ค้าข้าวไม่ใช่ขายโอเลี้ยง-มือถือ

ค้าข้าวไม่ใช่ขายโอเลี้ยง-มือถือ

ทุกวันนี้ยังอาจมีคนเข้าใจผิดว่า การซื้อขายข้าวเปลือกจากชาวนาก่อนที่รัฐจะทำโครงการจำนำข้าว และ กำหนดราคาซื้อข้าวเปลือกขึ้นเองตามใจชอบนั้น

ตลอดมาพ่อค้าข้าวเปลือกและเจ้าของโรงสีคือ ผู้กำหนดราคาซื้อข้าวเปลือกเอาตามใจฉัน

เปล่าเลย

เนื่องจากข้าวมีตลาดส่งออก ตลาดซื้อขายข้าวทั้งข้าวเปลือกข้าวสารในประเทศถูกกำหนดโดยกรอบของราคาข้าวที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดโลก ซึ่งจะมากำหนดราคาซื้อขายข้าวในประเทศอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ราคาซื้อขายข้าวของผู้ประกอบการในประเทศที่ไปกำหนดราคาซื้อขายข้าวในตลาดโลก

ตลอดมาพ่อค้าข้าวเปลือกและเจ้าของโรงสีต้องติดตามดูราคาสภาวะตลาดที่ขึ้นลงทุกวันเวลา เรียกกันว่า “หั่งเช้ง” ตามสำเนียงจีนแต้จิ๋ว มาเป็นหลักตัดสินใจกำหนดราคาข้าวเปลือกที่ตนจะซื้อขายอยู่เสมอ “หั่งเช้ง” ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้อาจเปรียบได้กับกระดานบอร์ดตลาดหุ้นเลยทีเดียว ปัจจัยความเปลี่ยนแปลงและผันผวนมีหลายอย่าง เช่น ออเดอร์จากต่างประเทศ สต๊อกข้าวโลกจากปีก่อนมีมากหรือน้อย ภัยแล้ง ภัยพิบัติต่างๆ ที่จะมีผลถึงผลิตผลที่จะได้ในปีนั้น และการเก็งกำไรฯ

จึงต่างจากการกำหนดราคาขายโอเลี้ยง หรือมือถือ พ่อค้าแม่ค้าซื้อขายของอย่างอื่น ที่ผู้ประกอบการไม่มีสภาวะราคาแบบ “หั่งเช้ง”

นอกจากดูราคา “หั่งเช้ง” ก็ต้องดูราคาที่ผู้ประกอบการอื่นๆ ในท้องที่เขาซื้อขายกันด้วย เดี๋ยวจะไม่ได้ซื้อข้าวกับเขา เพราะก็มีเหมือนกันที่มีการตั้งราคาไว้สูงกว่า “หั่งเช้ง” โดยพ่อค้ากันเอง เพื่อหวังผลซื้อเก็บมากๆ และเก็งราคาตั้งแต่ผลผลิตเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกออกขาย ทีนี้ก็เป็นวิจารณญาณของผู้ประกอบการแต่ละคนว่าจะกล้าซื้อรับความเสี่ยงได้เพียงไหน

โดยทั่วไป ผู้ประกอบการโรงสีข้าวจะกล้าสู้ราคาข้าวเปลือกสูงๆ มากกว่าผู้ประกอบการธุรกิจซื้อขายข้าวเปลือกอย่างเดียวโดยไม่ได้ทำกิจการโรงสีข้าว เพราะข้าวเปลือกแต่ละเมล็ดเมื่อแปรรูปได้ข้าวสารออกไปแล้ว ไม่มีส่วนไหนทิ้งเลย โรงสีมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ข้างเคียง (by product) เช่น ปลายข้าว รำ และแกลบ นำรายได้ส่วนนี้ไปชดเชยส่วนต่างให้กับราคาข้าวเปลือกข้าวสารได้บ้าง โดยยอมตัดกำไรลงหรือขาดทุนบ้างบางทีก็ต้องยอมเสี่ยงไปก่อน เพราะความเสื่อมสึกหรอของเครื่องจักรก็ดี การจ่ายเงินค่าจ้างบุคลากรทุกวันโดยไม่มีข้าวเปลือกมาสีก็ดี หากโรงสีใดปล่อยให้เกิดสภาพนี้ หมายความว่ามี หายนะทางการค้ารออยู่เบื้องหน้า พาลจะเสียลูกค้าทั้งข้าวสารข้าวเปลือกไปหมด ไหนจะเสียเครดิตกับธนาคารอีกเล่า เพราะไม่มีเงินสะพัดเข้าออก ส่งผลถึงวงเงินกู้ที่จะนำมาค้าขายอีกต่างหาก

มีข้าวเปลือกมาสี แค่พอคุ้มทุนก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ เพราะต้องอยู่เฉยๆ นานมาก นี่คือวิธีคิดของผู้ประกอบการโรงสี เพราะกว่าฤดูกาลเกษตรจะมาถึงก็ต้องรอวงจรหนึ่งปีสำหรับข้าวนาปีที่ปลูกครั้งเดียวต่อปี ถึงเป็นข้าวนาปรังปลูก 1-2 ครั้งต่อปีก็ต้องรอเวลาของมัน ใช่จะคิดปลูกตอนไหนซื้อขายตอนไหนก็ได้ การต้องเคารพตรงต่อเวลาของฤดูกาลเกษตรเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการซื้อข้าวเปลือกมีวิธีการคิดวิธีทำงานที่ต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ทันเวลา ต่างจาก ธรรมชาติของการค้าขายสินค้าอื่นๆ เช่น โอเลี้ยง มือถือ ผ้าไหม คอมพิวเตอร์ฯ ที่ไร้เวลาแห่งฤดูกาลบังคับ

ฤดูกาลเกษตรยังบังคับให้ผู้ประกอบการค้าขายข้าวเปลือกข้าวสารต้องซื้อมาขายไปภายใน 10-12 เดือน ก่อนผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกมาหรืออย่างมากสุดก็ 14-16 เดือน มิฉะนั้น ก็จะเป็นความผิดพลาดชนิดให้อภัยไม่ได้ ข้าวเก็บไว้นานเกินไปก็ขายไม่ออก หรือไม่ก็ต้องยอมขายถูกขายทิ้ง ซึ่งผู้ประกอบการมืออาชีพจะไม่มีวันรอจนถึงจุดนี้เป็นอันขาด ต้องคลี่คลายก่อนจุดวิกฤติเพราะรู้เห็นวงจรชีวิตการค้าข้าวแล้วว่าจะดำเนินปีต่อปีอย่างไร

ที่กล่าวมานี้ยังไม่ได้เอ่ยไปถึงการดูคุณภาพข้าวเปลือก และความชื้นของข้าวเปลือกขณะซื้อขาย ตลอดจนหน้าที่การรักษาดูแลความชื้นข้าวเปลือกไม่ให้เกินระดับ 14 เปอร์เซ็นต์ตลอดปีในยุ้งฉาง ปลอดจากสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ เช่นมูลสัตว์ เศษอาหาร (จากคนงาน) หนู แมลงต่างๆ ซึ่งจะทำให้ยิ่งเห็นว่าวิทยายุทธ์ของผู้ประกอบการซื้อข้าวต้องใช้เวลาเรียนรู้ฝึกงานมาไม่น้อย ตลอดมาในวงการค้าข้าวตำแหน่งหลงจู๊ดูข้าวเปลือกเป็นที่ต้องการขนาดประมูลตัวกันเลยทีเดียว ที่ว่าฝึกนายตำรวจหรือเซอร์เวเยอร์คนไหนเข้าคอร์สเร่งด่วนแล้วทำได้นั้นอย่าไปเชื่อ แหกตาทั้งนั้น

ดังนั้น หากอยู่ดีๆ มี อดีตพ่อค้าโอเลี้ยง แม่ค้ามือถือ พ่อค้าผ้าไหม หรือพ่อค้าแม่ค้าขายของอื่นๆ ที่ไม่คุ้นชินกับวิถีของข้าว แล้วหันมาประกอบการซื้อขายข้าวกันง่ายๆ ชนิดชั่วข้ามคืนแบบนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้แล้วไซร้ เล่นกำหนดราคาซื้อข้าวเปลือกโดยไม่ดู "หั่งเช้ง" ตั้งราคาสูงลิบเพื่อเอาใจรวบซื้อข้าวทั้งประเทศ ไร้แม้กระทั่ง "หลงจู๊" ดูคุณภาพข้าวเปลือก ไร้ยุ้งฉางโกดัง ไร้โรงสีในความควบคุมที่จะช่วยเยียวยาภาวะคับขันได้บ้าง ต้องถือว่าจงใจทำการค้าอย่างสุ่มเสี่ยงตั้งแต่ต้น ตั้งใจผลาญเงินทุนโดยแท้ มิใช่แม้กระทั่งความผิดพลาดโดยสุจริต

คนคิดและคนทำนโยบายจำนำข้าว อาจ ประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมของประชาในทางการเมือง แต่ในทางธุรกิจและการเกษตรที่ยั่งยืน คนเหล่านี้ เป็นได้เพียงนักธุรกิจชั้นเลวที่หันมาค้าข้าวดังที่กำลังเห็นอยู่ในขณะนี้เมื่อรัฐบาลต้องโละข้าวจำนวนมหาศาลออกขายอย่างขาดทุนวินาศสันตะโร

สำหรับคนไทยที่ชอบกินข้าว และยังไม่อยากเปลี่ยนไปกินขนมปังหรือสปาเก็ตตี้ทุกมื้อ แทนที่จะได้กินข้าวใหม่-ข้าวเก่าอร่อยๆ กลับต้องกินข้าวเก็บนานเสื่อมสภาพ ถูกรมยา ขึ้นรา กระทั่งหมูหมากาไก่กินปลายข้าวและรำ ก็กินสารพิษก่อมะเร็งพร้อมคน

ในประวัติศาสตร์การค้าข้าวตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา มิเคยปรากฏความเสื่อมถึงขนาดนี้

"เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ" ภาษีกูที่มึงกิน จึงก่อเกิดจำนำข้าว