ก้าวใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – สหภาพยุโรป

ก้าวใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – สหภาพยุโรป

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเยือนสหภาพยุโรปครั้งประวัติศาสตร์ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2556

ที่แม้แต่นาย Jose Manuel Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ยังกล่าวต่อสื่อมวลชนหลังการพบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย ว่าประเทศไทยและอียูกำลังเข้าสู่ยุคใหม่ของความสัมพันธ์

การเยือนครั้งนี้ เริ่มจากการสร้างประวัติศาสตร์ว่า นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เป็นผู้นำไทยคนแรกที่ได้พบกับผู้นำของ 3 สถาบันหลักของสหภาพยุโรป ทั้งนาย Martin Schulz ประธานรัฐสภายุโรป นาย José Manuel Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนาย Herman Van Rompuy ประธานคณะมนตรียุโรป

นอกจากนี้ ความเป็นประวัติศาสตร์ของการเยือนครั้งนี้ ยังเห็นได้อย่างชัดเจนจากความคืบหน้าของการทำความตกลงสำคัญระหว่างไทยและสหภาพยุโรป 3 ฉบับ คือ

(1) การประกาศความพร้อมของไทยที่จะเริ่มการเจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreements - VPAs) ในกรอบแผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า FLEGT (Forest Law Enforcement, Governance and Trade) กับอียู

VPAs คือข้อตกลงทางการค้าระหว่างอียูกับประเทศที่สามที่เป็นผู้ผลิตและค้าไม้ เพื่อให้มั่นใจว่าไม้ที่ถูกต้องตามระบบและข้อกำหนดของอียูเท่านั้นจะสามารถเข้าสู่ตลาดอียูได้


ความเป็นมาของเรื่องคือ อียูได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (EU Timber Regulation 995/2010) ซึ่งห้ามการจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในตลาดอียู และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 มีนาคม 2556 กฎระเบียบดังกล่าวได้กำหนดภาระหน้าที่ของผู้ประกอบการที่นำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้มาในตลาดอียูว่าจะต้องสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่นำเข้ามาสอดคล้องกับกฎระเบียบของอียู


เมื่อการเจรจา FLEGT VPAs กับอียูสำเร็จ ไทยจะได้ใบอนุญาต FLEGT หรือเอกสารรับรองสถานะความถูกต้องตามกฎหมายของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซึ่งจะทำให้ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้จากประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากขั้นตอนการพิสูจน์สถานะที่จะมีขึ้นตามกฎระเบียบ EU Timber Regulation ดังกล่าว ซึ่งจะผลดีกับผู้ประกอบการไทยในแง่ความสามารถในการแข่งขันในตลอดอียู


(2) ไทยและอียูสามารถสรุปการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างประเทศไทยกับประชาคมยุโรปและรัฐสมาชิก (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between Thailand and the European Community and its Member States - PCA) ได้แล้ว หลังจากที่เจรจากันมาไม่น้อยกว่า 9 ปี และทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายของแต่ละฝ่ายกำหนดไว้ เพื่อมุ่งไปสู่การลงนามต่อไป


PCA เป็นความตกลงหลักหนึ่งในสองฉบับระหว่างอียูกับไทย (อีกฉบับคือ FTA) และเป็นรากฐานในขยายความร่วมมือระหว่าง EU กับไทยในอนาคต ผ่านการส่งเสริมทุกมิติของความสัมพันธ์อย่างรอบด้านให้มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม พลังงาน สาธารณสุข การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม วัฒนธรรม

PCA จะช่วยยกระดับความร่วมมือไทยและอียูให้มีความใกล้ชิดและเข้มข้นมากขึ้นไปอีก เพราะการมี PCA แสดงเห็นว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดของอียู มีแนวคิดคล้ายกันและเป็นที่ไว้วางใจได้ เนื่องจากมีค่านิยมร่วมกัน คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และธรรมาภิบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของไทยในการแสดงบทบาทและร่วมมือกับอียูในภูมิภาคและระหว่างประเทศ และเปิดทางให้มีการลงนาม FTA ระหว่างไทยและ EU ในอนาคต เนื่องจาก EU กำหนดให้ลงนาม PCA ก่อน FTA

นอกจากนี้ PCA จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่เศรษฐกิจไทย และเพิ่มการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากอียู ผ่านการเสริมสร้างศักยภาพและการเรียนรู้แนวปฏิบัติอันเป็นเลิศที่จะมีเพิ่มขึ้นตามมา

(3) ประเด็นสำคัญที่สุดของการพบปะหารือกับสหภาพยุโรป คือ นายกรัฐมนตรีไทยและประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศเริ่มต้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ยุโรป


จากการประกาศนี้ ทำให้การเจรจาความตกลง FTA รอบแรก น่าจะเริ่มได้ในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งจะเป็นก้าวที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดการค้าและการลงทุนขนาดใหญ่ของไทย ในขณะนี้ ยุโรปเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย มีมูลค่าการค้ากว่า 32 พันล้านยูโร และเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ของไทย ด้วยมูลค่าเงินลงทุนสะสมกว่า 20 พันล้านยูโร รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวกว่า 5 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมดกว่า 22 ล้านคนในปี 2555


การจัดทำความตกลง FTA ระหว่างกันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหภาพยุโรป โดยต้องคำนึงด้วยว่า ประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ก็ได้เริ่มการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรปไปแล้ว


นอกจากความคืบหน้าของความตกลงสำคัญ 3 ฉบับแล้ว การเยือนครั้งนี้ยังมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบประกาศการขึ้นทะเบียนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication - GI ) ในสหภาพยุโรป จากประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นสินค้า GI แรกของไทยในอียู และเป็นสินค้า GI รายแรกในอาเซียนที่ได้รับจด GI ในอียู


การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยผลักดันจนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยได้รับการจดทะเบียนคุ้มครองเป็นสินค้า GI ของสหภาพยุโรป นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสร้างชื่อเสียงและยกระดับให้กับผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรของไทย การจดทะเบียนดังกล่าวยังมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพราะทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สามารถใช้ตรา Protected Geographical Indication ของสหภาพยุโรปติดที่สินค้าได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า จะเป็นการสร้างรายได้ กระจายตลาดส่งออกให้กับข้าวหอมมะลิในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย ช่วยให้เกษตรกรไทยในจังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม และยโสธร สามารถขายข้าวได้ในราคา premium ยกระดับสินค้าสู่ตลาดโลกต่อไป

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยกำลังเร่งความพยายามให้อียูจดทะเบียนคุ้มครองสินค้าไทยอีก 2 ประเภทเป็นสินค้า GI ในอียู คือกาแฟดอยช้างและกาแฟดอยตุง ซึ่งหวังว่าเราคงจะมีข่าวดีมาแจ้งท่านผู้อ่านในอนาคตอันใกล้