิดเผยด้วยเหตุผลในสังคมไทย อย่างไรก็ดี อีกเพียงสามวันต่อมา ทางไทยพีบีเอสก็ออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอนที่เหลืออยู่ ในเวลาเดิม หลังกรรมการนโยบายออกแถลงการณ์อีกรอบว่าต้องเร่งออกอากาศเพื่อเยียวยาผู้ชม และการตัดสินใจชะลอการออกอากาศไปก่อนหน้านี้ผิดข้อบังคับจริยธรรมในเรื่องการรักษาความเป็นอิสระขององค์กร ทว่าด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยก็รับฟังได้

กรณี “ตอบโจทย์” น่าจะเลือนรางบางเบาลงจากความสนใจของสังคมขี้ลืมแบบสังคมไทยเหมือนกรณีของเหนือเมฆ หากไม่มีมือของ “ผู้หวังดี” อย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาช่วยตีฆ้องร้องป่าวว่า จะเปิดโต๊ะรับแจ้งความต่อรายการนี้ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประเด็นก็เลยย้อนไปสู่เรื่องเนื้อหาที่รายการนำเสนอว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายโดยเฉพาะมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ แม้แต่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ก็ต้องตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาพิจารณาว่าเนื้อหารายการนี้ผิดมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ว่าด้วยเนื้อหาล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ กระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือไม่ อย่างไร

แต่ที่น่าสนใจก็คือ จนถึงปัจจุบัน ทางไทยพีบีเอสรับรู้ว่าถูกฟ้องในข้อหาเดียวคือ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยเป็นการฟ้องผู้อำนวยการสถานี และ คณะกรรมการนโยบายทั้ง 9 คน แต่ไม่มีการฟ้องทีมงานตอบโจทย์เลยแม้แต่คนเดียว กรณีนี้เลยนำไปสู่เงื่อนงำใหม่ว่า ฤๅจะมีอะไรในกอไผ่มากไปกว่าเรื่องเนื้อหาหมิ่นสถาบันฯหรือไม่ ถ้ามองอย่างทฤษฎีสมคบคิดก็อาจมีแผนการเหนือเมฆเพื่อ “จัดการ” กับไทยพีบีเอส ในช่วงที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ และหากพิจารณาย้อนไปไหนอดีตถึงที่มาของทีวีสาธารณะช่องนี้ ก็จะยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่าทำไม

ไทยพีบีเอส ถือกำเนิดมาเป็นสถานีทีวีสาธารณะช่องแรกของเมืองไทยในช่วงการเปลี่ยนขั้วอำนาจที่สำคัญทางการเมือง หลังเหตุการณ์รัฐประหารใน พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งทำให้เกิดองค์กรแห่งนี้ผ่านเป็นกฎหมายโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งเป็นผู้ทำการรัฐประหาร โดยอาศัยโมเดลที่พัฒนาจากการวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศที่ยึดคืนมาจาก สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่ถูกศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไปก่อนหน้านั้นว่าผิดสัญญาสัมปทานต่อ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ผู้ถือครองคลื่นและเจ้าของสัมปทาน สถานีไอทีวีก่อนหน้านั้นถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นสมบัติของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนหุ้นของชินคอร์ปอเรชั่นจะถูกขายไปให้ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ของสิงคโปร์ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2549


สำหรับหลายคนที่เฝ้ารอให้มี “ทีวีแบบบีบีซีในเมืองไทย” และให้มีทางเลือกด้านเนื้อหาในฟรีทีวี นอกเหนือไปจาก ละคร และเกมโชว์ ก็มองว่าการเกิดขึ้นของไทยพีบีเอสเป็นนิมิตหมายที่ดี แม้ว่าจะได้มาภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนักก็ตาม แต่สำหรับบางคน การเกิดขึ้นของไทยพีบีเอสคือการพยายามสร้างกำลังให้กับขั้วอำนาจด้านอนุรักษนิยมในสังคมไทย ที่เน้นวาทกรรมสังคมที่ดีงาม ปลอดภัย หรือ “มีสุขภาวะ” แต่จริงๆ ก็ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนฐานอำนาจเก่า ยิ่ง พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 เขียนไว้ซับซ้อนรัดกุมเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระขององค์กรและคนทำงานจากการแทรกแซงเพียงใด ก็ยิ่งทำให้ไทยพีบีเอสดูจะเป็นเสี้ยนหนามที่มีพลังมากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สมมติฐานในทำนอง “แค้นนี้ต้องชำระ” จึงอาจไม่ได้ไกลเกินความจริงเกินไปในกรณีนี้

นอกจากกรณีไทยพีบีเอสแล้ว ยังมีอีกกรณีหนึ่งซึ่งสะท้อนถึง ผลสืบเนื่องจากการออกกฎหมายในในอดีตต่ออนาคตของทีวีสาธารณะ ก็คือ กรณีที่ กสทช. โดยบอร์ดเล็กคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติเสียงข้างมากให้กำหนดแนวทางพิจารณาการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัลสาธารณะ) จำนวน 12 ช่อง ให้สิทธิการออกอากาศกับผู้ประกอบการรายเดิม 3 ราย คือ ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส รวม 4 ช่อง และรายใหม่อีก 8 ช่องโดยไม่มีเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติที่ชัดเจนและไม่มีการทำประชาพิจารณ์ มติดังกล่าวได้นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมตลอดจนการคัดค้านอย่างกว้างขวางจากฝั่งวิชาชีพและวิชาการ ทั้งนี้ หากดูถึงที่มาก็จะพบว่า พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ผ่านเป็นกฎหมายโดย สนช. เหมือน พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส มีส่วนไม่มากก็น้อยในการช่วยล็อกสเปกให้ขาใหญ่รายเดิมอย่าง ไทยพีบีเอส ช่อง 5 และ ช่อง 11 เข้าถึงใบอนุญาตแบบไม่เหนื่อยยาก เพราะตามมาตรา 10 ของกฎหมายแบ่งประเภทกิจการสาธารณะไว้เป็นสามประเภทย่อย สรุปรวมๆ ได้เป็น 1) สาธารณะเพื่อการเรียนรู้และคุณภาพชีวิต 2) สาธารณะเพื่อความมั่นคง และ 3) สาธารณะเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐกับประชาชน จึงเป็นฐานให้สามารถตีความได้อย่างไม่ขัดเขินว่า ทั้งสามช่องดังกล่าวจะสามารถลงตามล็อกหนึ่งสองและสามได้ตามลำดับ

การตีความกฎหมายแบบฉวยโอกาสดังกล่าวนอกจากจะไม่เคารพเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการปฏิรูปสื่อแล้วยังอาจจะเป็นการสร้างภาวะคุกคามต่ออนาคตของทีวีสาธารณะมากกว่าจะเป็นผลดี และน่าจะละเลยประเด็นสำคัญบางอย่างเช่นว่า หากรายการของสถานีเหล่านี้ไม่ได้สนองประโยชน์สาธารณะจริง โดยเฉพาะในส่วนของสาธารณะเพื่อความมั่นคงที่อนุญาตให้หารายได้ได้ และถ้าทำเนื้อหาไม่ได้ต่างจากทีวีพาณิชย์ ก็อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการเรียกร้องในอนาคตให้ลดสัดส่วนการจัดสรรคลื่นของกิจการบริการสาธารณะลงได้เพราะไม่ได้มีกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำไว้เหมือนกิจการบริการชุมชน

บางที กสท. น่าจะไปศึกษาประวัติไอทีวีดูบ้าง จะได้รู้ว่าคลื่นความถี่กับสถานีโทรทัศน์ก็ไม่ใช่สิ่งที่จีรังเสมอไป