ฟ้าสว่างที่ลำตะคอง

ฟ้าสว่างที่ลำตะคอง

แสงแดดที่สะท้อนเหนือผืนน้ำ ณ เขื่อนลำตะคอง ทำให้จิตใจที่เหน็ดเหนื่อยจากงานที่ถาโถมแช่มชื่นขึ้นได้บ้าง

และทำให้รู้สึกว่าภูมิภาคต่างๆ ของไทยก็มิได้สวยยิ่งหย่อนไปกว่าเทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์เลย

นั่งอยู่หลังพวงมาลัยระหว่างทางกลับจากโรดโชว์ของเกียรตินาคินตามภูมิภาคต่างๆ สิ่งที่อยู่ในใจผู้เขียนคือคำถามของนักลงทุนหลายๆ ธุรกิจ ทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและการเงิน ซึ่งสรุปได้เป็น 3 ประเด็น

หนึ่ง ทิศทางการลงทุนทั้งในตลาดเงินตลาดทุน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเศรษฐกิจโดยรวม ณ ขณะนี้ เผชิญปัญหาฟองสบู่หรือไม่ สอง หากเกิดฟองสบู่จริง สถานการณ์ใดจะเป็นชนวนให้ฟองสบู่แตก และ สาม โอกาสในการลงทุนในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นเช่นไร ซึ่งคำตอบของผู้เขียนในหลายเวทีนั้น สามารถสรุปรวมตามประเด็นทั้งสามได้ดังนี้

คำตอบที่หนึ่ง อาจตอบได้ว่าสถานการณ์ฟองสบู่นั้น “ก็มีบ้าง” แต่ก็มีปัจจัยพื้นฐานรองรับพอสมควร นอกจากนั้นปัจจัยที่จะทำให้ฟองสบู่แตกนั้น ยังไม่สุกงอม ณ ขณะนี้ แต่นักลงทุนอาจต้องเริ่มจับตามองมากขึ้น โดยผู้เขียนเห็นว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ทิศทางตลาดเงินตลาดทุน และภาคเศรษฐกิจจริงเฟื่องฟู ณ ขณะนี้มี 6 ประการด้วยกัน

ประการที่หนึ่ง ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (Paradigm Shift) กล่าวคือ หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นต้นมา เศรษฐกิจในโลกตะวันตกที่เคยเป็นหัวรถจักรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกนั้น ไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียรวมถึงในประเทศไทยเอง ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนมากขึ้น

โดยหากพิจารณาองค์ประกอบของการขยายตัวของ GDP ไทยแล้ว จะเห็นว่าถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกสุทธิเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่

ประการที่สอง การอัดฉีดของธนาคารกลางของประเทศเจริญแล้วต่างๆ ทั้งในสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ที่ทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วคือการพิมพ์เงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น ซึ่งเงินเหล่านั้นยังไม่สามารถหมุนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นฟื้นตัวได้ จึงไหลเข้ามาเก็งกำไรในประเทศที่มีศักยภาพเศรษฐกิจอย่างเอเชียรวมทั้งไทย

ประการที่สาม กระแสภูมิภาคนิยม เช่น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และความร่วมมือของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ทำให้ความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และการลงทุนในกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มแผ่นดินใหญ่ (Continental) เพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับประเทศในกลุ่ม CLMV อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เริ่มอยู่ในคลื่นแรกแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของประชาชนในประเทศเหล่านี้เท่ากับคนไทยในช่วงปี 2527-33 อันเป็นช่วงที่รายได้ต่อหัวจะเติบโตในระดับ 14.8% ในอีก 10 ปี ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยที่มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ จะได้รับประโยชน์สูงจากรวมกลุ่มดังกล่าว

ประการที่สี่ กระแสความเจริญที่กระจายสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยความเจริญจะเข้าสู่เขตเมือง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิต รวมถึงความต้องการด้านการศึกษาต่อ ทำให้ประชาชนตามต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในอำเภอเมืองในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคและลงทุนในเขตหัวเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยในปัจจุบันประชากรเมืองในประเทศไทยมีประมาณ 33.7% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็น 55.7% ในอีก 30 ปีข้างหน้า

ประการที่ห้า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มุ่งสร้างรายได้ให้ประชาชน 2 กลุ่มใหญ่ อันได้แก่ แรงงานทักษะน้อย และเกษตรกร ผ่าน 2 นโยบายหลัก คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการจำนำสินค้าเกษตร โดยทำให้รายได้ของประชาชนในจังหวัดต่างๆ ขึ้นเกือบ 50-100%

และประการที่หก ได้แก่ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ 2 ล้านล้านบาท ที่เน้นระบบรางกว่า 81% ของวงเงินลงทุน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้า 10 สาย ซึ่งหากทำได้จริงโครงการเหล่านี้ จะทำให้การคมนาคมขนส่งของประชาชน รวมถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ ในหัวเมืองใหญ่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และนำความเจริญเข้าไปสู่หัวเมืองต่างๆ ที่เส้นทางรถไฟพาดผ่าน (โดยเฉพาะที่ดินในทำเลที่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงจะพุ่งขึ้นเป็นทวีคูณ)

ปัจจัยพื้นฐานทั้ง 6 ประการเหล่านี้ เป็น “เรื่องราว” ที่ขายได้กับนักลงทุน อย่างไรก็ตาม เรื่องราวต่างๆ นั้นมิได้ไร้ซึ่งความเสี่ยง โดยผู้เขียนเห็นว่า จะมี 4 สถานการณ์ที่เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ฟองสบู่ที่มีอยู่บ้างนั้นแตกได้

ความเสี่ยงแรก ได้แก่ หากเศรษฐกิจโลกถดถอยซ้ำสอง ไม่ว่าจะเกิดจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยังคงเปราะบาง หรือความขัดแย้งทางการเมืองของสหรัฐ หรือความขัดแย้งในภูมิภาคในเอเชียตะวันออก รวมถึงตะวันออกกลางก็ตาม แน่นอนว่าจะกระทบต่อการส่งออกไทยให้หดตัวรุนแรงขึ้นและกดดันให้เศรษฐกิจในประเทศหดตัว

ความเสี่ยงที่สอง ได้แก่ความเสี่ยงด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ผนวกกับโครงการจำนำสินค้าเกษตร ซึ่งหากประสบกับภาระขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกโครงการดังกล่าว จะทำให้รายได้ของเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่หายไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อการบริโภคและลงทุนในภูมิภาคได้

ความเสี่ยงที่สาม ได้แก่ สถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นขึ้นอย่างรวดเร็วจนปัญหาว่างงานลดลง และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐยกเลิกมาตรการ QE รวมถึงขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ดอกเบี้ยไทยต้องขึ้นตาม และทำให้ภาระดอกเบี้ยของผู้กู้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคาดว่า สหรัฐจะยังคงนโยบาย QE ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ ความตึงตัวในตลาดแรงงาน โดยในปัจจุบันอัตราว่างงานของไทยที่เกือบต่ำที่สุดในโลกที่ประมาณ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมนั้น บ่งชี้ว่าไทยกำลังประสบปัญหาแรงงานขาดแคลนจนต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าว และเมื่อมองไปในอนาคต สถานการณ์จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลเริ่มต้น เพราะจะเกิดการจ้างงานอีกกว่า 500,000 ตำแหน่ง ทำให้แรงงานที่ตึงตัวอยู่แล้วขาดแคลนอย่างรุนแรง และหากธุรกิจโดยเฉพาะขนาดกลางและย่อม (SME) ที่ยังไม่ปรับตัวอาจล้มละลายได้

สำหรับคำตอบสุดท้าย อันได้แก่โอกาสในการลงทุนในอีก 5-10 ปีข้างหน้านั้น ผู้เขียนเห็นว่าในมิติมหภาค กระแสเศรษฐกิจในประเทศ อันได้แก่การบริโภคและลงทุนจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นบวกต่อสินทรัพย์ที่อิงกับเศรษฐกิจ เช่น หุ้น กองทุน และหุ้นกู้ของบริษัทในกลุ่มก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก และธนาคาร

ขณะที่ในมิติจุลภาคนั้น ทางฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของเกียรตินาคินได้เลือก 13 จังหวัดที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูง โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต ขอนแก่น ระยอง นครราชสีมา อุบลราชธานี ลำปาง มหาสารคาม หนองคาย บุรีรัมย์ สระแก้ว กาญจนบุรี และพิษณุโลก โดยนักธุรกิจและผู้สนใจอาจเริ่มมองลู่ทางลงทุนในจังหวัดดังกล่าว

แสงอาทิตย์เริ่มสาดส่องทั่วฟ้าเมืองไทยแล้ว นักลงทุนควรเริ่มที่จะลงทุนอย่างระมัดระวังและกระจายความเสี่ยง เพื่อผลตอบแทนที่ดีในอนาคต