ไม่รู้จัก "ผิน บัวอ่อน" ก็ไม่รู้จัก "ฮัสซัน ตอยิบ"

ไม่รู้จัก "ผิน บัวอ่อน" ก็ไม่รู้จัก "ฮัสซัน ตอยิบ"

ก่อนปี พ.ศ. 2500 ขบวนการต่อสู้กู้ชาติปัตตานี ได้ก่อรูปเป็น "ขบวนการแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติปัตตานี" หรือ "บีเอ็นพีพี"

ภายใต้การนำของ ต่วนกูญาลาลนาเซร์ (อดุลย์ ณ สายบุรี) พร้อมแกนนำคนสำคัญคือ อุสตาซ อับดุลการิม และ ต่วนกู บีรอ กอตอนีลอ

แกนนำ บีเอ็นพีพี ไม่ต่างจาก "พรรคคอมมิวนิสต์มลายา" (พคม.) ที่ใช้เงื่อนไขสถานการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 เคลื่อนไหวต่อสู้กู้เอกราช

เมื่อสงครามสิ้นสุด บีเอ็นพีพี จึงอุบัติขึ้น ด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม มุ่งหมายต่อสู้กู้ชาติปัตตานีให้พ้นจากการปกครองของสยาม

โครงสร้างบีเอ็นพีพี แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ "อุสตาซ อับดุลการิม" โต๊ะครูสอนศาสนาแห่งรือเสาะ เป็นฝ่ายการเมือง ทำงานจัดตั้งมวลชน "เปาะเยะ" บ่าวผู้รับใช้ "ต่วนกู อับดุลกอเดร์" เจ้าเมืองปัตตานี เป็นฝ่ายคุมกำลังติดอาวุธ และ "ต่วนกู บีรอ" เป็นฝ่ายหาทุนสนับสนุน

อุดมการณ์ชาตินิยม ที่ผูกติดกับระบอบศักดินา ทำให้ขบวนการกู้ชาติปัตตานี ไม่เติบใหญ่ และเกิดความขัดแย้งทางความคิด ฝ่ายหนึ่งยึดถืออุดมการณ์ "กู้ชาติเพื่อเจ้า" แต่อีกฝ่ายหนึ่ง "สู้เพื่อชาติมลายูมุสลิม"

หลังสิ้น "ต่วนกูญาลาลนาเซร์" จึงเกิดองค์กรใหม่ โดยการนำของ "อุสตาซ อับดุลการิม" เจ้าของทฤษฎี "นาซูซี" หรือ "ชาตินิยมอิสลามสังคมนิยม"

อุสตาซ อับดุลการิม ก๊อบปี้โครงสร้างพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) มาออกแบบ "ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี" หรือ "บีอาร์เอ็น" แบ่งเป็นฝ่ายการเมือง กองกำลัง และแนวร่วม

บีอาร์เอ็น จัดตั้ง "กองกำลังติดอาวุธปลดแอกอิสลามปัตตานี" ทำสงครามจรยุทธ์ ตามแนวทางชนบทล้อมเมือง เหมือนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ขณะที่การสู้รบในเขตป่าเขา กำลังดำเนินไปเรื่อยๆ ราวปี 2520 "อุสตาซ อับดุลการิม" กลับปฏิเสธแนวทางและทฤษฎีที่ตัวเองเขียนขึ้นมา จึงทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่แกนนำบีอาร์เอ็น

ฝ่ายกรมการเมือง ที่ทำงานในเมืองได้แยกตัวไปตั้งกลุ่มใหม่ชื่อ "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" ในฝั่งประเทศมาเลเซีย โดยมี "พี่ชาย" ของนักการเมืองใหญ่เมืองปัตตานี เป็นหัวหน้าขบวนการ

ส่วนฝ่ายที่คุมกองกำลังติดอาวุธในป่าเขา ได้จัดตั้งเป็น "บีอาร์เอ็น คองเกรส" ดำเนินการต่อสู้กับทหารกองทัพภาคที่ 4 จนกระทั่งรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกคำสั่ง 66/2523 นักรบบีอาร์เอ็น จึงเข้ามอบตัวเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" โดยแกนนำบางคนได้เข้าสู่เวทีรัฐสภา ส่วนใหญ่ไปประกอบอาชีพในฝั่งมาเลย์

กลุ่มผู้เชิดชู อุสตาซ อับดุลการิม รวบรวมกำลังไปตั้ง "บีอาร์เอ็น อูลามา" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเก่า และไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

กล่าวสำหรับ "ฮัสซัน ตอยิบ" ที่เป็นตัวแทนบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ในการลงนามการพูดคุยสันติภาพยกแรกนั้นเป็น "ตัวจริง" แน่นอน

จากการตรวจสอบ "คนวงใน" ทราบว่า เขาเป็นคนสนิทของ "พี่ชาย" นักการเมืองปัตตานี และมีแนวคิดพิมพ์เดียวกับ "ผิน บัวอ่อน" อดีตกรรมการกลาง พคท. ชุดสมัชชาฯ 3 ที่ถูกจับกุมตัวในปี 2511

แนวคิดของ "ผิน บัวอ่อน" ที่ว่านั้น หมายถึงการปฏิวัติด้วย "แนวทางสันติ" คัดค้านแนวทางชนบทล้อมเมือง ผินจึงถูกองค์กรนำ พคท.สมัยโน้น วิพากษ์ว่าเป็น "ลัทธิแก้" เนื่องจาก "ผิน" ไม่เห็นด้วยกับแนวทางต่อสู้ด้วยอาวุธ และเดินหนทาง "ชนบทล้อมเมือง"

คนรุ่นใหม่แห่ง "ขบวนการใหม่" จึงจัดให้ ฮัสซัน ตอยิบ อยู่ในกลุ่มหัวแถว "แนวทางสมานฉันท์" ดุจเดียวกับ ผิน บัวอ่อน

แต่กว่า "ธง แจ่มศรี" อดีตเลขาธิการ พคท. ผู้กล่าวประณาม "ผิน บัวอ่อน" เป็นลัทธิแก้ จะรู้ว่าแนวทางสันติถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ ก็ต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี

แล้วแนวทางสมานฉันท์ของ "ฮัสซัน ตอยิบ" จะใช้เวลานานเท่าใด?