สุขสั้น ทุกข์ยาว

สุขสั้น ทุกข์ยาว

เมื่อวันก่อนผมไปโค้ชคนในองค์กรแห่งหนึ่งหลักสูตร Accelerate Your Growth

หรือการวางแผนส่วนบุคคลเพื่อการเติบโตตามแนวทางของ Brain-based Leadership ระหว่างคุยกันเรื่องการสร้าง Vision สั้นๆ ไม่เกินเจ็ดคำไว้เป็นแรงบันดาลใจและความท้าทายให้กับสมอง ผู้จัดการท่านหนึ่งถามผมว่า "แล้ว Vision ของอาจารย์คืออะไรคะ?"
ผมตอบเธอไปว่า "สุขสั้น ทุกข์ยาว" ครับ
แปลว่าจะพยายามใช้ชีวิตแบบหาความสุขน้อยๆ บ่อยๆ ไม่ปล่อยให้สมองเคยชินกับความสุข ส่วนเวลาทุกข์ก็จะพยายามทุกข์ให้จบ ไม่ปล่อยให้เรื้อรังหรือคลุมเครือ พยายามให้สมองเคยชินกับความทุกข์เร็วๆ
เวลาไปคุยกับองค์กรต่างๆ เรื่องเพนกวินกับผู้นำการเปลี่ยนแปลงใน Our Iceberg is Melting ของ Dr. John Kotter ผมมักถูกถามเสมอว่า "จริงๆ แล้วคนเปลี่ยนได้ไหม?" หรือว่าใครเป็นอย่างไรก็มีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นไปจนตาย
คำตอบของผมคือ ผมไม่รู้ว่า "คน" เปลี่ยนได้ไหม แต่ที่รู้คือ "สมองคน" เปลี่ยนได้ และเปลี่ยนได้ง่ายซะด้วย
Dr. Daniel Gilbert แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวไว้ในหนังสือ Stumbling on Happiness ว่า สมองมนุษย์ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป บางครั้งโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป
ตัวอย่างเช่น เวลาเราลงทุนซื้อความสุขด้วยของใหญ่ๆ เช่นรถคันละสามสี่ล้าน ไปเดินมอเตอร์เอ็กซโปแล้วรู้สึกว่านี่แหละใช่เลย ถ้าได้เป็นเจ้าของรถคันนี้ เราจะมีความสุขไปจนตาย ให้รางวัลกับตัวเอง เอาโบนัสดาวน์เอาค่ากับข้าวผ่อน ผ่านไปสามสี่เดือน สมองก็จะปรับตัวให้เคยชินกับรถคันใหม่คันนี้ ภาษาชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่า "หายเห่อ"
หรือ มีความสุขจากการได้ไอโฟนสี่เอสมาหมาดๆ ไม่เกินสามเดือนสมองก็จะเปลี่ยนไปทำให้ความสุขนั้นจืดจางไปด้วย จากนั้นก็จะตั้งหน้าตั้งตารอถอยไอโฟนห้าต่อไป พอได้ห้าก็จะรอหกเจ็ดแปดอีก หากคุณไม่ใช่คนที่จะซื้อไอโฟนใหม่ๆได้ทุกรุ่น คราวนี้คุณก็จะหมดสุขที่ไม่ได้ของใหม่(ที่สุด)มาครอง
การเป็นผู้นำสมองตัวเอง
"สุขสั้น" หมายความว่า หากคุณอยากมีความสุข ให้หาความสุขจากสิ่งเล็กๆไม่ใช่สิ่งใหญ่ๆ ไปเที่ยวในที่ใหม่ๆบ่อยๆ มีของขวัญชิ้นเล็กๆให้กับตัวเองเรื่อยๆ ดีกว่าซื้อรถคันใหม่ตูมเดียวเงินหมด เพราะสมองปรับตัวเก่ง ความสุขจะใหม่อยู่แค่ไม่กี่วันเสมอ
"ทุกข์ยาว" ก็มองในมุมกลับ แปลว่าเวลาเราทุกข์ ให้ทุกข์รวดเดียวให้จบ หากการจ่ายเงินเป็นทุกข์ ก็ให้จ่ายทีเดียวให้หมด ถ้าไม่มีตังค์อย่าศูนย์เปอร์เซ็นต์สิบเดือน เวลาอกหักก็ให้เศร้าโศกทีเดียวไปเลยสองสัปดาห์ติด อย่าย้ำคิดย้ำทำตบจูบๆ พยายามทุกข์ทีเดียวให้จบไป ในเมื่อสมองปรับตัวเร็ว การกลับไปกลับมาทำให้สมองปรับตัวลำบาก อย่าต่ออายุความทุกข์ให้สมองของตัวเอง ความทุกข์จะใหม่อยู่แค่ไม่กี่วันเสมอ
การเป็นผู้นำสมองคนอื่น
ข้อคิดจากสมองคือพยายามสร้างความสุขสั้นๆ ให้คนในทีมบ่อยๆ ชมกันบ้างให้ของขวัญกันบ้าง พาไปกินข้าวในที่แปลกๆ มีเซอร์ไพรส์ซึ่งกันและกัน ฉลองชัยชนะระยะสั้นเสมอๆ หรือหาโปรเจ็คใหม่ๆ มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ จะได้ผลมากกว่าการสร้างความสุขตูมเดียวด้วยโบนัสก้อนโตประจำปี หรือการขึ้นเงินเดือนปีละครั้ง เพราะสมองของพวกเขาเปลี่ยนได้เร็ว สุขแบบแรกจะยั่งยืน สุขแบบหลังจะใหม่อยู่แค่ไม่กี่วัน
และเวลาทีมมีเรื่องทุกข์ ก็พยายามให้เขาทุกข์รวดเดียวให้จบ อย่าปล่อยให้ค้างคาไว้เป็นน้ำซึมบ่อทราย มีประเด็นอะไรไม่ชัดเจนก็รีบเอาออกมาเคลียร์กันเสีย อย่ากลัวข่าวร้าย เพราะให้ร้ายอย่างไรสมองจะปรับตัวให้รับกับมันได้เสมอ เก็บไว้ลับๆ ล่อๆ สมองปรับตัวไม่ได้ อาจยิ่งต่อเติมใส่ไข่ให้น่ากลัวกว่าที่เป็น หรือไม่งั้นก็แสร้งทำเป็นไม่รับรู้ เกิดความเฉื่อยหรือ complacency ไปเลย
นี่ล่ะครับ "สุขสั้น ทุกข์ยาว" ข้อคิดแบบ Out-of-the-Box อีกข้อที่ใช้ได้ทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงานจาก Brain-based Leadership