"ตกงาน"เพราะค่าแรง300 แน่ใจว่าเป็น"ของจริง..?"

"ตกงาน"เพราะค่าแรง300 แน่ใจว่าเป็น"ของจริง..?"

คงไม่ต้องถามว่า "ค่าแรง 300 บาท" ดีหรือไม่ดีอย่างไร หลังจากประกาศใช้ผ่านมาแล้วเกือบ 2 เดือน

ก็พอจะมองเห็นทิศทางและแนวโน้มของสถานการณ์แรงงานหลังจากนี้ โดยเฉพาะปัญหาการเลิกจ้างที่ค่อยๆ ฉายภาพออกมาให้เห็นอย่างเงียบๆ กระจัดกระจายไปตามต่างจังหวัด เหมือนจะรอแรงกระเพื่อมใหญ่ๆ มาซ้ำอีกครั้ง

ทว่าหากจับอารมณ์และความรู้สึกของคน พบว่ามีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ แน่นอนว่าคนที่รับค่าแรง 300 บาทต้องบอกว่าดี ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องทำใจลำบากสักหน่อย เพราะต้องแบกภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ใครที่พอมีกำลังไปไหวก็ต้องกัดฟันสู้กันไป เฟ้นหาวิธีปรับตัวทุกรูปแบบ ส่วนคนที่สายป่านสั้นไปไม่ไหว ก็จำใจต้องจบธุรกิจลงด้วยการเลิกกิจการ ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีหลายรายต้องสังเวยไปกับนโยบายค่าแรง 300 บาท หลายกิจการต้องปิดตัวลง แรงงานหลายชีวิตต้องถูกเลิกจ้าง หลายคนยังตกงาน

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทางภาครัฐ โดยเฉพาะ กระทรวงแรงงาน พยายามสะท้อนตัวเลขของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาท ออกมาให้เห็นว่าสถานการณ์ยังปกติ ไม่มีวิกฤติเลิกจ้างอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยอ้างอิงตัวเลขการลงทะเบียนว่างงาน ของกองทุนประกันสังคมในพื้นที่ที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดที่ยังไม่น่าวิตก โดยพยายามบอกว่าการเลิกจ้างที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอื่น เช่น วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป หรือการลาออกเองของลูกจ้าง

ในขณะที่เสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรม ยังคงแสดงความกังวลต่อปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. 2556 ที่ลดลง มาจากปัจจัยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งให้ปรับตัวสูงขึ้น

หากดูตัวเลขของ กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงขณะนี้ พบว่าสถานประกอบการที่เลิกจ้างทั้งสิ้น 47 แห่ง รวมลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง 1,904 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีสถานประกอบการเพียง 44 แห่ง เลิกจ้างแค่ 1,894 คน ขณะที่มีแรงงานจำนวน 11 คน จากสถานประกอบการ 3 แห่ง ถูกเลิกจ้างเพราะสาเหตุจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท และปิดกิจการ 1 แห่ง ลูกจ้างเพียง 7 คนเท่านั้น แต่ก็ยังพบว่ามีสถานประกอบการเสี่ยงต่อการเลิกจ้างเพิ่มอีก 31 แห่ง ลูกจ้างทั้งหมด 5,301 คน โดยในจำนวนนี้เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 4,072 คน ด้วยสัญญาณที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างหลายเดือนติดต่อกัน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

คำถามมีอยู่ว่า แรงงานที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้มั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นตัวเลขแรงงานที่แท้จริง อย่าลืมว่ายังมีเอสเอ็มอีรายย่อยอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบกองทุนประกันสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าแรงงาน 300 บาท ซึ่งต่างประสบปัญหาเลิกจ้างเช่นกัน โดยยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลชัดเจนว่าแรงงานกลุ่มนี้มีจำนวนอยู่เท่าไร กระทรวงแรงงานจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสารบบเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ประเด็นก็คือ พวกเขาเหล่านั้นจะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐได้หรือไม่

กระทรวงแรงงาน ควรจะมีมาตรการช่วยเหลือไปถึงแรงงานเหล่านี้ด้วย และควรจะมีการประเมินตัวเลขแรงงานเอสเอ็มอี ที่ไม่อยู่ในประกันสังคมที่ถูกเลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท รวมเข้าไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง