ความท้าทาย ของ ทีวีดิจิทัล สำหรับผู้ประกอบการรายเดิม

ความท้าทาย ของ ทีวีดิจิทัล สำหรับผู้ประกอบการรายเดิม

หลังจากเคยเป็นข่าวครึกโครมกับวาระแห่งชาติเรื่องการประมูลใบอนุญาตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ก็กำลังจะพบความท้าทายใหม่คือ การประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ซึ่งนัยว่าเป็นวาระแห่งชาติประมาณเดียวกัน เพราะทีวีคือสื่อหลักในสังคมไทยที่ประมาณร้อยละ 98 ของครัวเรือนเปิดรับ

แต่เดิม ทาง กสทช. ได้กำหนดว่าทีวิดิจิทัลในเฟสแรกจะมีทั้งหมด 48 ช่อง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ใบอนุญาต คือ ใบอนุญาตช่องรายการประเภทสาธารณะ 12 ช่อง ใบอนุญาตช่องรายการประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ซึ่งแบ่งเป็นช่องทั่วไป (Standard Definition หรือ SD) 20 ช่อง และช่องความละเอียดสูงหรือ High Definition (HD) 4 ช่อง และใบอนุญาตช่องรายการประเภทชุมชน 12 ช่อง เฉพาะช่องธุรกิจเท่านั้นที่จะต้องประมูลตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 สำหรับช่องรายการประเภทสาธารณะและชุมชนน่าจะใช้วิธีประกวดคุณสมบัติในด้านต่างๆ หรือบิวตี้คอนเทสต์ (beauty contest)

ตามข่าวล่าสุด เริ่มมีความปั่นป่วนระลอกใหม่ในสำนักงาน กสทช. ที่จะเปลี่ยนจำนวนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่จะเปิดประมูล โดยอาจเพิ่มจำนวนช่องที่มีความละเอียดสูง เนื่องจากมีแบนด์วิธเหลือให้ทำได้ แต่ปัญหาคือ ทาง กสทช. ได้มอบให้ทางคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษามูลค่าคลื่นตามกรอบจำนวนช่องเดิมไปแล้ว หากมีการปรับเปลี่ยนก็อาจจะต้องล้มผลการศึกษาเดิม และทำการศึกษาใหม่ การประมูลก็อาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก

อย่างไรก็ดี การเลื่อนการประมูลก็อาจเป็น “ข่าวดี” สำหรับผู้ประกอบการโทรทัศน์รายเดิมจำนวนหนึ่งที่มองว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลเป็นภาวะคุกคามทางธุรกิจของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ซึ่งกว้างขวางกว่าเพียงช่องรายการ เนื่องจาก กสทช. ได้กำหนดการประกอบกิจการโทรทัศน์เป็น 4 ลักษณะตามห่วงโซ่การประกอบกิจการได้แก่ 1. ผู้ให้บริการโครงข่าย 2. ผู้ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น บริการเสาสัญญาณ จานดาวเทียม เป็นต้น 3. ผู้ให้บริการ ช่องรายการ และ 4. ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น เช่น บริการเสริมให้ผู้รับโทรทัศน์อย่าง การเตือนภัยธรรมชาติ ข้อมูลตลาดหุ้น การแสดงความคิดเห็นต่อรายการที่ชม เป็นต้น

หากจะต้องประเมินแล้ว ผู้ประกอบการรายเดิมที่น่าจะได้รับผลกระทบสูงที่สุดในทุกมิติของห่วงโซ่การประกอบกิจการ คงเป็น ผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์ดาวเทียม และ เคเบิลทีวี ซึ่งนับเป็นรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ที่แพร่หลายในแง่ของการให้บริการโครงข่ายมากกว่าโทรทัศน์ภาคพื้นดินเสียอีกในปัจจุบัน ตัวเลขล่าสุดจาก AGB Nielsen ของการเข้าถึงโทรทัศน์สะท้อนให้เห็นว่า ประชากรไทยรับโทรทัศน์ผ่านแพลทฟอร์มที่ไม่ใช่ภาคพื้นดิน คือ ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวีในอัตราส่วนที่สูงกว่าคือ ร้อยละ 55 (แบ่งเป็น ดาวเทียม เคเบิลท้องถิ่น และทรูวิชั่นส์ ร้อยละ 45, 11, และ 9 ตามลำดับ)

หากเกิดทีวีดิจิทัลขึ้นมา ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมจะต้องแข่งขันกับโครงข่ายทีวิดิจทัลซึ่งมีสัญญาณเชื่อถือได้มากกว่าหรือเสถียรกว่าอีกทั้งยังสามารถมีบริการเสริม (application) ได้ และเป็นโครงข่ายสัญญาณไร้สาย ติดตั้งและรับสัญญาณได้สะดวกกว่า ซึ่งในส่วนของโอกาสการได้รับใบอนุญาตโครงข่าย ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์รายเดิมน่าจะมีโอกาสได้รับอนุญาตมากที่สุด เพราะมีอุปกรณ์ เครื่องมือ บุคลากร สถานที่ และประสบการณ์มากกว่าผู้ที่เข้าสู่ตลาดใหม่ และ สำหรับการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกนั้น เป็นบริการที่ควบคู่ไปกับการให้บริการโครงข่าย ผู้มีส่วนได้และส่วนเสียจึงมีลักษณะเดียวกัน

ในส่วนของผู้ให้บริการช่องรายการทีวีดิจิทัล (ที่ไม่ใช่ช่องชุมชน) จะต้องถูกนำพาไปออกอากาศในทุกโครงข่ายรวมถึงโครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวีตามกฎของการเผยแพร่กิจการที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (must-carry rules) ส่งผลให้มีจำนวนผู้เปิดรับ/เข้าชม (eyeballs) เกือบครบ 100% แม้ว่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลจะยังไม่ครอบคลุมประชากร 100% ก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะช่องรายการทีวีดิจิทัลมีลักษณะเป็นสื่อสารมวลชน เนื่องจากเนื้อหาเดียวกันถูกส่งไปในทุกแพลทฟอร์ม ไม่เหมือนช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมที่ถูกส่งไปในแพลทฟอร์มของตนหรือพันธมิตรทางธุรกิจเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียมก็ยังน่าจะมีรายได้ลดลงอีกจากค่าเช่าช่องรายการที่สูญเสียไปเนื่องจากช่องรายการดาวเทียมบางส่วนจะย้ายไปออกอากาศทางทีวีดิจิทัล ค่าขายกล่องที่ตลาดอิ่มตัวแล้ว และการขาดรายได้จากค่าเรียงช่องรายการเนื่องจาก กสทช. ได้ออกประกาศห้ามหารายได้จากการเรียงช่อง ดังนั้น จึงเหลือรายได้เพียงค่าเช่าจากช่องรายการที่ไม่ได้ย้ายไปทีวีดิจิทัล และ ค่าโฆษณาจากช่องรายการที่ผลิตเอง

คำถามคือ จะเพียงพอต่อการประกอบกิจการหรือไม่ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียม เช่น IPM, PSI, DTV จะผันตัวไปเป็นกิจการบอกรับสมาชิก เนื่องจากค่าโฆษณาที่จะได้รับน่าจะน้อยลงเพราะมีช่องรายการทีวีดิจิทัลมาเป็นตัวแบ่งรายได้ เพราะฉะนั้น ก็อาจมีทางเลือกอยู่สามทางคือ

ก) ต้องพยายามหาช่องรายการที่มีเนื้อหาน่าสนใจมากพอที่ผู้บริโภคจะยอมเสียค่าสมาชิก

ข) รวมตัวกันเพื่อเพิ่มสร้างความแข็งแกร่ง

ค) ล้มเลิกกิจการไป

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่า “จากที่จะล้มเสาก้างปลา ตัวเองจะโดนทุบจาน” เสียเอง