ทำไมจึงต้องลงทุน 2 ล้านล้านบาท (1)

ทำไมจึงต้องลงทุน 2 ล้านล้านบาท (1)

ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงประเด็นหนี้สาธารณะไปแล้วว่าหากเป็นห่วงว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ควรจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาวิกฤติ

ทางการเงินและการธนาคารมากกว่าการกลัวการลงทุนของภาครัฐ เพราะวิกฤติ เศรษฐกิจของไทยในปี 1997-1998 เป็นผลมาจากความผิดพลาดของนโยบายการเงินและการกู้เงินเกินตัวของภาคเอกชน (ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจคือปี 1996 นั้น หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 15%) ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากประมาณ 7 แสนล้านบาทในปี 1996 มาเป็น 2.9 ล้านล้านบาทในปี 2002 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลต้องรับโอนหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.1 ล้านล้านบาทมาเป็นหนี้สาธารณะด้วย ทำให้เปรียบเทียบได้ว่าหากไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997-1998 รัฐบาลจะสามารถลงทุน 2 ล้านล้านบาทได้ โดยหนี้สาธารณะจะไม่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเลย

นอกจากนั้นตัวเลขในอดีตสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจะมีปัญหาหนี้สาธารณะและต้องรัดเข็มขัดก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการส่งออกหดตัว เช่นในช่วง 1982-1985 ซึ่งซ้ำเติมสถานะทางการคลังและในที่สุดประเทศไทยก็ต้องลดค่าเงินบาทซึ่งช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการคลังได้อย่างมาก นอกจากนั้นพัฒนาการที่ดีขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันติภาพในอินโดจีน) ประกอบกับการแข็งค่าของเงินเยน ทำให้ญี่ปุ่นทุ่มการลงทุนมาที่ประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ย 9% ต่อปีในช่วง 1987-1996 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับการที่รัฐบาลไทยตัดสินใจครั้งสำคัญในการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งสอดรับกับการสร้างฐานทางอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

มาวันนี้รัฐบาลไทยกำลังจะตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งโดยมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาทเพื่อขยายและปฏิรูประบบคมนาคมเป็นการเดิมพันว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอีก 10-20 ข้างหน้า ซึ่งหากเราจะสนับสนุนหรือคัดค้านการลงทุนดังกล่าวก็ควรจะคัดค้านหรือสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าวดีกว่าจะคัดค้านเพราะเกรงว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นในความเห็นของผม

เช่นบางคนอาจค้านว่าการพัฒนาระบบรถไฟและถนนนั้นมีแต่จะเพิ่มการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกเป็น 20-30 ล้านคนต่อปี ก็มีแต่จะเพิ่มความแออัดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งหากจะคัดค้านก็ควรจะต้องนำเสนอทางเลือกอื่นๆ เพื่อพัฒนาประเทศ เช่น อยากให้เอาเงิน 2 ล้านล้านมาพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านการแพทย์และสาธารณสุข (medical hub) เป็นการขยายบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้นและไม่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะเช่นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

จากการที่ผมได้รับฟังข้อมูลจากภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้มาพูดคุยให้นักลงทุนฟังนั้น ผมสรุปได้ว่ารัฐบาลเห็นถึงความบิดเบือนของระบบการขนส่งของไทยที่จะต้องรีบแก้ไขเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า ซึ่งกำลังจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitics) และเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย

ในครั้งนี้ผมจะขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียก่อน เพราะผมเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีความสำคัญไม่แตกต่างจากเมื่อ 25 ปีก่อนหน้านี้ที่อินโดจีนเปลี่ยนสภาพจาก “สนามรบเป็นตลาดการค้า” บวกกับการที่เงินเยนแข็งค่าจากเฉลี่ย 250 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ในปี 1982 มาเป็นเฉลี่ย 90 เยนต่อ 1 ดอลลาร์ในปี 1995 ทำให้บริษัทญี่ปุ่นต้องเร่งย้ายฐานการผลิตจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศในภูมิภาค ทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างมาก

วันนี้สภาวะทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมืองของเอเชียกำลังถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญดังนี้

1. เอเชียมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในโลก ดังนั้นเงินทุนน่าจะทยอยไหลเข้ามาลงทุนในเอเชียอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี

2. เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีปัญหาอย่างต่อเนื่องจากการแก่ตัวของประชากรและปัญหาหนี้สาธารณะ (เท่ากับ 230% ของจีดีพี) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ จะต้องเกิดจากการขยายตัวของบริษัทญี่ปุ่นที่ทำได้โดยการขยายฐานการผลิตในประเทศต่างๆ ในเอเชียเป็นสำคัญ

3. ประเทศจีนต้องการขยายอิทธิพลของตนในเอเชียมากขึ้น เพราะจีนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการทหารมากขึ้นจึงต้องการจะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นใน “สนามหลังบ้าน” ซึ่งทำให้ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐและประเทศอื่นๆ ตื่นตัวเพื่อทัดทานจีน ทำให้น่าจะเกิดการช่วงชิงพันธมิตรในภูมิภาค โดยไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองดังกล่าว จึงน่าจะทำให้อำนาจต่อรองของไทยเพิ่มขึ้น

4. ประเทศเพื่อนบ้านของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่า เปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งจะยิ่งทำให้ภูมิภาคนี้มีความน่าลงทุนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการขยายตัวของความเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยกลไกตลาดเสรีในกรอบของการเมืองของภูมิภาคมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ในสภาวการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงมองว่าสมควรยิ่งที่จะต้องพิจารณาว่าประเทศไทยควรจะเตรียมตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์กับคนไทยให้มากที่สุด ซึ่งหากเราเห็นแตกต่างจากรัฐบาลในเชิงของยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีของประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะมาเสนอเพื่อถกเถียงกัน แต่ควรจะมองเห็นภาพใหญ่และแนวโน้มในอนาคตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก่อนว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมถึงพม่า ไทย มาเลเซีย เขมร ลาว เวียดนามและภาคใต้ของจีนนั้นกำลังพัฒนาไปสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวมากขึ้นทุกวัน ภูมิภาคนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมากเพราะมีประชากรรวมกันกว่า 200 ล้านคน (และเป็นคนหนุ่ม-สาวอยู่ในวัยทำงานและต้องการบริโภค) เป็นพื้นที่ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งศักยภาพทางการเกษตร (ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารที่นับวันจะราคาสูงขึ้น) ตลอดจนความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งติดทะเลอันดามันทางตะวันตกและทะเลจีนตอนใต้/มหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออก

ดังนั้น จึงจะเป็นพื้นที่ซึ่งประเทศมหาอำนาจหมายปองทั้งในเชิงเศรษฐกิจและในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองและความมั่นคง โดยมีประเทศไทยนั้นอยู่ตรงใจกลางของพื้นที่ดังกล่าวครับ