ก้าวต่อไปสำหรับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ และ พลตำรวจเอก พงศพัศ

ก้าวต่อไปสำหรับ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ และ พลตำรวจเอก พงศพัศ

ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ไปแล้ว คนกรุงเทพฯ ก็คงต้องกลับมามองการเมืองระดับชาติกันตามปรกติต่อไป

ประเด็นของการเมืองระดับชาติที่ยังคั่งค้างอยู่ก็ได้แก่ ปัญหาชายแดนภาคใต้ ปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลโลกกับพื้นที่รอบประสาทพระวิหาร การปรองดอง ฯลฯ แต่อย่างที่มีสื่อมวลชนบางสำนักได้กล่าวว่า หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ เราก็กลับมาเหมือนเดิม เหมือนเดิมที่ว่านี้คือ เราได้ผู้ว่ากรุงเทพฯคนเดิม และพลตำรวจเอก พงศพัศก็กลับไปเป็นตำรวจและอยู่ ป.ป.ส. และรอง ผบ.ตร. เหมือนเดิม แน่นอนว่าตำแหน่งของท่านทั้งสองเหมือนเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว เพราะคุณพงศพัศได้ประกาศตัวเป็นคนของพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการไปแล้ว อีกทั้งท่านยังได้คะแนนเสียงจากประชาชนคนกรุงเทพฯติดตัวไปถึงล้านเสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็คงต้องวิเคราะห์กันต่อไปว่า ล้านเสียงนั้นเป็นของคุณพงศพัศเต็มๆ ? เป็นของคุณยิ่งลักษณ์เท่าไร ? ของคุณทักษิณเท่าไร ? ของแกนนำ นปช. เท่าไร ? แต่แน่นอนว่า คงไม่มีที่เป็นของท่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณจารุพงศ์ หรือถ้าจะมี ก็คงต้องหาเหตุผลกันพอสมควรว่าทำไม คนกรุงเทพฯเลือกคุณพงศพัศด้วยเหตุผลที่มาจากคุณจารุพงศ์ ในขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในล้านสองของ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์นั้นย่อมมีที่เป็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณอภิสิทธิ์อย่างแน่นอน เช่นกัน ฝั่งประชาธิปัตย์ ก็ควรจะวิเคราะห์ด้วยว่า คะแนนล้านสองที่ได้มานั้น เป็นของตัว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ จริงๆ เท่าไร ? เป็นของคุณอภิสิทธิ์เท่าไร ? และเลือกเพราะวาระ “เผาบ้านเผาเมือง” เท่าไร ?

เมื่อพูดถึงการหาเสียงโดยดึงประเด็นความขัดแย้งระดับชาติมาเล่น ก็ทำให้สงสัยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเล่นประเด็นนี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ส.ก. ส.ข. ต่อไปอีกหรือไม่ ? และกลับกันถ้าพรรคเพื่อไทยจะเล่นเรื่อง “ฆ่าประชาชน” ขึ้นมา กรุงเทพฯ มิต้องกลับเข้าไปสู่วงจรความขัดแย้งอันรุนแรงอีกหรือไม่ ? เพราะผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯที่ผ่านมา ชี้ชัดว่า พละกำลังจำนวนคนของแต่ละฝ่ายพอๆ กัน และเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าฯด้วย และประชาชนเรือนล้านทั้งสองฝ่ายที่แสดงจุดยืนของตนผ่านพฤติกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯนี้ เป็นการแสดงออกภายใต้เงื่อนไข “เผาบ้านเผาเมือง” ฝ่ายหนึ่งไม่ยอมพวกเผาบ้านเผาเมืองให้มาผูกขาดเบ็ดเสร็จ อีกฝ่ายหนึ่งก็ออกมาต่อต้าน พรรคแต่ละพรรคก็หาเสียงปั่นกันสุดลิ่มทิ่มประตูภายใต้วาระความขัดแย้งระดับชาติ ผลที่ออกมา จึงน่าเป็นห่วงสำหรับตัวเลขเรือนล้านของทั้งสองฝ่าย ได้แต่หวังว่า นักการเมืองทั้งสองฝ่ายจะประนีประนอมกันตามที่ คุณยิ่งลักษณ์ได้กล่าวว่า ยินดีจะร่วมงานกับผู้ว่า ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ อย่าง “ไร้รอยต่อ” และท่านผู้ว่าฯก็ขานรับ

กลับมาที่ประเด็นข้างต้นที่ว่า ทั้งสองแม้จะกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่ก็ไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว ก็เป็นเพราะว่า เมื่อคุณพงศพัศกลับไปรับราชการตำรวจ แม้ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือได้ประกาศตัวสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่คุณพงศพัศก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง และหากจะได้เลื่อนขึ้นไปจนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะต้องมาจากผลงานที่คนในวงการตำรวจทั่วไปยอมรับ อีกทั้งรัฐบาลเพื่อไทยเอง โดยเฉพาะคุณยิ่งลักษณ์ หากตัดสินใจแต่งตั้งคุณพงศพัศ ก็จะต้องมาจากคุณสมบัติความสามารถจริงๆ ไม่ใช้มาจากการรับใช้ “พรรคเพื่อไทย” หรือทำตาม “ใบสั่งจากดูไบ” (ตามคำกล่าวของคุณขวัญชัย ไพรพนา !) มิฉะนั้นแล้ว วิกฤตศรัทธาจะเกิดกับตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเพื่อไทย รวมทั้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เพราะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่มีผลงาน แต่ไม่ได้ลงสมัครผู้ว่าฯให้พรรค ก็ควรที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้มีข่าวออกมาว่า “ช่วยลงสมัครผู้ว่าฯให้ดูไบแล้ว ถ้าได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวกลับไป จะได้เป็นผู้บัญชาการตำวจแห่งชาติ !” ทางที่ดี รัฐบาลอาจจำเป็นต้องปิดประตูไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของคุณพงศพัศเสียเลยด้วยซ้ำ เพื่อรักษาศรัทธาและป้องกันข้อครหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ประเด็นอยู่ที่ว่า พรรคขอร้องอย่างมากมายให้คุณพงศพัศช่วยมาลงสมัครเลือกตั้ง หรือคุณพงศพัศอยากลงเอง หรือเป็นใบสั่งของใคร ? ขณะเดียวกัน ถ้าเกิดคุณพงศพัศได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจริงๆ และสาธารณะแคลงใจ การควบคุมดูแลบริหารงานสำนักงานตำรวจก็จะมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะประชาชนจะเห็นภาพผู้บัญชาการท่านนี้ว่า “ไม่มีทางเป็นกลาง” แม้ว่าจะพยายามเป็นกลางให้ตายอย่างไร ก็ไม่สามารถลบความรู้สึก (อคติ) ของประชาชนได้

ส่วน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ซึ่งในตอนเป็นผู้ว่าสมัยแรก ยังไม่เกิดเหตุการณ์ปี 52 และ 53 นับว่าเป็นโชคดีของท่านที่ท่านหลุดออกจากการเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และมาทำหน้าที่ของผู้ว่า กทม. และในวิกฤตการเมืองทั้งสองครั้ง ท่านก็สามารถทำหน้าที่ของผู้ว่าฯที่เป็นกลางอย่างแท้จริง อีกทั้งตอนที่ท่านชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งแรก คะแนนของคู่ต่อสู้ก็เทียบกับคะแนนของท่านไม่ได้ แต่มาคราวนี้ ท่านชนะการเลือกตั้งมาในเงื่อนไขของการยืนอยู่บนวาทกรรม “เผาบ้านเผาเมือง” อย่างเต็มตัว อีกทั้งคะแนนของคู่ต่อสู้ แม้ว่าจะห่างจากท่านสองแสน (ซึ่งนับว่าไม่มาก เมื่อเทียบกับครั้งแรก) แต่ก็มาเป็นล้าน ทำลายสถิติด้วยเช่นกัน

ปัญหาของท่านคือ แม้ว่าท่านจะยืนยันว่าจะเป็นผู้ว่าฯให้กับคนกรุงเทพฯทุกคน ไม่เลือกสี ไม่เลือกพรรค แต่จากการหาเสียงของพรรคของท่าน ก็ได้สร้างความรู้สึกประทับให้กับคนกรุงเทพฯจำนวนล้านนั้นไปแล้ว ดังนั้น แม้ว่าท่านจะพยายามเป็นกลางในฐานะผู้ว่า กทม. เพียงไร ก็อาจจะ “ไม่มีทางเป็นกลาง” ได้ ไม่ต่างจากกรณีของคุณพงศพัศ เพียงแต่ท่านโชคดีกว่าคุณพงศพัศ เพราะท่านมิได้อยู่ในสถานะของข้าราชการประจำซึ่งต้องมีความเป็นกลาง เพราะท่านเป็นนักการเมืองและสังกัดพรรคประชาธิปัตย์มานานแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่า ท่านทั้งสองจะบริหารจัดการการทำงานของตัวเองต่อไปอย่างไร ? และพรรคทั้งสองจะบริหารจัดการกับตัวท่านอย่างไรต่อไป ? รวมทั้งประชาชนแต่ละฝ่าย จะคาดหวังหรือมีปฏิกิริยาต่อท่านอย่างไร ? และในกรณีของคุณพงศพัศ พรรคเพื่อไทย (หรือใครก็ตาม) คงต้องคิดถึงหัวจิตหัวใจของพี่น้องตำรวจของท่านให้มากๆ ด้วย !