แนวโน้มตลาดพันธบัตรเอเซีย : ศุกร์ 29 นี้ต้องไปฟัง

แนวโน้มตลาดพันธบัตรเอเซีย : ศุกร์ 29 นี้ต้องไปฟัง

ปีที่แล้ว เป็นปีที่ดีปีหนึ่งของตลาดพันธบัตรเอเซีย ตัวเลขล่าสุดที่รวบรวมโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย ชี้ว่า ตลาดพันธบัตรภูมิภาคเอเซียขยายตัว

ร้อยละ 12.6 ปีที่แล้ว ขับเคลื่อนโดยการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาค และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศเพื่อหาผลตอบแทนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก แต่นอกจากการเติบโต งานวิจัยล่าสุดของธนาคารดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ก็ชี้ว่าตลาดพันธบัตรภูมิภาคเอเซียมีการเชื่อมโยงและรวมตัวกันมากขึ้น เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในเอเซียที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรของตลาดหลัก เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน และไทย


ตลาดพันธบัตรไทย ปีที่แล้วก็ขยายตัวในเกณฑ์ดีมาก โดยยอดคงค้างรวมของตราสารหนี้ทุกประเภท (Bond Outstanding) ณ สิ้นปี 2555 มีมูลค่าคงค้าง 8.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 21 เปอร์เซ็นต์จากมูลค่าคงค้าง สิ้นปี 2554 แต่นอกจากปริมาณยอดคงค้างที่เพิ่มขึ้น ปีที่แล้วตลาดพันธบัตรไทยก็มีปรากฏการณ์หลายอย่างที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ


๐ การซื้อขายตราสารหนี้ระยะยาวในตลาดรองคึกคักมาก โดยมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 21,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 115 เปอร์เซ็นต์จากปี 2554


๐ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน (หุ้นกู้) มีมูลค่าออกใหม่รวมกว่า 510,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ไทย


๐ การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย มีต่อเนื่องทั้งปี โดยมียอดซื้อสุทธิสะสมในตลาดตราสารหนี้ระยะยาวทั้งปีกว่า 240,000 ล้านบาท


๐ ณ สิ้นปี 2555 นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยกว่า 710,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.3 ของมูลค่าตราสารหนี้ที่มีอยู่ทั้งตลาด


ตัวเลขเหล่านี้ชี้ว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยมีการเติบโตดีปีที่แล้ว และเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ มีการเข้ามาลงทุนมาก จนบางครั้งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดพันธบัตรปีที่แล้ว (ซึ่งก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงสามเดือนแรกปีนี้) ก็เป็นปัจจัยชุดเดียวกันที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดพันธบัตรภูมิภาค


อันดับแรก ก็คือ พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในแง่อัตราการขยายตัวที่ปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 6.4 ฐานะทางต่างประเทศของเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และระบบสถาบันการเงินในประเทศที่มั่นคง ความเข้มแข็งเหล่านี้สะท้อนได้จากที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายสถาบันได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยขึ้น


สอง ภายในประเทศเอง ความสนใจที่จะใช้ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดระดมทุนเพื่อการลงทุน หรือทำธุรกิจก็มีมากขึ้นทั้งจากบริษัทเอกชน ธนาคารพาณิชย์ และรัฐบาล เนื่องจากผู้ออกตราสารหนี้สามารถวางแผนระดมทุนทั้งในแง่วงเงินกู้ยืมและระยะเวลาที่จะใช้เงินให้สอดคล้องกับแผนการลงทุน ขณะที่ต้นทุนในการระดมทุนก็ต่ำเมื่อเทียบกับการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ก็ใช้ตลาดพันธบัตรระดมเงินระยะยาวเช่นกัน ทั้งเพื่อใช้ในการทำธุรกิจ และเพื่อเสริมสร้างฐานะเงินกองทุน ทำให้ปีที่แล้วการออกหุ้นกู้โดยภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์


สาม นักลงทุนมองประเด็นความเสี่ยงการลงทุนในตลาดพันธบัตรแตกต่างจากการลงทุนในตลาดหุ้น โดยส่วนใหญ่ประเมินว่าความผันผวนของผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรมีน้อยกว่าการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล จะโยงกับความเสี่ยงของประเทศ (Country Risk) เป็นสำคัญ ขณะที่ความผันผวนจากการลงทุนในหุ้นจะมาทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มักจะกระทบตลาดหุ้นแรงกว่าตลาดพันธบัตร จากปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศและจากปัจจัยเฉพาะของบริษัทที่กระทบหุ้นของบริษัท สิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนมองการลงทุนในตลาดพันธบัตรโดยเฉพาะตราสารหนี้รัฐบาลมีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้น


สำหรับปีนี้ทั้งสามปัจจัยคงมีบทบาทขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดพันธบัตรภูมิภาค อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าถึงแม้ตลาดพันธบัตรภูมิภาคมีพื้นฐานที่จะขยายตัวได้ต่อไป แต่เศรษฐกิจโลกเองยังมีความไม่แน่นอนมากที่จะกระทบตลาดพันธบัตรในภูมิภาค และตลาดพันธบัตรไทย ทั้งในด้านบวกและในด้านลบ ความไม่แน่นอนประเด็นแรก ก็คือ นโยบายแก้ไขปัญหาต่างๆที่ไม่ชัดเจนว่านโยบายที่จะแก้ปัญหาที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่ขณะนี้ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น จะเดินต่ออย่างไร ซึ่งจะกระทบตลาดการเงินโลก รวมถึงตลาดพันธบัตรอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากเศรษฐกิจโลก ประเด็นที่สอง ก็คือ รัฐบาลในภูมิภาคหลายประเทศคงใช้ตลาดพันธบัตรเป็นตลาดระดมทุนหรือกู้เงิน เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กรณีรัฐบาลไทย จุดนี้จะเป็นจุดทดสอบสำคัญว่าตลาดพันธบัตรจะสามารถทำหน้าที่เชื่อมการออมของภาคเอกชน ไปสู่การลงทุนของภาครัฐได้ดีและมีประสิทธิภาพแค่ไหน และประเด็นที่สาม ก็คือ ประเด็นการพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนให้เงินออมของภูมิภาคสนับสนุนการลงทุนภายในภูมิภาค เพื่อลดการพึ่งพาการกู้ยืมจากนอกภูมิภาค ทั้งสามประเด็นนี้จะท้าทายการทำงานของตลาดพันธบัตรเอเซีย รวมถึงตลาดพันธบัตรไทย


เพื่อตอบคำถามเหล่านี้วันศุกร์ที่ 29 มีนาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 11.30 น. สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย จะจัดงานสัมมนาระดับสากลประจำปี ในหัวข้อ “ตลาดพันธบัตรเอเซีย : การรวมตัวและแนวโน้ม” (Asian Bond Market : Integration and Outlook) โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญตลาดพันธบัตรเอเซียที่เป็นที่รู้จักดีทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคกว่า 10 คนมาร่วมงานเป็นวิทยากร งานสัมมนาจะเริ่มโดยการกล่าวเปิดงาน (Welcome Address) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง) จากนั้นจะเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Global Economy and Bond Market Outlook” โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่ Mr. Hung Tran, รองกรรมการผู้อำนวยการคนที่หนึ่งสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (The Institute of International Finance), ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์, Dr. Eli Remolona หัวหน้าสำนักงานภูมิภาคเอเซีย ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BIS และ Mr. Brian P. Baker กรรมการผู้อำนวยการบริษัทจัดการลงทุน PIMCO เอเซีย โดยมีผู้เขียนในฐานะประธานคณะกรรมการตลาดตราสารหนี้ไทยทำหน้าที่ผู้ดำเนินการเสวนา


ช่วงที่สองเป็นการเสวนาตลาดพันธบัตรเอเซียในประเด็นการพัฒนาตลาด และการรวมตัวของตลาด ผู้เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ คุณไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, คุณสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินบมจ. ปตท, Mr. Thiam Hee Ng นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเซีย, Mr. Hon Cheung ผู้อำนวยการภาคเอเซียของธนาคาร State Street และ Mr. Sameen Farooqui กรรมการผู้อำนวยการด้านการลงทุนภูมิภาคเอเซีย ธนาคาร Deutsche Bank โดยมี Dato Ooi Sang Kuang ประธานคณะกรรมการสถาบัน Cagamas Berhad มาเลเซีย อดีตรองผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซียเป็นผู้ดำเนินการเสวนา


คุณภาพของผู้ร่วมเสวนาคราวนี้ รับรองได้ว่าคับแก้ว ทำให้งานวันศุกร์ที่ 29 นี้ พลาดไม่ได้ สำหรับสมาชิกตลาดตราสารหนี้ไทย และบริษัทเอกชน เพราะโอกาสที่จะมีผู้เชี่ยวชาญตลาดพันธบัตรกว่า 10 ชื่อมารวมตัวกันที่กรุงเทพไม่ใช่เรื่องง่าย งานนี้จัดที่ ห้องบอลรูม ชั้น 23 โรงแรม Centara Grand ที่เซ็นทรัลเวิลด์ คงต้องรีบจองที่นั่ง และหวังว่าจะได้พบกัน