“การออม”ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

“การออม”ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

คนไทยราว 30 ล้านคนที่อยู่นอกระบบการออมเพื่อวัยเกษียณ ต้องร้องเพลงรอต่อไป แม้กฎหมายการออมแห่งชาติ (กอช.)

จะมีผลบังคับให้เปิดรับสมาชิกเข้ากองทุนดังกล่าวโดยสมัครใจได้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา สาเหตุหลัก คือ นโยบายที่เปลี่ยนไปมาของพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล

“กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังประกาศชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะรูปแบบการออมลักษณะนี้มีอยู่แล้วในมาตรา 40 ของกฎหมายกองทุนประกันสังคม และ ไม่ต้องการเห็นการเรียกร้องจากสมาชิกเกี่ยวกับผลตอบแทนเช่นเดียวกันกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

แม้รูปแบบการออมให้แก่ผู้มีอาชีพอิสระโดยกองทุนประกันสังคมจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ผลตอบแทนไม่ได้จูงใจ สะท้อนจากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่เพียง 1.7 ล้านคนเท่านั้น ขณะที่ แนวทางที่รมว.คลังต้องการ คือ ให้กองทุนประกันสังคมเปิดอีกรูปแบบการออมให้แก่ผู้มีอาชีพอิสระ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ออมที่จูงใจมาก กล่าวคือ ทั้งรัฐและผู้ออมต้องใส่เงินออมในจำนวนที่สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง แต่จะสูงในระดับที่ให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยหรือไม่ ต้องอยู่ที่นโยบาย

คำถาม คือ เมื่อกฎหมาย กอช.ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้มีอาชีพอิสระที่ต้องการออมเงินผ่านกองทุนดังกล่าว และผ่านการใช้เวลาผลักดันกฎหมายนี้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นแกนนำสำคัญ เหตุใดรัฐบาลนี้ จึงพร้อมและสามารถที่จะยุติหน้าที่และวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้โดยง่ายดาย

ขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้กองทุนประกันสังคมเข้ามาบริหารเงินออมจากผู้มีอาชีพอิสระนั้น ได้สอบถามความต้องการของผู้ที่ต้องการออมหรือไม่ เพราะแค่ปัญหาที่กองทุนประกันสังคมต้องแก้ กรณีที่หลายฝ่ายประเมินว่า ในระยะเวลา 50 ปีข้างหน้า กองทุนฯนี้อาจมีการล้มละลายจากการบริหารงานได้ ก็เป็นปัญหาที่สะท้อนความเป็นมืออาชีพ หรือ นั่นเป็นเพราะกฎหมายนี้ ไม่ได้รับการผลักดันโดยรัฐบาลชุดนี้ ก็เป็นคำถามที่สร้างความคลางแคลงใจ

ทั้งนี้ ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า จำนวน 26% ของประชากรทั้งหมดจะเข้าสู่วัยเกษียณและเป็นวัยเกษียณที่มีอายุเฉลี่ย 80 ปีขึ้นไป ถือเป็นวัยที่มีภาวะพึ่งพาสูง แหล่งรายได้สำคัญของประชากรวัยนี้จะไม่ใช่ลูกหลานตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่นิยมมีลูกน้อยลง แต่จะมาจากเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลอุดหนุน ขณะที่ หลักประกันเพื่อการชราภาพ ยังเป็นประเด็นปัญหาที่พูดจากันซ้ำซาก ในภาคปฏิบัติแล้วยังเป็นการพายเรือวนอยู่ในอ่าง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออมรายหนึ่งระบุว่า ในอดีตเหตุผลที่ลูกจ้างขอลาออก คือ เพื่อไปเลี้ยงดูบุตร แต่ปัจจุบัน เหตุผลหลักของการลาออก คือ เพื่อไปเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือ ปู่ย่าตายาย ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมที่เป็นภาพที่น่ากลัวมาก ขณะที่ ความสามารถในการดูแลจากภาครัฐต่อผู้สูงอายุในปัจจุบัน ยังถือว่า ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือไม่ถึง 40% ของเส้นความยากจน แต่ก็ถือเป็นภาระทางงบประมาณที่ต้องจัดสรรในจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี

ภาพที่จะเห็นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ เงินกู้ 2 ล้านล้าน จะทำให้คนไทยได้เห็นรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่านชนบทเข้าตัวเมืองจำนวนหลายสาย เห็นการใช้จำนวนรถยนต์บนท้องถนนในเมืองหลวงที่น้อยลง เพราะมีจำนวนรถไฟฟ้าที่จะทำหน้าที่ขนส่งประชาชนได้สะดวกมากขึ้น แต่อีกฟากหนึ่ง ประชากรเกือบครึ่งประเทศ จะเป็นประชากรวัยเกษียณที่มีภาวะการพึ่งพาจากภาครัฐสูง ภาระทางการคลังที่ต้องใช้จ่ายจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล หากการออมไม่ถือเป็นอีกหนึ่งวาระแห่งชาติของรัฐบาล