Kickstarter จากแนวคิดสู่นวัตกรรมด้วย Crowd Funding

Kickstarter จากแนวคิดสู่นวัตกรรมด้วย Crowd Funding

แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม มักต้องการเงินทุน เพื่อที่จะขับเคลื่อนสู่นวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ ในบางครั้งการระดมทุนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีทุนทรัพย์เป็นของตัวเอง หรือมีเส้นสายที่จะสามารถเข้าถึงเครือข่ายของแหล่งทุนได้ ผู้ที่ริเริ่มธุรกิจหลายคน แม้กระทั่ง Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple ก็เคยผ่านขั้นตอนนี้มาก่อน ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ จนกระทั่ง Apple ได้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก การระดมทุนในรูปแบบที่มาตรฐานที่สุด คงหนีไม่พ้นการกู้ยืมจากธนาคาร แต่สำหรับธุรกิจนวัตกรรม กลับมีหลากหลายวิธีการที่เหมาะสมสำหรับรูปแบบของธุรกิจ

Crowd Funding เป็นอีกวิธีหนึ่งของการระดมทุนที่อาศัยช่องทางของอินเทอร์เน็ตในการสร้างเครือข่ายของผู้สนับสนุน ผู้ที่สนใจโดยทั่วไปสามารถร่วมสนับสนุนแนวคิดได้โดยตรง ทั้งนี้ Kickstarter เป็นบริการออนไลน์ ที่อาศัยรูปแบบของ Crowd Funding เพื่อระดมทุนให้กับแนวคิดต่างๆ เพื่อให้เจ้าของแนวคิด นำสามารถไปสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ

การใช้งาน Kickstarter เริ่มจากเจ้าของแนวคิดที่ทำการประชาสัมพันธ์ผ่าน Kickstarter โดยระบุวัตถุประสงค์ จำนวนเงินที่ต้องการ และสิ่งที่ผู้สนับสนุนจะได้รับ หากสนับสนุนในจำนวนเงินต่างๆ ซึ่งจะเป็นบริการหรือสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิด แต่ไม่ใช้สัดส่วนความเป็นเจ้าของ ในรูปแบบของการลงทุน สำหรับแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนในจำนวนเงินที่ต้องการ เจ้าของแนวคิดจะใช้เงินทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสู่การสร้างนวัตกรรม แต่สำหรับแนวคิดที่ไม่ได้รับจำนวนที่ต้องการ ก็จะไม่มีการเรียกเก็บเงินสนับสนุนทั้งสิ้น

Pebble E-Paper Watch เป็นตัวอย่างของนวัตกรรม ที่ได้ระดมทุนผ่าน Kickstarter โดยแนวคิดคือการสร้างนาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) ที่ใช้กระดาษอิเล็กทรอนิกส์ (E-Paper) เป็นหน้าจอ และสามารถเชื่อมต่อกับ iPhone หรือ Android โดยผ่านเทคโนโลยี Bluetooth ก่อนหน้านี้ เจ้าของแนวคิด ได้พยายามระดมทุนผ่านช่องทางอื่นๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมา จึงได้ทดลองระดมทุนผ่าน Kickstarter ซึ่งถึงแม้จะตั้งเป้าหมายของการระดมทุนไว้ที่ 100,000 ดอลลาร์ แต่กลับสามารถระดมทุนได้กว่า 10 ล้านดอลลาร์ โดยมีผู้สนับสนุนเกือบ 70,000 ราย ซึ่งผู้สนับสนุนแนวคิดจะรับได้นาฬิกาอัจฉริยะในรุ่นพิเศษ ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามช่องทางปกติ เมื่อการสร้างนวัตกรรมประสบความสำเร็จ

ในที่สุด Pebble E-Paper Watch ได้ถูกสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ และถูกวางตลาดที่ราคา 150 ดอลลาร์ และมียอดจำหน่าย 15,000 เรือนต่อสัปดาห์

นอกจาก Pebble E-Paper Watch ยังมีอีกหลายร้อยแนวคิด ที่ถูกสร้างเป็นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ โดยอาศัยการระดมทุนผ่าน Kickstarter ตัวอย่างที่น่าสนใจคือสารคดีเรื่อง Sun Come Up และสารคดีเรื่อง Incident in New Baghdad ที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter และประสบความสำเร็จจนได้รับการเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์ ปัจจุบันกว่า 10% ของภาพยนตร์อิสระที่เข้าชิงรางวัลในสหรัฐ ล้วนมีการระดมทุนผ่าน Kickstarter

ไม่เพียงแต่ผู้ที่ขาดเส้นสายสำหรับเข้าถึงเครือข่ายของแหล่งทุน ที่เป็นผู้ใช้ Kickstarter แต่ผู้มีชื่อเสียง เช่น ดาราตุ๊กตาทอง Whoopi Goldberg และผู้ที่เคยประสบความสำเร็จในวงการต่างๆ ได้เลือกใช้ Kickstarter เพื่อระดมทุนให้กับแนวคิดของตัวเอง

ในประเทศไทย ได้เริ่มมีการใช้ Kickstarter ในการระดมทุน แนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนสูงสุด คือการสร้างสารคดีเรื่อง The Cheer Ambassadors ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทีมเชียร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สามารถเอาชนะการแข่งขันทีมเชียร์ระดับโลกที่สหรัฐ โดยได้ตั้งเป้าหมายการระดมทุนที่ 19,999 ดอลลาร์ แต่สามารถระดมทุนได้ถึง 39,269 ดอลลาร์ โดยมีผู้สนับสนุน 99 ราย สารคดีเรื่องนี้ ประสบความสำเร็จ และชนะเลิศการประกวดสารคดีระดับโลกที่ประเทศนอร์เวย์

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกแนวคิด ที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter แล้ว จะประสบความสำเร็จ เพียง 43 เปอร์เซ็นต์ หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุน สามารถนำไปสร้างเป็นนวัตกรรมอย่างประสบความสำเร็จ ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าสนับสนุนจะต้องรับรู้และยอมรับความเสี่ยงนี้ได้ ว่าเงินทุนสนับสนุนของตนอาจเป็นสิ่งที่สูญเปล่า หากแนวคิดไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ถึงกระนั้น Kickstarter และวิธีการของ Crowd Funding ได้บุกเบิกรูปแบบใหม่ของการระดมทุน ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของแนวคิดที่ขาดทุนทรัพย์หรือเส้นสาย สามารถสร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ โอกาสเช่นนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย รูปแบบของการทำ Crowd Funding จึงอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ที่ยังไม่มีเงินทุนสนับสนุนสำหรับการสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด Digital Content ที่กำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็วภายหลังการประมูล 3G