จักรยาน ว่าด้วยเส้นทางสู่การเป็นผู้ว่าฯ กทม.

จักรยาน ว่าด้วยเส้นทางสู่การเป็นผู้ว่าฯ กทม.

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมหานครของประเทศไทยก็ยิ่งเห็นต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์และชูนโยบายมาต่อสู้กันอย่างเอิกเกริก

หนึ่งในนั้นคือการสร้างเส้นทางสัญจรทางเลือกอย่างจักรยานให้คนกรุงได้ใช้กันอย่างเป็นจริงเป็นจังจนกลายเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่พยายามเอาอกเอาใจผู้มีสิทธิออกเสียงในโค้งสุดท้ายนี้

แน่นอนว่าการเดินทางไปไหนมาไหนในเขตกรุงเทพฯของผู้คนส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นการใช้ท้องถนนเป็นหลักด้วยการสัญจรผ่านพาหนะทั้งรถเมล์ รถตู้ รถยนต์ส่วนตัว รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหากจะอาศัยรถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง เพื่อเชื่อมต่อระหว่างการขนส่งคนในย่านใจกลางเมือง ที่แม้ว่าจะดูเหมือนมีทางเลือกให้กับผู้คนอย่างเยอะแยะมากมายก็ตาม แต่ก็พบว่าการคมนาคมขนส่งผู้คนโดยส่วนใหญ่ยังเป็นเครือข่ายที่ยังกระท่อนกระแท่น ไร้รอยต่อที่ได้มาตรฐาน และยากต่อการพึ่งพาและการคาดเดาระยะเวลาในการเดินทางอยู่มาก

ความสาหัสสากรรจ์ในการเดินทางในเมืองหลวงของเรานี้เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาระดับโลกมานานแล้ว โดยล่าสุดจากการประมวลภาพของสำนักข่าวบีบีซี ได้รายงานผ่านหัวข้อที่ว่า “10 monster traffic jam around the world” ซึ่งรวบรวมความคิดเห็นจากบรรดาผู้อ่านข่าวทั่วโลกที่ระบุถึงมหานครที่มีปัญหาการจราจรติดขัดตลอดกาล โดยกรุงเทพมหานครของเราถูกเอ่ยถึงเป็นชื่อแรกของโลก ตามมาด้วยหลายๆ เมืองในเอเชีย เช่น จาการ์ต้า มนิลา มุมไบ รวมไปถึงกรุงโซล ซึ่งหลายความเห็นสะท้อนให้เราตระหนักว่า ทิศทางการพัฒนาทางวัตถุอย่างความอยากมีอยากได้รถยนต์ต่างๆ นั้นดูจะสวนทางกับความศิวิไลซ์ของเมือง ที่ควรยกระดับชีวิตที่ดีกว่าให้กับผู้คน ซึ่งแม้ดูเหมือนจะเจริญขึ้นเพราะผู้คนมีรถยนต์ใช้กันอย่างหลากหน้าหลายตา (ตามแรงผลักดันของนโยบายรถคันแรก) แต่ในท้ายที่สุดคุณภาพชีวิตกลับหยุดอยู่แค่การเสียเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตในรถยนต์ส่วนตัว พอได้อ่านแล้วทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงสคริปโฆษณาเมื่อหลายสิบปีก่อนที่มีการประชดประชันวิถีชีวิตคนเมืองด้วยวิวาทะที่ว่าด้วย “ลูกโตในรถ!” ...ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ครอบครัวก็ยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่กับลูกในรถเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต

ทั้งนี้ มิพักต้องพูดไปถึงทางสัญจรสาธารณะที่ไร้มาตรฐานทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและข้อมูลสำหรับผู้เดินทาง จนอยากจะให้บรรดาผู้สมัครผู้ว่า กทม. หลายๆ คนลองลงมาใช้รถสาธารณะด้วยตัวเองสักหนึ่งอาทิตย์ เพื่อเข้าใจปัญหามหานครอย่างแท้จริงจะได้ไม่เสนอแต่แคมเปญที่ล่องลอยอยู่ในอากาศเช่นนี้

จากความเก็บกดของชาวกรุงเทพฯหลายๆ คน ทำให้เริ่มมีการรวมกลุ่มกันเองเพื่อผลักดันนโยบายและเปิดพื้นที่ทางสัญจรสาธารณะให้กับตนเอง โดยกลุ่มก้อนของเสียงเรียกร้องที่ดูจะเข้มแข็งอย่างมากมายเห็นจะเป็นกลุ่มผู้ใช้จักรยาน ที่วันดีคืนดีก็รวมกลุ่มกันจัดขบวนนักปั่น ปิดถนนเพื่อทำแคมเปญเรียกร้องพื้นที่กันอย่างเอิกเกริก ซึ่งแน่นอนว่า บรรดาผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในครั้งนี้ต่างกระโจนเข้าเอาอกเอาใจคนกลุ่มนี้กันเกือบทุกเบอร์ โดยการรณรงค์หาเสียงส่วนใหญ่จะเน้นอยู่ที่การจัดสร้างทางจักรยานให้สัญจรได้โดยเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถสาธารณะอื่นๆ

จากการจัดกลุ่มทางจักรยานของสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย พบว่า ทางจักรยานแบ่งออกเป็น 1) ทางจักรยานสำหรับการเดินทาง 2) ทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว และ 3) ทางจักรยานในสวนสาธารณะ ซึ่งแม้ดูเหมือนชาวจักรยานที่เรียกร้องขอพื้นที่ทางสัญจรนั้นจะเน้นไปที่ทางจักรยานสำหรับการเดินทางก็ตาม แต่กิจกรรมโดยส่วนใหญ่ของนักปั่นมักจะดำเนินในรูปแบบของงานอดิเรกวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่มีการรวมกลุ่มกันปั่นชนิดใส่เสื้อผ้าหน้าผมมาแบบจัดเต็มเสียมากกว่าที่จะเป็นการปั่นจักรยานในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การขับเคลื่อนทางจักรยานจึงยังดูเหมือนจะอยู่ในโหมดของแคมเปญที่ก้ำกึ่งกันระหว่างปั่นเพื่อการท่องเที่ยวกับปั่นเพื่อสัญจรในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นของการปั่น ปลุก เปลี่ยน มหานครของเราในครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะมีพลังกระตุกต่อมการพัฒนาให้กับบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ เบอร์ต่างๆ อยู่มากเลยทีเดียว โดยจะเห็นได้จากความร่วมมือของผู้สมัครทั้งหลายที่ร่วมใจกันลงพื้นที่เพื่อขอเสียงเกือบทุกงานที่บรรดานักปั่นเหล่านี้รวมตัวกัน โดยผู้สมัครบางคนสัญญาว่าจะทำทางจักรยานเพิ่ม บางคนบอกจะปั่นไปเลือกตั้ง บางคนบอกจะปั่นไปทำงาน ซึ่งนับเป็นคำสัญญาที่ฟังดูน่าชื่นใจไร้มลพิษ

แต่ก็อีกนั่นแหละ แคมเปญก็คือแคมเปญ ตราบใดที่การเมืองยังเป็นเรื่องของความเชื่อไม่ใช่ความจริง และกลไกการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองยังคงเป็นเกมตัวเลขที่นับประชาชนเป็นเพียงแต้มคะแนน นโยบายการขายฝันว่าด้วยทางจักรยานก็คงเป็นเพียงแฟชั่นที่ดูเท่แต่ไร้น้ำหนัก เพราะเพียงแค่ท่านผู้สมัครพรรคใหญ่ๆ ลงพื้นที่สัญญิงสัญญาว่าจะให้ทางจักรยานกับพี่น้องประชาชนอยู่บนเวทีอยู่นั้น รถนั่งส่วนตัว รวมถึงรถรณรงค์หาเสียงของท่านทั้งหลายกลับจอดทับเส้นทางสัญจรจักรยานกันอยู่นิ่งสนิทไม่เคลื่อนไหว จนกลายเป็นตลกร้ายที่แชร์กันให้ว่อนในโซเชียลมีเดีย

รายการ "ฝันที่เป็นจริง" ในเวอร์ชั่นแจกจักรยาน ไม่ใช่รถเข็นซาเล้งแบบที่เป็นมา จะเกิดขึ้นจริง มัดใจชนชั้นกลางในเมืองได้หรือไม่ อย่างไร คงต้องติดตามดูต่อไปในผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น