ประเด็นที่ต้องระวัง ในภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้

ประเด็นที่ต้องระวัง ในภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ช่วงกลางเดือน มีการประชุมผู้นำประเทศอุตสาหกรรมหลักเจ็ดประเทศ หรือ กลุ่ม G7

ซึ่งถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกขณะนี้มากที่สุด และตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจโลกประทุขึ้นเมื่อปี 2008 กลุ่ม G7 ได้มีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่พูดได้ว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้มีวิกฤติแบบกรณีธนาคารเลห์แมนบราเดอร์ประทุขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจ ยังไม่หมดและได้ยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ในรูปของปัญหาหนี้ของภาคทางการทั้งในสหรัฐและยุโรป ทำให้เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ดี และมีปัญหาการว่างงานสูง ขณะเดียวกันบทบาททางนโยบายของกลุ่ม G7 ก็ดูแผ่วลง เพราะแต่ละประเทศมุ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศตน ทำให้บทบาทของกลุ่ม G7 ในฐานะผู้นำด้านความคิดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกได้อ่อนแอลงมาก

ตัวอย่างล่าสุดก็คือการประชุม G7 ที่กรุงมอสโคว์เมื่อกลางเดือนนี้ แทนที่กลุ่ม G7 จะให้ความมั่นใจกับตลาดเกี่ยวกับนโยบายที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื้อหาจากการประชุมกลับมุ่งไปที่การให้การยอมรับนโยบายที่ประเทศในกลุ่ม G7 กำลังทำอยู่ เพื่อแก้เศรษฐกิจทั้งที่นโยบายเหล่านี้ มีผลทางลบต่อประเทศอื่นๆ ล่าสุดญี่ปุ่นได้ประกาศที่จะอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อให้เงินเยนอ่อนค่าลง เพื่อกระตุ้นการส่งออกและเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวมีความเป็นได้สูงที่จะนำไปสู่การทำนโยบายในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ เพื่อรักษาประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนจนมีความกังวลว่าจะเกิด “สงครามเงินตรา” ตามมาซึ่งหมายถึงภาวะที่แต่ละประเทศมุ่งจะทำให้ค่าเงินของตนอ่อนลง เพื่อผลทางเศรษฐกิจ แต่คำแถลงของกลุ่ม G7 ไม่ได้เตือนเรื่องนี้ บอกแค่อ้อมๆ ว่า นโยบายเศรษฐกิจของแต่ละประเทศควรมุ่งไปที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศของตน และเห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศควรกำหนดตามกลไกตลาด ทำให้ตลาดการเงินสับสน เพราะสิ่งที่ให้ความเห็นกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไม่ค่อยตรงกัน

ในความเห็นของผม การประชุม G7 ที่กรุงมอสโคว์ ได้ชี้บางสิ่งบางอย่างที่เราควรจะต้องระวังมากขึ้น เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกขณะนี้

หนึ่ง เศรษฐกิจโลกขณะนี้พูดได้ว่าไม่มีผู้นำที่แท้จริง ที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในลักษณะของการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศหลัก ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าประเทศในกลุ่ม G7 ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำเพื่อแก้ไขปัญหาของตน และไม่สนใจว่าวิธีที่ตนเลือกแก้ไขปัญหา เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องที่กำลังท่วมโลกอยู่ขณะนี้ จะมีผลกระทบข้างเคียงต่อประเทศอื่นๆ หรือไม่

สอง กลุ่มประเทศ G7 กำลังสนับสนุนซึ่งกันและกันในการใช้การอัดฉีดสภาพคล่องเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในทางเศรษฐศาสตร์นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องมีความเสี่ยงที่ทำให้มีการเร่งตัวของราคาสินทรัพย์ในระยะสั้น และอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว และที่ค่อนข้างน่าห่วงก็คือ ความเสี่ยงนี้เป็นสิ่งที่ผู้ทำนโยบายกลุ่มประเทศ G7 ตระหนักดี แต่ก็พร้อมที่จะอัดฉีดสภาพคล่อง เพราะเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสำคัญกว่าเงินเฟ้อ

สาม นโยบายอัดฉีดสภาพคล่องโดยสหรัฐ ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศสกุลเงินยูโร รวมถึงอังกฤษ จะทำให้ตลาดเงินโลกผันผวนมากขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวโดยเปรียบเทียบของค่าเงินสกุลหลักต่างๆ จะถูกขับเคลื่อนโดยการไหลเข้าออกของเงินลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินต่างๆ มากกว่าที่จะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อันนี้จึงอธิบายว่าทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดีมาก และทำไมตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงทันที เมื่อมีข่าวว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจลดการอัดฉีดสภาพคล่องลงเร็วกว่าที่เคยคาด อย่างที่เกิดขึ้นอาทิตย์ที่แล้ว

คำถามที่ตามมาก็คือ ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนไหวอย่างนี้ ประเทศไทยและการทำนโยบายในประเทศไทยควรต้องระมัดระวังอะไร

ความเสี่ยงสำคัญจากภาวะตลาดการเงินโลกแบบนี้ต่อเศรษฐกิจก็คือ ผลของความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าที่จะมีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินในประเทศยากขึ้นจากกระแสเงินทุนไหลเข้าออกที่อาจรุนแรง สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ขณะที่สภาพคล่องในประเทศที่มีมากจากเงินทุนไหลเข้า ก็จะสร้างแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์เร่งปล่อยสินเชื่อนำไปสู่การใช้จ่ายอย่างเกินตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ราคาสินทรัพย์ และอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น และจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง คำถามก็คือ ในสถานการณ์แบบนี้นโยบายการเงินควรจะทำอย่างไร

ในเรื่องนี้ ผมอยากจะให้ข้อสังเกตไว้สองข้อ

ข้อแรก แรงกดดันต่อค่าเงินจากเงินทุนไหลเข้าจะทำให้ผู้ทำนโยบายอยากแทรกแซงค่าเงินเพื่อชะลอการแข็งค่า หรืออยากลดอัตราดอกเบี้ย โดยหวังผลว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง จะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้า หรืออาจไปถึงการใช้มาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าอย่างที่เคยเกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนจากอดีต ก็คือ แนวทางทั้งสามจะไม่สามารถหยุดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศได้ เพราะปริมาณสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีมาก ขณะที่เงินทุนที่ไหลเข้าก็ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ และด้านความเสี่ยงของการลงทุนเป็นสำคัญ ตรงกันข้าม การแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าอาจสร้างแรงจูงใจให้มีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะแรงจูงใจที่จะทำกำไรจากค่าเงินที่จะแข็งค่า เมื่อทางการหยุดแทรกแซง ดังนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนควรปรับตัวตามภาวะตลาดให้มากที่สุด เพราะเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนปรับเข้าสู่ระดับดุลยภาพได้เร็ว การแข็งค่าของเงินก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ยาก

ข้อที่สอง เงินทุนไหลเข้าจะสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ จากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ที่ขณะนี้ก็เป็นประเด็นที่ผู้ร่วมตลาดพูดถึงกันมากจากสัญญาณที่นักธุรกิจเริ่มเห็น ดังนั้น ทางการไม่ควรชะล่าใจในเรื่องนี้ แต่ควรพิจารณาดำเนินการในสิ่งที่ควรทำแต่เนิ่นๆ ทำจากเบาไปหนัก โดยเฉพาะมาตรการกำกับดูแลการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นการแสดงความระมัดระวังตามสถานการณ์ แต่ถ้าทางการไม่ทำหรือทำช้า การดูแลความเสี่ยงของปัญหาฟองสบู่ก็จะยิ่งยากขึ้น

ก็อยากจะฝากข้อคิดไว้ด้วยความเป็นห่วง