กลิ่น..อาวุธลับความสำเร็จ

กลิ่น..อาวุธลับความสำเร็จ

หากนำเรื่องกลิ่นมาปรับประยุกต์ในการสร้างประสบการณ์ ร่วมกับยุทธวิธีในการสื่อสารหรือกิจกรรมต่างๆ จะช่วยสร้างผลลัพท์ใหม่ๆ

กลิ่นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกอารมณ์และพฤติกรรมของเรานับแต่กำเนิดแม้คนเราจะรับรู้ได้ว่าได้กลิ่นอะไรหรือตอบได้ว่าชอบหรือไม่ แต่อิทธิพลของกลิ่นซึ่งแท้ที่จริงสูงยิ่งต่อทัศนคติพฤติกรรมและผลงานยังถูกเพิกเฉยอยู่มากต่อการประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจการตลาดบริหารองค์กรบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาตนเอง


แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะร่างกายและจิตใจคนย่อมมิรู้เท่าทันกลไกของการโน้มน้าวที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ทั้งไม่มีทางหลีกเลี่ยงเฉกเช่นกลิ่นนี้


ดิฉันขอยกงานศึกษาที่น่าสนใจต่อการปรับใช้เรื่องบริหารตนบริหารคนบริหารองค์กรและบริหารลูกค้า สักสี่กรณีศึกษา


กลิ่นกระตุ้นความสนใจความจำการตื่นตัว


งานศึกษาของ Kristin McCombs และคณะ จากมหาวิทยาลัย Wheeling Jesuit ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารฮาร์ดวาร์ดบิสสิเนส รีวิว ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 นี้ ระบุว่านักศึกษาทำคะแนนการเล่นเกมส์เพิ่มขึ้น 26% และไต่ระดับสูงขึ้น 4% ระดับ เมื่อปรับบรรยากาศด้วยกลิ่นสาระแหน่ หรือเปปเปอร์มิ้นท์ จึงได้ผลการศึกษาว่า

กลิ่นสาระแหน่นั้น สามารถกระตุ้นและคงระดับความสนใจ ช่วยเรื่องการจดจำ สร้างภาวะตื่นตัวและอารมณ์เชิงบวก


กลิ่นกับความเชื่อมั่นในผลงาน


เมื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Warwick สหราชอาณาจักรได้รับฟีตแบคว่าผลการเรียนไม่ดี และได้สูดกลิ่นใดๆในห้วงเวลานั้น ในเวลาต่อมา เมื่อได้สูดดมกลิ่นเช่นนั้นอีกในต่างวาระ ก็จะรู้สึกซึมเศร้า ผิดจากผู้ที่ได้รับความเห็นว่าผลการเรียนดี มีศักยภาพ ประสบความสำเร็จดังเป้าหมาย เมื่อได้กลิ่นใดในเวลานั้น พิสูจน์ได้ว่าต่อมา เมื่อได้กลิ่นเช่นนั้นอีก จะมีปฎิกิริยาตรงกันข้ามกับกลุ่มแรก กล่าวคือ ระดับความมั่นใจจะเพิ่มขึ้นอย่างเปี่ยมล้ม


กลิ่นกับการเพิ่มพูนพลังกาย


งานศึกษาของมหาวิทยาลัย Wheeling Jesuit Universityพบว่ากลุ่มเป้าหมายที่ได้กลิ่นสาระแหน่เมื่อให้วิ่ง 15 นาทีจะอ่อนล้าน้อยกว่า มีกำลังวังชามากกว่า และเชื่อมั่นในกำลังการวิ่งยิ่งกว่ากลุ่มเป้าหมายที่วิ่ง โดยไม่ได้มีการเพิ่มกลิ่นใดๆเข้าไป กลุ่มเป้าหมายได้สูดกลิ่นระหว่างการวิ่งแม้จะใช้เวลา 15 นาทีเท่ากัน ก็ยังสามารถวิ่งได้เร็วกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ


กลิ่นกับการตัดสินคุณค่า


ดร.Alan Hirsch แห่งthe Smell and Taste Research Foundation ในชิคาโกได้แสดงผลการศึกษาว่าลูกค้าจะตัดสินว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณค่ามากกว่าหากซื้อหาจากร้านค้าที่มีกลิ่นที่สดใสมีชีวิตชีวายิ่งกว่าร้านที่ไม่มีกลิ่นในบรรยากาศของร้าน


จากกรณีศึกษาตัวอย่างข้างต้นและงานศึกษาเรื่องอิทธิพลของกลิ่นซึ่งเริ่มแพร่หลายนับแต่ปีคศ.2000 เป็นต้นมา ที่แนวคิดการจัดการให้คุณค่าความสำคัญกับปัจจัยที่จับต้องได้ยาก หรือ intangible factor นับว่า หากนำเอามาปรับประยุกต์ในการสร้างประสบการณ์ ร่วมกับยุทธวิธีในการสื่อสารหรือกิจกรรมต่างๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ก็จะช่วยสร้างผลลัพท์ใหม่ๆ จากการสร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อร้านค้าปลีก ร้านอาหาร สถานพยาบาล ห้องเรียน ที่บ้านหรือที่ทำงาน อย่างตรงเป้าประสงค์


หากกล่าวให้จำเพาะเข้าในมิติที่ทำงานและคนทำงาน พบได้ทั่วกันว่าที่ทำงานร่วมสมัย มักมุ่งพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะวัฒนธรรมหรือวิถีการใช้ชีวิต ที่ต้องการพนักงานที่มีคุณลักษณะและแบบฉบับ การทำงานร่วมกันจำเพาะไปในแต่ละองค์กร เราจึงพบการสื่อสารหลากมิติในยุคที่ข้อมูลข่าวสารทะลักล้น และคนทำงานสมาธิสั้นเข้าทุกที แต่การปรับเปลี่ยนอารมณ์ มุมมอง พฤติกรรม หรือรูปแบบการทำงานใหม่ ให้ตรงอย่างเป้าหมายนั้น กลับเป็นไปเอื่อยเนือย


การประยุกต์ใช้กลิ่นเป็นลูกเล่นนั้น หากโจทย์ของที่ทำงานเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลลัพท์ ความเร่ง การทำงานเชิงรุก หรือความกระตือรือล้นมุ่งมั่น การปรับใช้กลิ่นเปปเปอร์มิ้นท์สดในที่ทำงาน จะช่วยกระตุ้นทั้งความกระรือตือร้นและความสนใจจดจ่อได้ดียิ่งขึ้น


พร้อมกันนั้นหากพิจารณาที่ทำงานยุคนี้เราจะพบการออกแบบตบแต่งอย่างดูดีเป็นหน้าเป็นตา ให้พนักงานรู้สึกว่าสะดวกสบายและภาคภูมิใจ แต่หากในการต้อนรับพนักงานใหม่ การทำกิจกรรมปฐมนิเทศ หรือการให้ความคิดเห็นเชิงฟีตแบค หากมีกลิ่นหอมอวล อย่างวานิลา จะช่วยให้ผู้ที่ได้สัมผัสเกิดการรับรู้เชิงบวก และผูกพัน ทั้งพนักงานปัจจุบัน และพนักงานในอนาคตอย่างผู้มาเยี่ยมชมหรือสมัครงาน


จากประสบการณ์ของคณะที่ปรึกษาบ.โนเลจสตอร์มคอนซัลติ้งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเชิงพัฒนาทัศนคติหรือมุมคิดใหม่เมื่อได้ปรับใช้กลิ่นผลไม้สดตระกูลเบอรรี่ประกอบในห้องพัฒนาพบว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาเปิดใจรับมุมมองใหม่และพิสูจน์ผลสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาได้ไม่น้อยกว่า 85% เสมอ


หากเคยมองข้าม หรือไม่เห็นความสัมพันธ์ของกลิ่นกับการบริหารการพัฒนาคนและองค์กร ลองทบทวนใหม่ ยังไม่สายค่ะ