โพลล์ผู้ว่าพลาดได้อย่างไร

โพลล์ผู้ว่าพลาดได้อย่างไร

ในการแข่งขันบาสเกตบอลชิงเหรียญทองโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1972 ที่เยอรมนี ทีมสหรัฐอเมริกาและโซเวียตสู้กันดุเดือดจนสัญญาณหมดเวลาดังขึ้น

สหรัฐอเมริกาชนะไป 1 แต้ม ดีใจกันใหญ่ ฝ่ายโซเวียตประท้วงว่ายังเหลือเวลาอีก 1 วินาที ทันทีที่กรรมการยอมต่อเวลาให้ ผู้เล่นโซเวียตก็โยนลูกข้ามคอร์ต ผู้เล่นอีกคนรับได้ทันทีและหยอดลงไปได้ 2 แต้ม และก็หมดเวลาพอดี สุดท้ายเป็นอันว่าโซเวียตชนะไป อย่างนี้เรียกว่าแต่ละฝ่ายชนะ แต่โซเวียตชนะหลังสุด

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเร็วๆ นี้ก็เช่นกัน ทั้งสองฝ่ายชนะโดย พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ ชนะก่อนด้วยโพลล์ต่างๆ ทันทีที่ปิดหีบลง แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ชนะหลังสุดเมื่อนับคะแนนจริงครบ

มันเป็นไปได้อย่างไรที่สารพัดโพลล์ของหลากหลายแหล่งจะผิดได้ขนาดนั้น แต่มันก็เป็นไปแล้วและจะเป็นอีก ถ้าไม่ศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น

ที่โกรธจนขำก็คำอธิบายของนักทำโพลล์บางคนที่ว่าความคลาดเคลื่อนขนาดหนักชนิดหน้าแตกแบบหมอปฏิเสธเย็บนั้น เกิดจากนิสัยคนไทยที่ไม่ชอบเปิดเผยความจริงว่าลงคะแนนให้ใครเมื่อถูกถามเพื่อทำ Entry และ Exit Poll นอกจากนี้มีการแข่งขันกันดุเดือดแบ่งฝ่ายจนคนไทยไม่ตอบตามความเป็นจริง

อุแม่เจ้า ที่ผิดพลาดกันขนาดเอาปี๊บคลุมหัวขนาดนี้เป็นความผิดของพวกเรา! ไม่ใช่ของคนทำโพลล์

เมื่อพวกท่านเป็นคนทำโพลล์ที่ดีก็ต้องศึกษาสภาพแวดล้อมของการทำโพลล์ อุปนิสัยของคนถูกถาม ลักษณะของคำถามที่ทำให้ผู้ตอบเข้าใจชัดเจน ฯลฯ แล้วหาทางปรับตัวเลขที่ได้มาด้วยหลักวิชาการทางสถิติเพื่อให้ได้ตัวเลขที่คิดว่าสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด

มันเป็นหน้าที่ของคนทำโพลล์ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ประกอบเพื่อปรับข้อมูลที่ได้รับมา หาใช่หน้าที่ของคนตอบที่จะต้องตอบให้ตรงตามลักษณะที่ผู้ทำโพลล์ต้องการไม่

ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ทำโพลล์มาบ้าง เชื่อว่าความผิดพลาดของ Entry Poll และ Exit Poll มาจากสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการดังต่อไปนี้

(1) ตัวอย่างที่เก็บได้นั้น ไม่ใช่ตัวแทนที่ถูกต้องของผู้ลงคะแนนเสียง พูดอีกอย่างก็คือซุปของทัพพีที่ตักมานั้นไม่ใช่ตัวแทนรสชาติของซุปทั้งหม้อ

ความจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือผู้มาลงคะแนนเสียงในแต่ละช่วงเวลานั้นอาจเป็นคนที่มีแบบแผนการเลือกผู้สมัครแตกต่างกัน นอกจากนี้บางหน่วยเลือกตั้งอาจมีการลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครคนเดียวอย่างท่วมท้นก็เป็นได้

เมื่อเก็บตัวอย่างในบางช่วงเวลาและจากบางหน่วยเลือกตั้งโดยมิได้ศึกษาแบบแผนการลงคะแนนและองค์ประกอบของผู้มาลงคะแนนของหน่วยที่เก็บอย่างละเอียด ตัวอย่างที่เก็บได้จึงมิใช่ตัวแทนของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมดอย่างแท้จริง ดังนั้น ต่อให้เขาตอบตามความเป็นจริง ผู้ทำโพลล์ก็ผิดวันยังค่ำ

การทำ Entry Poll และ Exit Poll นั้นยากกว่าการทำโพลล์พยากรณ์ผลเพราะความยากของการได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด ลองจินตนาการดูว่าถ้าจะต้องมีการเลือกคนจะไปลงคะแนนหรือลงคะแนนแล้วที่มีลักษณะตรงกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการซึ่งมีฐานจากอายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา ฯลฯ ถามว่าจะมีใครตอบได้ละเอียดขนาดนั้นในเวลาอันสั้น และต้องตัดสินใจตรงนั้นว่าจะเอาไว้ในกลุ่มตัวอย่างหรือไม่

การทำโพลล์แบบนี้ต้องมีการประมวลผลอย่างรวดเร็ว (มิฉะนั้นผลจากการนับคะแนนจริงอาจออกมาก่อน!) ต้องมั่นใจในกลุ่มตัวอย่าง และรู้จักปรับคะแนนที่ได้ตามหลักวิชา

(2) ประสบการณ์ของผู้ถาม ในสถานที่เลือกตั้งและบริเวณใกล้เคียงมักมีผู้สนับสนุนผู้สมัครหลายคนปรากฏตัวอยู่ การถามคำถามต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ มิฉะนั้นผู้ตอบอาจไม่ให้ความร่วมมือ หรือตอบไปตามเพลงเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บตัวก็เป็นได้

การได้กลุ่มตัวอย่างมาจึงเป็นไปเพราะความบังเอิญหรือสิ่งแวดล้อม มิได้เป็นไปตามการออกแบบอิงวิชาการแต่แรก ผลที่ออกมาจากกลุ่มตัวอย่าง "บังเอิญ" จึงให้ผล "บังเอิญ" ด้วย

ถ้าหากไม่มีการควบคุมงานสนามที่ดี เจ้าหน้าที่สนามอาจขี้เกียจหรือปวดหัว จนสุดท้ายอาจตอบเสียเองก็เป็นได้

เหตุใดทุกโพลล์ ยกเว้น นิด้าโพลล์ จึงให้ผล Entry และ Exit Poll ที่เป็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามคะแนนจริงเหมือนกันหมด? ผู้เขียนตอบไม่ได้แต่ขออนุมานว่าคงใช้ผลจากโพลล์พยากรณ์ก่อนหน้าเป็นฐานในการตัดสินใจค่อนข้างมาก

เมื่อตัวอย่างของโพลล์ Entry และ Exit ผิดพลาดและผลจากโพลล์พยากรณ์ผิดพลาด ทุกอย่างที่ตามมาจึงพากันลงเหวไปหมด

สาเหตุสำคัญที่โพลล์พยากรณ์ผิดพลาดก็เพราะมีคนแห่มาลงคะแนนเพิ่มจากที่โพลล์คาดกันไว้ถึงร้อยละ 13 (จากร้อยละ 51 ครั้งที่แล้วเป็นร้อยละ 64 ในครั้งนี้) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 570,000 คน

หากถามว่าเหตุใดคนเหล่านี้ถึงแห่กันมาลงคะแนนครั้งนี้ คำตอบก็อาจเป็นว่าเพราะส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้มีความจำไม่เลอะเลือนและกลัวบ้านเมือง “ถูกกลืนทั้งหัวจรดหาง”