ไวไฟนอกบ้าน

ไวไฟนอกบ้าน

การเดินทางท่องเที่ยวในทุกวันนี้มีเรื่องหนึ่งที่เราต้องใช้งานมากกว่าแต่ก่อนคือการใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยผ่านเครือข่ายไร้สาย

หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าไวไฟ จะไปไหนต่อไหนก็ยังต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อไม่ให้ขาดการติดต่อทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องการงาน ไวไฟนอกบ้านจึงเป็นที่พึ่งพาอย่างหนึ่งในยามที่ต้องเดินทาง โดยที่หลายคนไม่รู้ว่าทุกวันนี้มีคนไม่ดีใช้ช่องทางผ่านไวไฟมาเล่นงานเราได้สารพัดอย่าง วันใดที่คิดจะใช้ไวไฟนอกบ้าน ก่อนใช้ขอให้หยุดคิดสักนิดก่อนที่จะเชื่อมต่อใช้งาน ระลึกไว้เสมอว่าของฟรีที่ปลอดภัยนั้นหายากยิ่งนัก และไวไฟนอกบ้านไม่ได้มีแต่คนดีมาใช้ร่วมกับเรา คนไม่ดีก็มีเหมือนกัน

เมื่อจะใช้ไวไฟนอกบ้านให้เลือกใช้บริการที่เชื่อได้ว่าปลอดภัยมากที่สุดก่อน บริการไวไฟที่น่าจะเชื่อว่าปลอดภัยแน่ๆ คือบริการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เราใช้บริการกันอยู่แล้ว เคยใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ให้บริการรายใด ก็ควรใช้ไวไฟนอกบ้านของรายนั้นก่อน ไวไฟของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือมีขั้นตอนการดูแลความปลอดภัยที่ดีพอสมควร เพราะอย่างน้อยที่สุดผู้ให้บริการต้องสามารถกำหนดปริมาณการใช้งานตามปริมาณและมูลค่าที่ผู้ใช้ได้ตกลงเลือกไว้ตั้งแต่เริ่มขอเปิดบริการ ดังนั้น ใครจะมาใช้งานก็ต้องมีขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ทราบกันก่อนว่าเป็นใครแน่ๆ คนไม่ดีที่ตั้งใจจะปลอมตัวหรือล่อลวงเราผ่านไวไฟนี้ อย่างน้อยก็มีการบันทึกการใช้งานของคนไม่ดีนั้นไว้กับผู้ให้บริการ มีเรื่องไม่ดีใดๆ เกิดขึ้นก็พอหาร่องรอยที่ทิ้งไว้ในระดับที่พอจะใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการหาตัวคนไม่ดีนั้นได้ ไวไฟนอกบ้านก็จริง แต่เป็นนอกบ้านภายใต้ผู้ให้บริการที่ใช้งานคุ้นเคยอยู่แล้ว ยอมเสียค่าบริการเพิ่มหรือเลือกโปรโมชั่นที่ใช้งานไวไฟได้ไม่จำกัด จะช่วยให้ใช้ไวไฟนอกบ้านได้สบายใจมากขึ้น เสียเงินเพื่อป้องกันสารพัดภัยที่อาจเกิดขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ตน่าจะดีกว่าเสียเงินเพื่อแก้ไขความเสียหายจากภัยเหล่านั้น

ถ้าหาไวไฟของผู้ให้บริการมือถือของเราในพื้นที่นั้นไม่ได้ ให้เลือกไวไฟที่มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายไวไฟนั้น เครือข่ายใดมีสัญลักษณ์รูปกุญแจปรากฏให้เห็น แสดงว่าเครือข่ายนั้นค่อนข้างที่จะปลอดภัย จะเชื่อมต่อใช้งานอินเทอร์เน็ตต้องขอชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านจากเจ้าของไวไฟนั้น ขอให้ระวังด้วยว่าอาจมีคนไม่ดีวางกับดักให้เราใช้ไวไฟที่ไม่ปลอดภัยเพื่อฉวยโอกาสคัดลอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่มีการส่งผ่านไวไฟนั้น แล้วนำไปใช้งานในทางไม่ดีนานาประการ กับดักอย่างง่ายๆ คือเลียนแบบชื่อเครือข่ายไวไฟให้คล้ายๆ กับไวไฟของสถานที่นั้น ถ้าไม่ดูให้ดีก็จะเผลอเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายกับดักนั้น แล้วสูญเสียข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญทั้งที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ตและที่บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เครือข่ายกับดักเหล่านี้ทำให้ดูเหมือนว่ามีความปลอดภัย มีหน้าจอให้ใส่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน แต่จริงๆ แล้วใส่อะไรมาก็ยอมให้เชื่อมต่อได้ทั้งหมด

ก่อนเชื่อมต่อไวไฟนอกบ้านอย่าลืมสอบถามเจ้าของไวไฟนั้นก่อนว่าใช้ชื่ออะไรบ้าง ชื่อใดใช้ได้ในบริเวณใดบ้าง เพราะหลายแห่งสร้างเครือข่ายแยกเป็นส่วนๆ ในพื้นที่นั้น แทนที่จะเป็นเครือข่ายเดียวกันทั้งพื้นที่ ถ้าหาไวไฟที่ปลอดภัยไม่ได้ อย่าจำใจใช้ไวไฟที่ไม่ปลอดภัยเด็ดขาด อย่านึกเองว่าใช้แค่ไม่กี่นาทีคงไม่เป็นไร เวลาไม่กี่นาทีนั้นหมายถึงการทำงานของคอมพิวเตอร์นับล้านคำสั่ง อย่าหลงดีใจกับไวไฟฟรีที่ไม่มีกลไกรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลของเราเด็ดขาด ถ้ามีเรื่องสำคัญจริงๆ ขอให้ยอมใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่อาจจะช้าไปบ้าง แต่ปลอดภัยกว่า

ไวไฟที่ปลอดภัยนั้นหมายถึงเพียงแค่ข้อมูลที่เราส่งหรือรับผ่านไวไฟนั้นไปยังอินเทอร์เน็ตมีการเข้ารหัสไว้ไม่ให้คนอื่นอ่านรู้เรื่อง ซึ่งเว็บหลายเว็บก็มีบริการเช่นเดียวกันนี้ด้วย แทนที่จะขึ้นต้นด้วย http เว็บเหล่านี้จะขึ้นต้นด้วย https ข้อมูลที่รับส่งมาจากเว็บนี้จะมีการเข้ารหัสไม่ให้คนอื่นอ่านรู้เรื่อง ดังนั้น ถ้าจะดูเว็บใดในขณะที่ใช้ไวไฟสาธารณะ ก็ลองพิมพ์ https นำหน้าชื่อเว็บนั้นดูก่อน เว็บที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้งานกันสามารถให้บริการเว็บที่มีการเข้ารหัสนี้ได้ แต่การใช้งานไวไฟสาธารณะยังมีความเสี่ยงในด้านอื่นอยู่อีก เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมต่อกับเครือข่ายเดียวกับคนอื่นที่มีทั้งดีและไม่ดี คนไม่ดีมีโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เก็บบันทึกไว้ในหน่วยความจำได้หากเราลืมปิดกลไกการแบ่งปันข้อมูลกับคนอื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน วันใดที่ต้องใช้ไวไฟนอกบ้านให้ยกเลิกการอนุญาตให้แบ่งปันข้อมูลให้กับคนอื่นไว้ก่อน ถ้ายกเลิกเองไม่เป็นให้สอบถามจากคอลเซนเตอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานอยู่ได้ เพราะขั้นตอนไม่ได้ยุ่งยากเลย

ก่อนจะใช้งานไวไฟนอกบ้านต้องมั่นใจว่าคอมพิวเตอร์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่มีโปรแกรมป้องกันสารพัดไวรัสที่ทันสมัยเพียงพอก่อนด้วย เพราะไวไฟสาธารณะนั้นมีคนใช้สารพัดอย่าง กลายเป็นช่องทางให้ไวรัสคอมพิวเตอร์และโปรแกรมไม่ดีต่างๆ กระจายได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ถ้าจะให้ปลอดภัยมากขึ้นอีกเวลาใช้งานไวไฟนอกบ้าน ควรใช้งานผ่านบัญชีผู้ใช้ที่ต่างจากที่ใช้อยู่เดิมเป็นประจำ ควรกำหนดสิทธิในการปรับเปลี่ยนซอฟต์แวร์ไว้ในระดับต่ำสุด ถ้าโชคร้ายโดนไวรัสหรือโปรแกรมไม่ดีต่างๆ เล่นงาน ความเสียหายจะเกิดขึ้นภายในขอบเขตที่จำกัด ทั้งนี้ไม่ควรกระทำธุรกรรมใดๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้ไวไฟนอกบ้าน ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญไม่ควรส่งผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้ไวไฟสาธารณะ เพราะเราไม่ทราบว่าเครือข่ายนั้นใครเป็นคนไม่ดีบ้าง เมื่อเราไม่ใส่เครื่องประดับราคาแพงเดินในพื้นที่ที่มีมิจฉาชีพ เราก็ไม่ควรส่งข้อมูลที่มีคุณค่าสูงผ่านไวไฟสาธารณะเช่นกัน ถ้าเราสังเกตพฤติกรรมของคนรอบตัวมากกว่าปกติเมื่อสัญจรไปในที่ที่มีมิจฉาชีพ เราก็ควรสังเกตอาการที่แตกต่างไปจากปกติในขณะใช้ไวไฟสาธารณะด้วยเช่นกัน

หยุดสักนิด แล้วคิดก่อนใช้ไวไฟนอกบ้าน สุขจากการเดินทางพักผ่อนจะได้ไม่หมดไปกับภัยที่ตามมากับไวไฟที่คิดว่าใช้ฟรีนั้น