เกษตรอินทรีย์ คือทางออกสำหรับประเทศไทย

เกษตรอินทรีย์ คือทางออกสำหรับประเทศไทย

ไทยมีประชากรมากอันดับ 20 และมีพื้นที่เพาะปลูกได้ใหญ่อันดับที่ 19 ของโลก ดังนั้นจึงควรเน้นการพัฒนาภาคเกษตร

ที่จะทำให้คนไทยมีอาหารและปัจจัยจำเป็นอื่นๆ มากกว่าการหวังพึ่งอุตสาหกรรมประเภทรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไทยเองมีวัตถุดิบและพลังงานน้อยมาก

แนวทางการพัฒนาการเกษตรไทยที่ควรทำคือ การปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรรายย่อยมีที่ทำกินและการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) แทนเกษตรแบบเคมี การปฏิรูปที่ดินจะช่วยเพิ่มการจ้างงาน, ช่วยกระจายทรัพย์สินรายได้ และเอื้อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ขณะที่เกษตรอินทรีย์จะเพิ่ม ความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค และการลดมลภาวะ ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการช่วยลดต้นทุนการผลิต

เกษตรกรแบบอินทรีย์หรือแบบธรรมชาติสามารถปรับปรุงดิน โดยใช้มูลสัตว์ ซากพืช ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ผลิตได้เองได้ในราคาต่ำกว่าปุ๋ยเคมีที่ต้องสั่งเข้า และช่วยลดการเป็นหนี้ (ของทั้งเกษตรกรและประเทศ) ช่วยเพิ่มผลผลิตจากการทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสม (เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ปลูกพืชอื่น ๆ) และสร้างผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพทางโภชนาการ ปลอดภัย ขายได้ราคาสูงกว่าผลผลิตเกษตรทั่วไปซึ่งเป็นแบบเคมี

เกษตรอินทรีย์ยังช่วยให้เกษตรกรเรียนรู้การจัดการฟาร์มแบบพึ่งพาตนเองได้เพิ่มขึ้น รู้จักรวมกลุ่มมากขึ้น มีงานการเกษตรที่ฟาร์มให้ทำได้ตลอดปี ไม่ต้องอพยพไปทำงานบางเวลาในเมือง ทำให้ชีวิตครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่ลูกช่วยกันทำงานเกษตรได้ เด็กได้เห็นพ่อแม่ทำงาน ได้เรียนรู้คุณค่าของงาน เด็กมีโอกาสเกเร มีปัญหาลดลง

ถ้ารัฐบาลปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง (เพราะเกษตรส่วนหนึ่งไม่มีที่ทำกิน และคนที่มีที่ดินของตนเองเท่านั้นที่จะเปลี่ยนไปทำเกษตรอินทรีย์ได้) และส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรราว 30-40% ของแรงงานจะมีงานทำตลอดปีและรายได้เพิ่มขึ้น คนทั้งประเทศก็จะได้อาหารที่ปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

รัฐบาลไทยยังล้าหลังที่คงส่งเสริมเกษตรเคมีเป็นด้านหลัก (99%) และปล่อยให้โฆษณาขายสารเคมีได้อย่างเสรี ไม่ห้ามสารเคมีอันตรายที่ประเทศอื่นเขาห้าม เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรส่งเสริมการขายปุ๋ยเคมี เพราะตนเองเรียนมาแบบนั้น เชื่อแบบนั้น นักการเมืองและข้าราชการหลายคนได้ประโยชน์จากบริษัทขายปุ๋ย ขายยา บางรัฐบาลบางยุคเสนอโครงการเกษตรอินทรีย์แบบสร้างภาพมากกว่าจะทำให้เกิดได้ผลจริง เพราะทำแบบสร้างภาพหาเสียง, หาเงิน เช่น ประชุมอบรม แจกของ บางครั้งก็แอบยัดไส้แจกและขายปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผสมปุ๋ยเคมีด้วย

เกษตรเคมีให้ผลผลิตต่อไร่สูงจริง แต่ก่อผลเสียต่อสุขภาพของผู้ผลิต ผู้บริโภค และอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งใช้ต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย เพราะปุ๋ยเคมี สารเคมีต่าง ๆ ทำให้ดินและสภาพแวดล้อมเสียหาย เมื่อใช้ไปหลายปีต้องใช้ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชจำนวนมากขึ้นตามลำดับ จึงทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ในขณะที่เกษตรอินทรีย์ที่ทำแบบเกษตรผสมผสานต้องลงทุนลงแรงมากหน่อยในปีแรก ๆ แต่ปีต่อ ๆ ไปดินจะอุดมสมบูรณ์ขึ้น ต้นทุนลดลง ผลผลิตสูงขึ้น และมีผลดีด้านอื่น ๆ นอกจากเรื่องการขายผลผลิต

เรื่องยาปราบศัตรูพืชที่เป็นอันตรายนั้น ผู้บริโภคไทยยังรู้น้อยมาก เกษตรกรที่รู้ จะไม่กินพืชผลที่ตนเองฉีดยามาก แต่ยังคงฉีดยาหรือจ้างคนอื่นฉีดเพื่อเอาไปขายคนอื่น เพราะพวกเขาเป็นหนี้ต้องการหารายได้ บางคนแบ่งแปลงที่ปลูกไว้กินเอง ไม่ฉีดยา หรือฉีดน้อย ควบคุมตามระยะเวลาให้ปลอดภัยหน่อย แต่แปลงที่ปลูกเพื่อขายฉีดเต็มที่เพื่อให้ได้ผลผลิตมาก สวยงามตามความต้องการของผู้บริโภคในเมือง

เกษตรอินทรีย์จริง ๆ แล้ว ทำไม่ยาก แต่เรื่องที่ยากคือ เกษตรส่วนใหญ่เคยชินกับเกษตรเคมี รวมทั้งคิดทำเกษตรเคมีทำงานง่ายกว่าเพราะใช้วิธีจ้างคนจ้างรถมาช่วยทำ ขณะที่เกษตรอินทรีย์เกษตรต้องใช้องค์ความรู้, การดูแลเอาใจใส่ด้วยตนเอง, การบริหารจัดการแบบรวมกลุ่ม รวมทั้งเรื่องการตลาด เกษตรกรกลุ่มบุกเบิกที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 5-6 ปีขึ้นไป หรือรวมกลุ่มได้แข็งพอ หลายกลุ่มพอยืนอยู่ได้ และยังหาตลาดได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งออก ข้าวอินทรีย์และพืชผักอินทรีย์ได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะมีผู้บริโภคที่สนใจเรื่องอาหารปลอดภัยเพิ่มขึ้น

แต่ถ้าจะเปลี่ยนเกษตรกรส่วนใหญ่รัฐต้องมีนโยบาย มีโครงการงบประมาณส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีหนี้สินและไม่มีที่ดิน สามารถทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติได้ เช่น การพักชำระหนี้, การปฏิรูปที่ดิน, ให้เกษตรกรมีโอกาสเช่าซื้อที่ดิน, มีการลงทุนช่วยขุดสระ, ทำคันนาใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรการทำไร่นาสวนผสม เช่น เลี้ยงปลา, กุ้งฝอย, เลี้ยงเป็ด, ปลูกไม้อื่น ๆ ที่กินได้ ขายได้ การทำเกษตรแนวใหม่นี้ทำให้เกษตรกรมีงานทำและมีรายได้ทั้งปี ดังเช่นที่โครงการทำนา 1 ไร่ ได้ 1 แสน, เครือข่ายชาวนาวันหยุด ฯลฯ ทดลองทำมาแล้วอย่างได้ผล

โครงการรับจำนำข้าวที่รัฐรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาดราว 40% ทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวพันธุ์โตเร็ว และเร่งใช้ปุ๋ยและยาเคมีมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิต ผู้บริโภคในเมืองที่สนับสนุนเรื่องรับจำนำข้าวหรือไม่สนใจปัญหานี้จะได้รับอันตรายจากการบริโภคข้าวเหล่านี้มากขึ้น โครงการจำนำข้าวยังทำลายกลุ่มเกษตรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ ที่ก่อนหน้านี้เคยขายได้ราคาสูงกว่าข้าวเคมี เพราะต้องทำแบบดูแลเอาใจใส่อย่างประณีตกว่า และเป็นข้าวคุณภาพดีกว่า เมื่อรัฐบาลมารับซื้อข้าวทั่วไปราคาสูงใกล้เคียงกับข้าวอินทรีย์ ทำให้ชาวนาหลายคนหันกลับไปปลูกข้าวเคมีที่คนทำสะดวกสบายกว่า มีทางเร่งผลผลิตได้มากกว่า บางคนปลูกข้าวอินทรีย์อยู่แล้ว ก็อาจจะเอาไปขาย โรงสีทั่วไปที่รับจำนำข้าว โรงสีก็เอาข้าวอินทรีย์ปนกันไปกับข้าวเคมี

โครงการจำนำข้าวจึงควรถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหลักการใหม่ เพราะที่ทำอยู่เป็นการทำลายการผลิตข้าวคุณภาพ ทำลายระบบการผลิต การตลาด การส่งออกข้าวไทย ที่เสียหายมากกว่าเงินขาดทุนจากการซื้อแพงขายถูก ปีละ 1-2 แสนล้านบาทอย่างมาก

ถ้ารัฐบาลหันมาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรธรรมชาติอย่างเป็นระบบครบวงจร (รวมทั้งการปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน, เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ตั้งธนาคารที่ดิน ฯลฯ) ไม่จำเป็นต้องมีโครงการรับจำนำข้าวเลย เพราะถ้าชาวนาไทยส่วนใหญ่มีที่ดินของตนเองและผลิตข้าวที่มีคุณภาพเป็นผลดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เราจะขายข้าวอินทรีย์หรืออย่างน้อยข้าวปลอดสาร (ใช้เคมีบ้างแต่ควบคุมอย่างดี) ได้ราคาสูงขึ้น เกษตรกรจะลดต้นทุนการผลิต ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น คนไทยที่ได้กินข้าวอินทรีย์ โดยเฉพาะถ้ารู้จักกินข้าวกล้อง ข้าวพันธ์ดี ที่มีคุณค่าทางอาหารและยาสูง ก็จะเจ็บป่วยลดลง ลดงบประมาณด้านสาธารณสุขและอื่น ๆ ได้ การปลูกยางและพืชอื่น ๆ ก็ทำแบบเกษตรอินทรีย์, เกษตรธรรมชาติ, เกษตรแบบไร่นาสวนผสมได้เช่นเดียวกัน นี่คือทางเลือกที่ในทางเทคนิคแล้วทำได้ไม่ยากเลย และได้ประโยชน์ในหลายทางคุ้มค่ากว่าโครงการจำนำข้าว, ประกันราคายาง ฯลฯ หลายเท่าด้วย