ไปศึกษาดูงานที่ ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียและศาลสูงสุดมาเลเซีย

ไปศึกษาดูงานที่ ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียและศาลสูงสุดมาเลเซีย

ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ที่ประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ต่างก็มีรัฐธรรมนูญหรืออาจเรียกชื่ออย่างอื่น เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ และมีศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลยุติธรรม หรือองค์กรอื่น ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่น ปัญหากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การคุ้มครองสิทธิของประชาชนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การฟ้องร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ (Constitutional Court) ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ไทย เมียนมาร์ (สำหรับเมียนมาร์เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Constitutional Tribunal) ประเทศที่ไม่ได้แยกศาล และกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาคือ บรูไน ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ส่วนที่กำหนดให้เป็นอำนาจขององค์กรที่เรียกชื่ออย่างอื่นคือ กัมพูชา เป็นอำนาจของ สภารัฐธรรมนูญ (Constitutional Council) เวียดนามเป็นอำนาจของ คณะกรรมาธิการกฎหมายของรัฐสภา (Committee on Law of the National Assembly)

โครงการอบรมหลักสูตร หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มจัดอบรมเป็นรุ่นที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2556 ได้จัดให้ผู้เข้ารับการอบรมไปศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ อินโดนีเซีย และศาลสูงสุดมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2556

ในวันที่ 5 มีนาคม 2556 ไปศึกษาดูงานที่ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย มี Dr. Harjono ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อินโดนีเซีย เป็นผู้บรรยายสรุป และเปิดโอกาสให้มีการซักถาม สรุปได้ดังนี้

ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ก่อตั้งในปี 2546 ประกอบด้วยตุลาการ 9 ท่าน มาจากการแต่งตั้งโดยการเสนอชื่อของประธานาธิบดี 3 ท่าน เสนอชื่อโดยประธานศาลฎีกา 3 ท่าน และเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎร 3 ท่าน อำนาจหน้าที่หลัก ของศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย คือ การพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (Judicial Review) การวินิจฉัยชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคการเมือง การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งทั่วไปหรือเรียกว่าการร้องเรียนเรื่องการเลือกตั้ง การกลั่นกรองญัตติที่ยื่นถอดถอนประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดี

ช่วงการซักถาม มีที่น่าสนใจ เช่น เรื่องบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่มีต่อหลักการการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจของการปกครอง ได้รับการชี้แจงว่า การถ่วงดุลที่เห็นได้ชัดเจน คือ อำนาจการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือกรณีที่สภาผู้แทนยื่นถอดถอนประธานาธิบดี ก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเป็นเบื้องแรกว่าญัตติ มีมูลและมีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ หากมีมูลและหลักฐานพอเพียง ก็ส่งไปให้สภาสูงเป็นผู้พิจารณาต่อไป ต่อข้อซักถาม เรื่องการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ที่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียวินิจฉัยว่า กฎหมายเลือกตั้งส่วนนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่จะลงรับสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง

คดีการวางระเบิดที่บาหลี ที่จำเลยโต้แย้งว่ากฎหมายความผิดฐานก่อการร้ายที่ใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ เป็นกฎหมายย้อนหลัง ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียวินิจฉัยว่า กฎหมายที่บังคับใช้เพื่อป้องกันการก่อการร้าย เป็นการคำนึงถึงชีวิตความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญและสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศในการป้องกันการก่อการร้าย การวางระเบิดเป็นการฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งก็เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาอยู่แล้ว กฎหมายก่อการร้ายที่ใช้บังคับในคดีนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ สำหรับการยุบพรรคการเมือง จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง ส่วนข้อถามกรณีการลงมติของคณะตุลาการ หากเท่ากันจะ มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ประธานมีสิทธิออกเสียงวินิจฉัยชี้ขาดเพิ่มอีกหนึ่งเสียงได้หรือไม่ ได้รับการชี้แจงว่า ในทางปฏิบัติประธานจะไม่ออกเสียง เช่น หากมีมติ 6 เสียงต่อ 2 ประธานก็ไม่จำเป็นต้องออกเสียง แต่ถ้าหากมีเสียงเท่ากัน 4 ต่อ 4 ประธานจึงจะออกเสียง และออกเสียงให้ฝ่ายไหน ก็ให้ถือไปตามมติของ ฝ่ายนั้น

วันที่ 6 มีนาคม 2556 ไปศึกษาดูงานที่ศาลสูงสุดของมาเลเซีย (The Federal Court of Malaysia) ตั้งอยู่ที่ The Palace of Justice ในเมือง Putra Jaya ที่เป็นศูนย์ราชการใหม่ของประเทศมาเลเซีย ที่ The Palace of Justice เป็นที่ตั้งของศาลอุทธรณ์ด้วย เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้พาชมสถานที่และห้องพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ และอธิบายระบบศาลของมาเลเซีย การพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ไม่มีการสืบพยานใหม่ แต่เปิดห้องพิจารณาเพื่อเปิดโอกาสให้โจทก์หรือจำเลยแถลงคดีต่อศาล ซึ่งศาลก็สามารถซักถามประเด็นให้มีความชัดเจนขึ้น มีการวางกรอบการพิจารณาคดีไว้ด้วย คือศาลชั้นต้นใช้เวลาไม่เกินเก้าเดือน ตั้งแต่วันเริ่มคดีจนตัดสิน ศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุด แต่ละศาลมีกรอบเวลา 3 เดือน แต่ละศาลมีคดีค้างไม่มาก คดีที่ค้างอยู่มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ศาลแพ่งที่กัวลาลัมเปอร์มีการแยกคดีการค้าหรือคดีพาณิชย์ (Commercial cases) ออกมาต่างหากจากคดีแพ่งทั่วไป โดยคดีการค้าจะมีประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของคดีทั้งหมด

ช่วงต่อมาเป็นการบรรยายถึงอำนาจหน้าที่ของศาลสูงสุด โดย Tan Sri Dato Seri Zulkefli ตุลาการศาลสูงสุดมาเลเซีย สรุปได้คือ ศาลสูงสุดมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาที่ศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้วและคู่ความยื่นอุทธรณ์มายังศาลสูงสุด และยังมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา หรือโดยอำนาจนิติบัญญัติของรัฐ ว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ วินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือรัฐบาลกลางและรัฐต่างๆ ตัวอย่างเช่น คดีที่วินิจฉัยว่า การถอดถอนมุขมนตรีแห่งรัฐ ที่เดิมมีเสียงสนับสนุนข้างมาก ต่อมามีการเปลี่ยนข้างของเสียงสนับสนุน ทำให้เสียงสนับสนุนกลายเป็นเสียงข้างน้อย ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อข้อซักถามขอทราบความเห็น กรณีที่นักการเมืองไทย เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญของไทย แต่ที่มาเลเซียกลับปรากฏว่า สืบเนื่องมาจากคดีการเวนคืนที่ดินในรัฐซาราวัค จึงมีข้อเสนอจากประชาชนว่าถึงเวลาที่มาเลเซียสมควรมีศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ท่านตุลาการผู้บรรยายมีความเห็นว่า ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่ใช้ระบบ Common Law เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ที่ใช้ระบบศาลเดี่ยวและให้ศาลสูงสุดมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหมาะสมอยู่แล้ว ต่อข้อถามว่าศาลสูงสุดมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยยับยั้ง โครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ก่อให้เกิดความเสียหายได้หรือไม่ โดยผู้ถามได้ยกโครงการรับจำนำข้าวของไทยเป็นตัวอย่าง ได้รับคำชี้แจงว่า ศาลสูงสุดไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐบาล

บทสรุป ถึงแม้การ ศึกษาดูงานที่ศาลศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียและศาลสูงสุดมาเลเซีย แต่ละแห่งจะมีเวลาเพียงครึ่งวัน แต่ก็ได้ข้อคิดที่น่าจะนำมาพิจารณาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะกรณีที่ระบบการพิจารณาคดีของศาลมาเลเซีย ได้กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีของศาลไว้ และการแยกคดีพาณิชย์ออกจากคดีแพ่งทั่วไป นอกจากนี้การไปศึกษาดูงานครั้งนี้ ยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาลรัฐธรรมนูญไทย กับศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย และศาลสูงสุดมาเลเซียด้วย ซึ่งในอนาคต เมื่ออาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว คงจะต้องมีการประสานร่วมมือกันมากขึ้น เพราะอาจมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายของความตกลงต่างๆ รวมทั้งกรณีกฎหมายภายในที่รองรับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ ดังที่ NGO ในอินโดนีเซียร้องว่า กฎบัตรอาเซียน (Asean Charter) ขัดต่อรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย เป็นต้น