บาทแข็ง VS ดอกอ่อน

บาทแข็ง VS ดอกอ่อน

“บาทแข็ง” ดูจะเป็นข่าวร้อนต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อหนังสือพิมพ์ต่างเล่นข่าวนี้ไม่เลิก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ร้อนขึ้นมาอีก เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 29.7-29.8 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่แถว 29.1-29.3 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 5% นับแต่ต้นปี นั่นทำให้ ณ วันนี้ เงินบาทเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชียไปแล้ว
เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วมากในรอบนี้ ปัจจัยที่มีการพูดถึงมากที่สุด คือ ปริมาณเงินทุนไหลเข้า แต่จะว่าไปแล้วก็ปริมาณก็ไม่ได้มากมายจนผิดปกติอะไร นับแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่แล้วแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยมีเพียงประมาณสามพันล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ตลาดตราสารหนี้ยังมีแรงซื้อจากต่างประเทศเข้ามาต่อเนื่อง ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว แต่ถ้าเทียบแล้วถือว่าเป็นเม็ดเงินที่ยังน้อยกว่าเดือนมกราคมเสียอีก
สำหรับภาคเศรษฐกิจจริงตัวเลขดุลการค้าเดือนมกราคม ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดแสดงว่าไทยขาดดุลการค้า ซึ่งแนวโน้มในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมคงไม่ต่างมากนัก เพราะการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่การนำเข้าเร่งตัวขึ้น ดังนั้นเมื่อดูทั้งภาพแล้วก็จะเห็นว่าปริมาณเงินทุนไหลเข้าออกทั้งตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงเป็นปกติ
ขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ “บาทแข็ง” ถึงขนาดนี้ ก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากภาครัฐบาลและภาคธุรกิจให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยลง เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้า ในขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยืนกรานว่าการลดดอกเบี้ยไม่ช่วยอะไร
ประเด็น “บาทแข็ง” กับ “ดอกอ่อน” ยังสรุปไม่ได้ว่าแนวคิดใครถูกหรือผิด เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล แต่สิ่งที่อยากจะหยิบยกมาพูดคุยก็คือ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยสูงจริงหรือไม่?
คำตอบมีอยู่ 5 มุมมองค่ะ
(1) ดอกเบี้ยไทยสูงเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยประเทศพัฒนาแล้วที่ต่ำเกือบ 0%
(2) ดอกเบี้ยไทยไม่สูงไม่ต่ำเมื่อเทียบกับในภูมิภาคเอเชียแต่ดอกเบี้ยไทยต่ำสุดในกลุ่ม TIPS
(3) ดอกเบี้ยไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศของเอเชียตะวันออกและอาเซียนที่ติดลบ ถ้าคิดในรูปดอกเบี้ยที่แท้จริง
(4) ดอกเบี้ยไทยต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกือบ 6%
(5) ดอกเบี้ยไทยต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มี Credit Rating เท่ากันคือ Baa1 เช่น เม็กซิโก แอฟริกาใต้ และรัสเซีย

ประเด็นที่อยากพูดต่อก็คือ “ควรลดดอกเบี้ยไหม?” ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ ต้องรู้ให้ชัดก่อนว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงหลังนี้ เกิดจากอะไร?
ถ้าเกิดจากการค้าระหว่างประเทศ การลดดอกเบี้ยคงไม่มีผลทางตรงอะไรในระยะสั้น เพราะกว่าที่การลดดอกเบี้ยจะส่งผลไปกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและทำให้การนำเข้าเร่งตัวขึ้นก็ใช้เวลาเกือบปีแล้ว
ถ้าเกิดจากเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้น การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ช่วยชะลอการไหลเข้าเพราะนักลงทุนในตลาดหุ้นจะมองที่พื้นฐานและแนวโน้มเศรษฐกิจมากกว่า และหากภาครัฐไปลดดอกเบี้ยลง อาจทำให้ตลาดหุ้นดูน่าสนใจขึ้นไปอีก ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เงินไหลเข้ามา แต่ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน ณ ปัจจุบัน นักวิเคราะห์ในต่างประเทศเริ่มมีความเป็นห่วงว่า บางสาขาธุรกิจเริ่มมีสัญญาณของความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นห่วงว่าถ้าภาครัฐกลับไปดำเนินมาตรการที่หนุนให้ความร้อนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก อาจบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจน้อยลงและมีเงินทุนไหลออก
ถ้าเกิดจากตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล การลดดอกเบี้ยลงจะมีผลมากหรือน้อยก็ขึ้นกับ 2 ปัจจัยหลัก
ปัจจัยที่ 1 : ลักษณะการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุ > 1 ปี) หรือตราสารหนี้ระยะสั้น (Money Market) หากส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว การลดดอกเบี้ยจะมีผลพอสมควร เพราะทำให้ราคาตราสารหนี้ที่ถืออยู่สูงขึ้น ดังนั้น upside gain จากเงินลงทุนใหม่ก็จะน้อยลงเพราะดอกเบี้ยรับต่ำลง และโอกาสที่ราคาจะสูงขึ้นมีน้อยลงเช่นกัน แต่หากเงินทุนไหลเข้ามาในตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน ก็อาจมีความสนใจระดับดอกเบี้ยบ้าง แต่ก็ไม่เท่ากลุ่มแรก
ปัจจัยที่ 2 : ระดับการลดดอกเบี้ย หากลดเพียงเล็กน้อยหรือค่อยเป็นค่อยไป คงจะไม่ช่วยเรื่องเงินทุนไหลเข้าเท่าไรนัก เพราะส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยของประเทศที่เป็น Funding Currency คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐนั้นแตกต่างกันมาก ดังนั้นการจะลดส่วนต่างดอกเบี้ย จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างแรง
และประเด็นต่อเนื่องก็คือ “ผลที่ตามมาของการลดดอกเบี้ย” เพราะการลดดอกเบี้ยคือการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง การลดดอกเบี้ยย่อมมีประโยชน์สำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแออยู่ แต่สำหรับภาคเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณของความร้อนแรง การลดดอกเบี้ยก็ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ความร้อนแรงมากยิ่งขึ้น
แม้วันนี้จะยังไม่มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะรอดพ้นความเสี่ยงเรื่องราคาสินทรัพย์ที่ร้อนแรง เพราะการคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด คือ อินโดนีเซียในปัจจุบัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และกลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก จนทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศของอินโดนีเซีย จากต่ำกว่าระดับน่าลงทุนมาเป็นระดับที่น่าลงทุน หรือ Investment Grade แต่เมื่อปีที่แล้ว นักลงทุนเริ่มมีความกังวลเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยาวนานเกินไป โดยเฉพาะการเร่งปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับความล่าช้าในออกมาตรการหลายประการ ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ราคาสินทรัพย์โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าเงินรูเปียอ่อนค่าลงสวนกับค่าเงินอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ต่างแข็งค่าขึ้น
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้กำหนดนโยบายคงต้องนำประสบการณ์ของอินโดนีเซียรอบนี้เป็นตัวอย่าง และดำเนินมาตรการที่ถูกต้องในจังหวะที่เหมาะสมต่อไป