โครงการปลดหนี้อเมริกา (US Sequestration)

โครงการปลดหนี้อเมริกา (US Sequestration)

Budget Sequestration ของสหรัฐอเมริกา คือ การตัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลโดยทั่วถึงทั้งหมดทุกภาคส่วนของรัฐบาล

มีจุดประสงค์เพื่อจัดการหนี้สินของอเมริกาเองจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ตั้งแต่ปี 2007) โดยมีวิธีการ คือ ตัดงบประมาณเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลาง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศเริ่มก่อหนี้ โดยมีหนี้สาธารณะสูงถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2011 ในปีเดียวกันนี้เองที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ทำการลงนามใน Budget Control Act (2011) เพื่อจัดการกับวิกฤติหนี้ของประเทศ โดยใช้วิธีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างดุลงบประมาณ


ใน Budget Control Act 2011 กำหนดให้รัฐบาลหาแนวทางจัดการหนี้สาธารณะที่มีให้สู่ภาวะงบประมาณสมดุลภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยให้จัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง เรียกว่า Joint Committee of Deficit Reduction ในคณะกรรมการประกอบด้วยสมาชิกของทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกันหากไม่สามารถตกลงกันได้จะใช้วิธีการตัดงบประมาณโดยอัตโนมัติของทุกภาคส่วนเป็นการล่วงหน้าตั้งแต่ ปี 2013-2021 (พ.ศ. 2556-2564) เรียกการดำเนินการนี้ว่า "Sequestration"

การประชุมหาทางออกของ Joint Committee of Deficit Reduction ไม่เป็นผล และเรื่องการตัดงบประมาณได้ก้าวเข้ามาสู่เวทีการประชุมที่ใหญ่กว่า จากการประชุมร่วมเจรจาในระดับคณะกรรมการ กลายมาเป็นการประชุมเจรจาในระดับประเทศ โดยมีผู้นำของรัฐสภาฝ่าย ต่างๆ เข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เนื่องจากฝ่ายประธานาธิบดีเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถูกค้านโดยฝ่ายรีพับลิกัน สุดท้ายนายโอบามาได้หาทางออกแก้ไขโดยการลงนามในกฎหมาย Sequestration 2013

Sequestration 2013 กำหนดมีการดำเนินการโดยตัดงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางที่ให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ โดยอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคม 2013 นับไปเป็นเวลา 7 เดือน โดยจะตัดงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 84,500 ล้านดอลลาร์ การตัดงบประมาณนี้จะแบ่งส่วนตัดออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณสำหรับส่วนกลาโหม และงบประมาณสำหรับส่วนอื่นๆ โดยจะมีการยกเว้นการตัดงบประมาณบางอย่าง เช่น ประกันสังคม การช่วยเหลือพยาบาลผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือคนว่างงานและทหารผ่านศึก คนพิการและทุพพลภาพ เป็นต้น

กล่าวได้ว่า Sequestration 2013 เป็นการซื้อเวลาเพื่อการเจรจาและตัดสินใจกับการปลดหนี้ในส่วนที่เหลือของสหรัฐฯ เพราะคณะกรรมการจากทั้งฝ่ายเดโมแครต และรีพับลิกันต่างคาดว่าจะสามารถหาทางออกให้แก่การปลดหนี้ครั้งนี้ ภายใน 30 กันยายน 2556 นี้

สำหรับการตัดงบประมาณในปี 2013 นี้ ส่วนที่โดนตัดงบประมาณสูงสุด ได้แก่ การกลาโหมของสหรัฐฯ คือ 46,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับส่วนอื่นๆ ที่โดนตัด สามารถจำแนกได้ คือ งบประมาณสำหรับบรรเทาสาธารณภัยของมหาดไทย 1,400 ล้านดอลลาร์ งบประมาณช่วยเหลือค่าเช่าที่อยู่อาศัยภาคที่ 8 2,500 ล้านดอลลาร์ งบประมาณสำหรับการอำนวยความปลอดภัยและควบคุมการจราจรทางอากาศ 800 ล้านดอลลาร์ งบประมาณสำหรับโรงเรียนประถมและมัธยมสำหรับเด็กด้อยโอกาส 700 ล้านดอลลาร์ งบประมาณสำหรับการศึกษาพิเศษ 600 ล้านดอลลาร์งบประมาณสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิวิจัยแห่งชาติ 600 ล้านดอลลาร์ งบประมาณสำหรับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสาธารณสุข 1,400 ล้านดอลลาร์ งบประมาณสำหรับการป้องกันควบคุมโรค 300 ล้านดอลลาร์ งบประมาณสำหรับบริการด้านสุขภาพจิต 200 ล้านดอลลาร์ และงบประมาณสำหรับความปลอดภัยด้านอาหารและยา 200 ล้านดอลลาร์

หลังจากผ่านการตัดงบประมาณ 85,400 ล้านมาเป็นเวลาครึ่งเดือนแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกายังคงไม่ได้รับผลกระทบจากมากเท่าที่คาดการณ์ไว้นัก อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบ และต้องลดสัดส่วนในแผนงบประมาณแทบทั้งสิ้น เช่น ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ นายกเทศมนตรีได้มีการเรียกประชุมด่วนถึงผลกระทบต่อเมืองในการถูกตัดงบประมาณที่คาดการณ์ว่าจะถูกตัดถึง 750 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีทุนสนับสนุนวิจัยน้อยลง นั่นหมายความว่าจะสามารถจ้างนักวิจัยได้น้อยลงไปอีกและยังมีภาคส่วนต่างๆ อีกมากมายที่ได้รับผลกระทบ แม้จะไม่สามารถเห็นผลได้อย่างทันทีก็ตาม

การที่หน่วยงานต่างๆ ได้รับผลกระทบในการตัดงบประมาณ นอกจากจะกระทบกับการทำโครงการต่างๆ แล้ว นั่นยังหมายความว่า บรรดาเจ้าหน้าที่หรือพนักงานก็มีโอกาสอย่างยิ่งที่จะถูกไล่ออกจากหน่วยงานอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐหากเป็นเช่นนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่าผิดหวังอย่างยิ่งที่ผู้ทำงานให้แก่รัฐจะถูกละทิ้ง แม้จะยังไม่เห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรม แต่แน่นอนว่าหากเป็นไปเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการบริหารงานบ้านเมืองของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ บรรดาผู้รับเหมาเอกชนต่างๆ ก็อาจจะถูกรัฐบาลยกเลิกการจ้างงานไปอย่างง่ายๆ นี่เองจะสร้างความเสียหายให้แก่การ "พัฒนา" ประเทศ รวมถึงความเสียหายให้แก่ประชาชนในตลาดแรงงาน แน่นอนว่า เมื่อไม่มีงานจะให้ทำ ลูกจ้างก็ต้องตกงาน

ดังนั้น จึงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลเมืองอเมริกันทั้งประเทศจะต้องได้รับผลกระทบอย่างมากกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลกลางครั้งนี้ การสร้างงานจะน้อยลง อัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น การบริหารงานต่างๆ ก็จะเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น

หลายคนถึงกับต่อว่ารัฐบาล และสภา ว่าไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องแก้ปัญหาเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่ แต่นโยบายนี้ดูจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากลับไปตกต่ำอีกครั้ง ถึงกับส่อเค้าลางของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกได้

แน่นอนว่า สำหรับชาวไทย แม้จะดูไกลตัว แต่อาจจะไม่ไกลอย่างที่คิด อะไรที่เกิดขึ้นกับประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างอเมริกา ก็ย่อมต้องกระทบถึงประเทศอื่นๆ ในโลกอย่างแน่นอน