ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก

เสมือนว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะไปได้ดีเพราะตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและภาครัฐทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงถึง 5% โดยธปท.นั้นแสดงท่าทีว่าจะปรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจขึ้นจาก 4.9% แต่ยังไม่บอกว่าจะปรับเท่าใด นอกจากนั้นประเด็นปัญหาที่ถูกยกขึ้นมากล่าวถึงมักจะเป็นเรื่องของฟองสบู่ในตลาดหุ้นหรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนว่าเรากลัวว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเร็วเกินไปมากกว่าขยายตัวช้าเกินไป

ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้มากเพราะปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะนโยบายการเงินของประเทศหลักคือสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและอังกฤษล้วนแต่ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กล่าวคือประเทศดังกล่าวพิมพ์เงินออกมาจนทำให้สภาพคล่องล้นโลก ซึ่งเงินดังกล่าวน่าจะไหลมาเอเชียอีกเป็นจำนวนมากเพราะเศรษฐกิจเอเชียขยายตัวสูง เป็นภูมิภาคที่น่าลงทุนมากที่สุดภูมิภาคหนึ่ง ประเทศไทยเองก็มีความโดดเด่นใน 2 ด้านคือ 1. การเมืองดูจะมีเสถียรภาพจนไม่เป็นที่กังวลอีกต่อไปและการเปิดประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านทำให้เศรษฐกิจไทยน่าจะได้อานิสงส์ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีการกระจายความเจริญไปสู่หัวเมืองในจังหวัดที่ตั้งอยู่ที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว หมายความว่าศักยภาพของประเทศไทยนั้นไม่ได้ประเมินจากศักยภาพของเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่ต้องผนวกกับศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจกับไทยอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเชื่อมต่อไม่ได้เกิดจากนโยบายของรัฐเช่นการพูดถึงเออีซี แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกลไกตลาดที่สืบเนื่องมาจากการเปิดประเทศทางเศรษฐกิจและการเมือง และเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อยๆ เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่เริ่มพัฒนาจนกระทั่งมีนัยสำคัญเมื่อไม่นานมานี้ เช่นสถิติการส่งออกของไทยกับประเทศอินโดจีน พม่าและมาเลเซียนั้นในขณะนี้มีมูลค่ามากกว่าการส่งออกของไทยไปยุโรปแล้ว ประเด็นสำคัญคือการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (รวมถึงภาคใต้ของจีน) หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกหลายปี (Structural change)

เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างยาวนานเพราะ Structural change จริงหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องประเมินต่อไปเพราะบางครั้งเมื่อมีสภาพคล่อง (เงิน) ไหลเข้ามามากๆ และดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำทำให้กู้เงินได้ง่ายนั้น เรามักจะเข้าข้างตัวเองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้นมิได้เกิดจากปัจจัยบวกระยะสั้นแต่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง หากมองกลับไปเมื่อปี 1990-1995 เรามองว่าไทยเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียและกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยการเปิดเสรีทางการเงิน โดยกู้เงินต่างประเทศมาสร้างโรงงานปิโตรเคมี โรงถลุงเหล็ก โรงงานผลิตอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วเราได้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำมาใช้ลงทุนอย่างไม่คุ้มค่าและเงินจำนวนมากก็ไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ กว่าจะรู้ตัวว่าเรากู้หนี้ยืมสินมากเกินไปก็สายไปแล้ว

ในครั้งนั้นมิใช่ว่าเราจะไม่ทราบว่าเศรษฐกิจกำลังร้อนแรงเกินไปและไม่ได้ทำอะไร ตรงกันข้ามในช่วงปี 1995-1996 ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบดีว่าเศรษฐกิจกำลังร้อนแรงจึงปรับเพิ่มดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 13%) และได้แนะนำรัฐบาลให้รัดเข็มขัดทางการคลัง แต่รัฐบาลไม่ฟังเพราะคิดว่าเศรษฐกิจยิ่งขยายตัวมากยิ่งดี จึงตกเป็นภาระของนโยบายการเงินที่ต้องรับหน้าที่ชะลอเศรษฐกิจแต่ฝ่ายเดียวเป็นหลัก

อย่างที่เราทราบกันดีว่านโยบายการเงินไม่สามารถชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจได้ เพราะเมื่อปรับดอกเบี้ยขึ้นขณะเดียวกันก็เปิดให้เงินทุนไหลเข้า-ออกอย่างเสรี ทำให้เอกชนไทยเร่งกู้เงินจากต่างประเทศที่ดอกเบี้ย 7-8% เพราะธปท. ให้ความมั่นใจว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะไม่เปลี่ยนแปลง จนมีการกู้เงินต่างประเทศมากเกินไปซึ่งเป็นสาเหตุหลักของวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 ทั้งนี้จะตำหนินโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเดียวคงไม่ได้ ส่วนต่างของดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ชักจูงให้คนไทยกู้เงินมาเป็นจำนวนมากในช่วง 1993-1996 ทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงมีความพยายามที่จะพิสูจน์ว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยไม่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ที่เกี่ยวข้อง

หากมาดูนโยบายการเงินที่ยึดเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายก็ต้องสรุปว่าเป็นนโยบายการเงินที่อาศัยความเชื่อว่าดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการควบคุมเศรษฐกิจ คือ หากเศรษฐกิจร้อนแรงและมีปัญหาเงินเฟ้อก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในทางตรงข้ามหากเศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อต่ำกว่าปกติมากก็ต้องกระตุ้นโดยการลดดอกเบี้ย (เช่นที่สหรัฐ อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่นกำลังทำอยู่ขณะนี้) หากระดับดอกเบี้ยมีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผมก็มองไม่เห็นว่าทำไมส่วนต่างของดอกเบี้ยจะไม่มีความสำคัญ ซึ่งสภาวการณ์ในปี 1993-1996 นั้นก็คล้ายคลึงกับปัจจุบันคือการเปิดเสรีทางการเงินและการคาดการณ์อนาคตในแง่ที่ดีเป็นพิเศษ กล่าวคือในรอบที่แล้ว ธปท. ก็คิดแก้ปัญหาโดยการขึ้นดอกเบี้ยและในปัจจุบันก็คิดป้องกันปัญหาโดยการตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูง ในขณะที่ประเทศเงินสกุลหลักตรึงดอกเบี้ยไว้ใกล้ศูนย์ โดย ธปท. แสดงความมั่นใจว่าจะไม่มีเงินบาทไหลเข้าประเทศมากนัก และหากไหลเข้ามามากก็คงจะอยากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าซึ่งอาจส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับภาคการส่งออกและจีดีพีโดยรวมเพราะปัจจุบันการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 70% ของจีดีพีเทียบกับ 35% ในปี 1996

ผมคิดว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนั้นท้าทายประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งและการดำเนินนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งเช่นกัน ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีมาก แต่สถานการณ์ก็ยังจะพลิกผันได้เพราะแรงขับเคลื่อนจากนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นน่าจะอ่อนตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในครึ่งหลังของปี เช่น มาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถคันแรกนั้นน่าจะมีการส่งมอบรถยนต์ทั้ง 1.2 ล้านคันที่ร่วมโครงการได้เกือบหมดภายในกลางปีนี้และหลังจากนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของรถส่วนใหญ่ก็น่าจะต้องคำนึงถึงภาระในการผ่อนส่งหนี้ทำให้ลดการบริโภคอื่น ในขณะที่นโยบายรับจำนำข้าวที่มีการใช้เงินซื้อข้าวกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2012 ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการสภาพคล่องในปี 2013 กล่าวคือหากจะรับจำนำข้าวอีก 4 แสนล้านบาทตามที่คาดการณ์เอาไว้เดิมก็จะต้องขายสต็อกข้าวเก่าออกมาเป็นสิบล้านตันซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก และเม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อข้าวปีนี้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนมากนัก ขณะที่มาตรการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดก็จะจบลงในปีนี้ ฉะนั้นการปรับรายได้ของโรงงานก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเช่นกัน

ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าในครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสชะลอลงโดยเฉพาะหากการส่งออกไม่ฟื้นตัวตามที่คาดว่าจะขยายตัว 10% (ปี 2012 ขยายตัว 3.2%) ซึ่งอาจจะสูงเกินไปเพราะการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้นั้นไม่แตกต่างจากปีที่แล้ว กล่าวคือยุโรปก็ยังมีการหดตัวอยู่ (ผลการเลือกตั้งที่อิตาลีก็ได้ทำให้ความเสี่ยงของยุโรปเพิ่มขึ้น) สหรัฐก็ยังต้องรัดเข็มขัดทางการคลัง ขณะที่ญี่ปุ่นก็จะมิได้ขยายตัวมากนัก (ประมาณ 1.5%) และแม้จีนจะฟื้นตัวแต่ก็อาจเผชิญกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อในครั้งหลัง

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้คือการคาดหวังเกี่ยวกับการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าเม็ดเงินลงทุนของรัฐ (ทั้งการลงทุนเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาทและการลงทุนปฏิรูประบบขนส่ง 2 ล้านล้านบาท) จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำจนกระทั่งปี 2014 แต่หากรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ก็อาจกระตุ้นให้เอกชนเร่งลงทุนก่อนภาครัฐเพื่อเตรียมตัวรับผลที่จะได้จากการลงทุนของภาครัฐก็เป็นได้ แต่ก็ยังเป็นการคาดการณ์ที่จะหวังผลเต็มร้อยไม่ได้ครับ