รัฐบาลต้องเข้าใจ ความห่วงใยของประชาชน

รัฐบาลต้องเข้าใจ ความห่วงใยของประชาชน

สิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นห่วงในเรื่องเงินกู้สองล้านล้านบาท มีอยู่สามประเด็น ประเด็นแรก ก็คือ วงเงินที่รัฐบาลจะกู้เป็นวงเงินมหาศาล

สองล้านล้านบาทนั้น เทียบเป็นเงินตราต่างประเทศจะประมาณเท่ากับ 66.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าวงเงินที่ประเทศไทยต้องกู้จาก ไอเอ็มเอฟ ในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เกือบสี่เท่า คือช่วงนั้นเรากู้เงินเพียง 17.2 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ดังนั้น วงเงินสองล้านล้านบาทจึงเป็นวงเงินมหาศาลที่หากู้ไม่ได้ง่ายๆ

ในแง่หนี้สาธารณะ ถึงแม้จะทยอยกู้ เงินกู้สองล้านล้านบาทจะทำให้ความเป็นหนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวถ้าเรากู้ครบวงเงิน ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ ที่รวมหนี้ภาครัฐทั้งหมดประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งมาจากผลงานการกู้ของรัฐบาลในอดีต เฉลี่ยคิดเป็นหนี้ต่อหัว คนไทยทั้งประเทศ (67 ล้านคน) ประมาณ 74,626 บาทต่อคน การกู้ใหม่อีกสองล้านล้านบาท จะทำให้ยอดหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 7 ล้านล้านบาท และความเป็นหนี้ต่อหัวของคนไทยเพิ่มเป็น 104,477 บาทต่อคน คิดเป็นประมาณ 60 เปอร์เซนต์ของรายได้ประชาชาติต่อหัว หนี้ดังกล่าวต้องมีการชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นภาระที่หนักสำหรับคนไทยรุ่นลูกหลานที่ต้องชำระคืน คำถามก็คือ เราเอาเงินกู้เหล่านี้มาทำอะไร และถ้าเงินกู้เหล่านี้ถูกใช้อย่างไม่เป็นประโยชน์ ไม่สร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ลูกหลานก็จะมีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งหมายถึงประเทศอาจเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตจากหนี้ดังกล่าว

ข้อห่วงใยที่สอง ก็คือ เงินกู้ดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ ต่อเศรษฐกิจ อันนี้สำคัญมากเพราะอย่าลืมว่าเวลาเรากู้เงิน เราจะใช้จ่ายจากเงินที่กู้มาได้เพียงครั้งเดียว คือ ใช้แล้วก็หมดกัน ไม่มีให้ใช้อีก แต่ความเป็นหนี้จะอยู่ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายที่ต้องชำระคืนเงินกู้ ดังนั้น ถ้าเงินที่กู้มาถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เลือกโครงการไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์จริงๆ ต่อเศรษฐกิจ ทั้งในแง่การหารายได้ให้กับประเทศในอนาคต และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เงินที่กู้มาก็จะเสียของ เสียโอกาส สร้างแต่ภาระหนี้ที่ไม่จำเป็นให้กับคนรุ่นหลัง

ในประเด็นนี้ สิ่งที่หลายคนเป็นห่วง ก็คือ รัฐบาลจะเอาเงินที่กู้มาไปลงทุนในโครงการที่ไม่ให้ประโยชน์สูงสุดจริงๆ ต่อเศรษฐกิจ หรือไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คือเอาเงินไปทำโครงการที่เลือกกันเองว่าดี หรือให้ความสำคัญกับโครงการที่อยากมีหรือดูดีในแง่การเมือง ประเภทโครงการช้างเผือกที่เป็นโครงการเชิงสัญลักษณ์ ที่ไม่ให้ประโยชน์มากจริงๆ ต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต หรือช่วยแก้ปัญหาที่เป็นคอขวดของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในอดีตมีตัวอย่างมากมายในหลายประเทศที่มีการกู้เงินมาลงทุนแล้วผิดพลาด ทำให้เงินที่กู้มาไม่ให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างที่พูด แต่นำประเทศไปสู่การเป็นหนี้สิน ดังนั้น ความห่วงใยสำคัญก็คือ การคัดเลือกโครงการ (Choice of Project) ที่รัฐบาลอาจเลือกใช้เงินกู้ไม่ดีพอ เลือกลงทุนในโครงการที่ไม่คุ้มค่า ทำให้การกู้เงินเป็นการใช้เงินที่สูญเสียและเป็นการพลาดโอกาสครั้งสำคัญของประเทศ

ประเด็นที่สาม ที่เป็นความห่วงใย ก็คือ การรั่วไหลของเงินที่กู้มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน โดยนักการเมือง ข้าราชการประจำ และบริษัทเอกชนที่ร่วมทำโครงการที่ใช้เงินกู้ ทำให้สิ่งที่ประเทศได้จากการกู้เงินสองล้านล้านบาทไม่คุ้มกับความเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น คือได้ของที่ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ เทียบกับเงินที่จ่ายไป พูดง่ายๆ ก็คือ ซื้อของแพงเกินจริง หรือบางกรณี มีแต่ของแต่ใช้งานไม่ได้ เพราะการทุจริตคอร์รัปชันกินหมด ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะทำให้เงินที่กู้มาสองล้านล้านบาท จะไม่ให้อะไรเลยกับประเทศ

ทั้งสามข้อนี้เป็นความห่วงใยของประชาชน ที่ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมา สะท้อนและมีการพูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างกว้างขวาง รวมถึงในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ตัวอย่างเช่น

๐ การสัมมนาระดับประธานคณะกรรมการบริษัท หรือ Chairman Forum ที่จัดโดย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ที่พูดถึงการปรับตัวของบริษัทเอกชนไทยกับ AEC ประธานกรรมการบริษัทไทยเกือบ 60 คนที่มาร่วมงาน มีความเห็นเหมือนกันว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งต่อการปรับตัวของบริษัทเอกชนไทยต่อ AEC ต่อการพัฒนาประเทศ และต่อการเติบโตของธุรกิจ

๐ การสำรวจประชามติของสวนดุสิตโพลล์ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ชี้ว่าการทุจริตคอร์รัปชัน และความโปร่งใสในการบริหารจัดการการลงทุนของภาครัฐ เป็นประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 58) เป็นห่วงมากที่สุด ในเรื่องการกู้เงินสองล้านล้านบาท

๐ การสัมมนาของบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศไทยเรื่องคอร์รัปชัน เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม ที่ผมได้มีโอกาสไปร่วม บริษัทต่างชาติมีความเป็นห่วงว่า การไม่จริงจังต่อการแก้ทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล จะลดโอกาสบริษัทต่างชาติที่มีนโยบายชัดเจนที่จะทำธุรกิจอย่างสะอาด โปร่งใส และไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ในการพัฒนาประเทศที่จะใช้เงินกู้สองล้านล้านบาท เพราะขัดต่อนโยบายของบริษัท ผลก็คือเงินที่กู้มาจะถูกประมูลไปโดยบริษัทไทยหรือต่างประเทศที่พร้อมจะทุจริตคอร์รัปชันในโครงการที่รัฐบาลจะทำ

ดังนั้น ประเด็นที่รัฐบาลต้องตระหนักก็คือ ขณะนี้ความห่วงใยเรื่องเงินกู้สองล้านล้านบาทมีมากและประชาชนก็ให้ความหวังต่ำว่าเงินกู้สองล้านล้านบาทจะนำไปสู่การลงทุนที่ประสบความสำเร็จ และปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน พูดได้ว่าขณะนี้มีวิกฤติศรัทธาในการทำหน้าที่ของรัฐบาลในเรื่องการเอาจริงกับคอร์รัปชัน จำเป็นที่รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น และเรียกศรัทธาคืน ว่าเงินที่กู้มาสองล้านล้านบาทจะไม่สูญเสียหรือรั่วไหลทั้งจากการใช้เงินที่ไม่ได้ประโยชน์ และจากการทุจริตคอร์รัปชัน