การลงทุนกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

การลงทุนกับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย

ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงวันที่ 12 มีนาคมรวมทั้งสิ้น 71 วัน ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้ว 6.4% โดยในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหุ้นสหรัฐแซงหน้

โดยปรับเพิ่มขึ้น 9.3% ตามด้วยหุ้นญี่ปุ่น 6.9% และหุ้นยุโรป 4.4% หุ้นประเทศเอเชียก็พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงถึง 8.1% แต่ก็ยังสู้หุ้นไทยไม่ได้เพราะหุ้นไทยคิดเป็นเงินบาทปรับเพิ่มขึ้นถึง 13.6% และหากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 16.8% ในขณะเดียวกันเงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ แปลว่านักลงทุนต่างประเทศจากประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ใช่สหรัฐน่าจะได้กำไรจากการลงทุนในหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมากถึง 22% ซึ่งผมคิดว่าเราคงจะไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยหรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มีผลประกอบการที่ดีมากขึ้นถึง 22% ในเวลา 71 วันที่ผ่านมา

หลายคนอาจไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นมากนัก ดังนั้น การปรับขึ้นของหุ้นไทยจึงอาจเป็นการมองอนาคตที่สดใสของนักลงทุนก็ได้ แต่คำอธิบายที่น่าจะมีน้ำหนักกว่าอาจจะมาจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างยิ่งของธนาคารกลางหลักของโลกโดยเฉพาะสหรัฐ ผมเคยสรุปก่อนหน้านี้ว่านโยบายการเงินของสหรัฐคือการพิมพ์เงินออกมามากๆ ทำให้ดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ใกล้ศูนย์และนำเงินที่พิมพ์ออกมาใหม่มาแย่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรคุณภาพดีจนผลตอบแทนต่ำลง ทำให้นักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวและแม้วว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนก็ไม่ได้เป็นห่วงผลกระทบข้างเคียงแต่อย่างใด

ซึ่งนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐกำลังเห็นผลดังที่คาดการณ์ไว้ กล่าวคือ ใครที่หวังจะลงทุนอย่างระมัดระวังและสุขุมในสินทรัพย์คุณภาพดีที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะต้องขาดทุน เช่น หากลงทุนในตราสารหนี้จะขาดทุน 2.7% หากเลือกพันธบัตรรัฐบาลจะขาดทุนหนักที่สุดคือ 4.1% หรือหากลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐหรือแม้กระทั่งพันธบัตรของบริษัทชั้นนำก็จะต้องขาดทุน 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ กล่าวคือ หากต้องการผลตอบแทนสูงต้องลงทุนแบบเสี่ยงและยิ่งเสี่ยงมากก็ยิ่งดี เช่น ลงทุนในพันธบัตรบริษัทที่มีความเสี่ยงจะกำไร 1.7% พันธบัตรตลาดเกิดใหม่กำไร 0.3% และหากต้องการกำไรมากๆ ก็ต้องลงทุนในหุ้น

คำถามคือ สภาวการณ์ดังกล่าวข้างต้น (ยิ่งเสี่ยงยิ่งได้ดี) นั้น จะต่อเนื่องไปอีกนานเพียงใด ก็ต้องหันกลับมาดูว่าเงื่อนไขที่นายเบน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐกำหนดไว้ในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายนั้นจะยุติลงได้ในกรณีใดบ้าง ตรงนี้คำตอบคือ

1. การพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาใหม่เดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลและพันธบัตรระยะยาวชั้นดีของเอกชนนั้นไม่มีกำหนดเวลาที่ตายตัว

2. การกดดอกเบี้ยระยะสั้นให้อยู่ใกล้ศูนย์นั้นมิได้กำหนดระยะเวลาเช่นกัน แต่กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะค่อยๆ ยุติการผ่อนคลายเมื่ออัตราการว่างงานของสหรัฐปรับตัวลงต่ำกว่า 6.5% (ปัจจุบันอยู่ที่ 7.7%) หรืออัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นไปสูงกว่า 2.5% ต่อเนื่องกันหลายเดือน

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนักลงทุนในตลาดหุ้นจึงอาจมองข่าวร้ายเป็นข่าวดีและข่าวดีเป็นข่าวร้าย เช่น เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มีนาคมตัวเลขการจ้างงานใหม่นอกภาคเกษตรในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 236,000 คน (จากที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 170,000 คน) การว่างงานลดลงจาก 7.9% เป็น 7.7% ตลาดหุ้นสหรัฐจึงปรับตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้คอลัมน์ Heard on the Street ของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal วันที่ 11 มีนาคม ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับเดือนกุมภาพันธ์ต่อไปอีกตลอดทั้งปีจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคนต่อปี แปลว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐจะปรับลดลงเหลือ 6.9% ในปลายปีนี้ และเป็น 6.5% ในเดือนเมษายนของปีหน้า ซึ่งจะเป็นอัตราการว่างงานที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (และนักวิเคราะห์ต่างๆ รวมทั้งแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์) คาดว่าสหรัฐจะไม่ถอนคิวอีหรือปรับดอกเบี้ยขึ้นก่อนปลายปี 2014 เพราะคาดว่าอัตราการว่างงานจะไม่ปรับลดลงไปที่ 6.5% จนกระทั่งกลางปี 2015

ในกรณีที่อัตราการว่างงานของสหรัฐปรับตัวลงอย่างรวดเร็วจะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าอัตราการว่างงานธรรมชาติหรือ Natural rate of unemployment (NRU) ของสหรัฐอยู่ที่ระดับใด ทั้งนี้ NRU นั้นหมายถึงอัตราการว่างงานที่เริ่มมีแรงกดดันให้ต้องปรับเงินเดือนขึ้นและส่งผลต่อเนื่องให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ บางฝ่ายประมาณว่า NRU ของสหรัฐน่าจะอยู่ที่ 5.5-6.0% แปลว่าการที่ธนาคารกลางจะเริ่มถอนคิวอีและปรับดอกเบี้ยขึ้นตอนที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 6.5% นั้น จะไม่เสี่ยงต่อการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ แต่เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ทำให้คนว่างงานเป็นจำนวนมากและคนที่ยังตกค้างว่างงานอยู่เป็นเวลากว่า 5 ปี อาจจะขาดศักยภาพในการทำงานสมัยใหม่ที่ต้องใช้ทักษะสูง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่านายจ้างจะต้องปรับขึ้นค่าจ้างอย่างมีนัยสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับงานทั้งๆ ที่ยังมีคนว่างงานหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก กล่าวคือเป็นไปได้ว่า NRU อาจอยู่ที่ 7.0% ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐจะยังดำเนินมาตรการคิวอีและกดดอกเบี้ยลงใกล้ศูนย์ต่อไป เพราะต้องการรอให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 6.5% ก็อาจทำให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกิน 2.5% อย่างมากก็เป็นได้

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาสินทรัพย์เสี่ยง (โดยเฉพาะหุ้น) นั้นจะต้องอยู่บนสมมติฐานว่าการคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐนั้นแม่นยำถูกต้อง คือการว่างงานปรับลดลงมาที่ 6.5% แต่อัตราเงินเฟ้อไม่กระเตื้องขึ้น นั่นคือ เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้เต็มที่โดยไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ในกรณีนี้เมื่อธนาคารสหรัฐถอนคิวอีและปรับดอกเบี้ยขึ้น ราคาหุ้นก็จะไม่ปรับลงเพราะเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีและฟื้นตัวเต็มที่แล้ว แต่ในทางตรงกันข้ามหากเงินเฟ้อเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดขณะที่การว่างงานจะยังอยู่ที่ระดับสูง ก็จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะจะต้องถูกกดดันให้ปรับดอกเบี้ยขึ้นและถอนคิวอีทั้งๆ ที่เศรษฐกิจยังเปราะบาง ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงได้อย่างฉับพลันครับ