กติกาของการโหวต

กติกาของการโหวต

วิธีการเลือกตั้งแบบพื้นฐานที่สุดคือหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน และเมื่อนับคะแนนรวมแล้วผู้สมัครคนใดได้คะแนนเสียงไปมากที่สุด ก็ได้เป็นผู้ชนะ

วิธีนี้เข้าใจง่ายและดูยุติธรรมดี แต่ในบางเวทีเลือกตั้ง เราก็อาจเห็นกติกาอย่างอื่นที่ต่างออกไปได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น ในการโหวตเพื่อเลือกเมืองที่จะได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกนั้น ถ้าหากในการโหวตรอบแรกยังไม่มีเมืองใดที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งหมด จะต้องจัดการโหวตรอบสองขึ้น โดยคัดเมืองที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในครั้งแรกออกไป เพื่อให้เหลือตัวเลือกน้อยลง ทำซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้เมืองที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่ง จึงจะได้ผู้ชนะ ซึ่งจะต้องมีได้อย่างแน่นอน เพราะตัวเลือกมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

หรือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ก็คล้ายกัน ถ้าในการเลือกตั้งหนแรกยังไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยในรอบที่สองให้แข่งขันกันเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนมากเป็นอันดับที่หนึ่งและอันดับที่สองในรอบแรก ในครั้งที่สองนี้จะต้องได้ผู้ชนะที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งอย่างแน่นอน และผู้นั้นก็จะได้เป็นประธานาธิบดี

ภายใต้กติกาแบบนี้ มีโอกาสสูงที่คนที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบแรกจะไม่ใช่คนที่ได้คะแนนสูงสุดในรอบที่สอง เนื่องจากเมื่อผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยในรอบแรกถูกตัดออกไปทั้งหมด คนที่เคยโหวตให้ผู้สมัครเหล่านั้นก็ต้องหาทางเลือกใหม่ ซึ่งพวกเขาก็อาจพร้อมใจกันหันมาเทคะแนนให้คนที่ได้อันดับสองโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพวกเขาไม่ชอบแนวทางของคนที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งมากๆ และวิตกว่าอันดับหนึ่งจะมาอีก

ถ้าคิดให้ดี กติกาแบบนี้มีนัยต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศนั้นๆ อยู่ไม่น้อย เพราะพรรคการเมืองที่มีนโยบายอยู่ตรงกลางๆ ดูจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่า เพราะในสถานการณ์ที่มีผู้สมัครหลายคนได้รับความนิยมมากพอๆ กัน ตัวอย่างเช่น มีตัวเต็งถึง 5 คน ซึ่งแต่ละคนล้วนที่ได้รับความนิยมใกล้เคียงกันหมด คะแนนที่แตกต่างกันแค่เพียงเล็กน้อย จะตัดสินชัยชนะได้ ถ้าหากเป็นกติกาแบบปกติ คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ อาจเป็นคนที่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงแค่ 20% กว่าๆ จากคนทั้งประเทศเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายแบบสุดโต่งหรือแบบกลางๆ ก็ได้

แต่ถ้าหากเป็นกติกาแบบหลัง ในเมื่อมีการตัดคนที่ได้คะแนนน้อยออกไปก่อน เพราะยังไงเสีย พวกเขาก็ต้องพ่ายแพ้ในการกติกาการเลือกตั้งแบบปกติอยู่แล้วแต่คนที่เคยเลือกตัวเลือกเหล่านั้นก็จำเป็นจะต้องตัดสินใจเลือกคนใหม่จากตัวเลือกที่เหลืออยู่เพียงสองตัวเลือก มีโอกาสสูงที่คนที่มีนโยบายกลางๆ มากกว่าจะดึงดูดคะแนนใหม่ๆ เหล่านั้นไปได้มากกว่า เพราะจะเป็นตัวเลือกที่พอรับได้ของคนส่วนใหญ่ที่ต้องตัดสินใจใหม่ได้มากกว่า และถ้าหากเขาเป็นผู้ที่มีคะแนนตามมาเป็นอันดับที่สองในการเลือกตั้งครั้งแรก เขาก็อาจพลิกขึ้นมาเป็นฝ่ายชนะได้ง่ายๆ จึงมีแนวโน้มสูงที่ประเทศที่ใช้กติกาการเลือกตั้งแบบนี้จะได้ผู้นำที่มีนโยบายกลางๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ของประเทศรับได้มากที่สุด (อาจจะไม่ใช่คนที่ชอบที่สุด แต่เป็นคนที่พอได้รับสำหรับคนส่วนใหญ่) มากกว่าคนที่มีนโยบายสุดโต่ง เช่น ขวาจัด หรือซ้ายจัด

นอกจากนี้ กติกาแบบนี้ยังมีข้อดีในแง่จิตวิทยาด้วย กล่าวคือ ในการเลือกตั้งหนที่สองนั้น จะมีผู้มีสิทธิลงคะแนนมากกว่าครึ่งที่เป็นผู้ลงคะแนนให้กับผู้ชนะ คนเรามักรู้สึกพึงพอใจในความเป็นพลเมืองของประเทศมากกว่าถ้าหากผู้นำประเทศเป็นบุคคลที่เราเป็นผู้ลงคะแนนให้กับมือ ความรู้สึกต่อต้านรัฐในใจของคนส่วนใหญ่ในประเทศก็มีน้อยกว่า ต่างกับวิธีแรก ซึ่งผู้นำประเทศอาจเป็นคนที่มีผู้ลงคะแนนให้เพียงแค่ 20% ของทั้งประเทศเท่านั้น ดูเหมือนเป็นผู้นำของเสียงส่วนน้อย และกลายเป็นว่า คน 20% ของประเทศเป็นผู้ตัดสินอนาคตของทั้งประเทศ โดยที่คนอีก 80% ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่กว่ากลับต้องเป็นผู้ยอมตาม

เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกันที่การออกแบบกติกาสามารถสร้างอิทธิพลต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศได้ไม่น้อย บางทีประเทศที่กำลังต้องการเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติน่าจะลองนำแนวคิดมาใช้ดู