ปัญหาและทางออกของเศรษฐกิจไทย

ปัญหาและทางออกของเศรษฐกิจไทย

ประชาชนถูกรัฐบาลอธิบายให้เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจแบบง่ายๆ ว่า มีโครงการแบบประชานิยมและการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนจากต่างชาติและการส่งออกเยอะๆ

จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น นี่เป็นความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง เบื้องหลังนโยบายนี้คือการหาความมั่งคั่งและคะแนนนิยมของพวกนักการเมืองและธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติและส่งออกมาก แถมยังมีการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นมากนั้น ให้ประโยชน์นักการเมืองและคนรวย คนชั้นกลางส่วนน้อย มากกว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกร คนงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เศรษฐกิจแบบนี้จึงเติบโตแบบฉาบฉวยไม่ยั่งยืน

นักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนัก มองเห็นตรงกันว่านโยบายรัฐบาลรับซื้อข้าวราคาสูงกว่าตลาด (จำนำข้าว) การอุดหนุนเงินให้ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ฯลฯ ล้วนเป็นการลงทุนแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ที่นอกจากจะเสียเงินจากภาษีประชาชนไปอย่างไม่คุ้มค่าแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศอย่างมากด้วย

โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาทำโครงสร้างพื้นฐาน และอีก 3 แสนล้านบาทมาแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นโครงการที่จะก่อหนี้มาก และได้ผลตอบแทนน้อยไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม การสร้างทางด่วน รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯไปหัวเมืองใหญ่ 2-3 แห่ง ส่วนใหญ่คือการขนส่งคน ไม่ใช่การขนส่งสินค้า การขนส่งคน คือการให้บริการ ไม่ใช่การเพิ่มผลผลิต แม้จะอำนวยความสะดวกให้คนเดินทางได้เร็ว ทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้บ้าง หรือกรณีรถไฟฟ้า อาจลดการใช้รถส่วนตัวได้บ้าง แต่การสร้างทางด่วน ยิ่งส่งเสริมการใช้รถส่วนตัว และการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงขึ้น รถไฟความเร็วสูงที่มีต้นทุนทั้งการลงทุนและการดำเนินงานที่ใช้ค่าเชื้อเพลิงสูงถ้ามีผู้โดยสารน้อยอาจขาดทุนได้ โดยรวมแล้ว โครงการขนส่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องการเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจขั้นพื้นฐาน

โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบางส่วนอาจได้ประโยชน์บ้าง แต่เขื่อนมาวงก์และเขื่อนอื่นๆ ที่รัฐบาลโมเมจะสร้างทั้งๆ ที่ไม่ผ่านการประเมินผลกระทบนั้น นอกจากจะป้องกันน้ำท่วมได้น้อยแล้ว ประโยชน์ทางชลประทานก็น้อยมากด้วย เมื่อเทียบกับการสูญเสียจากการทำลายป่า ระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีต้นทุนทางธรรมชาติสูงมาก

การที่รัฐชอบสร้างโครงการขนส่งขนาดใหญ่และเขื่อนขนาดใหญ่ แทนที่จะคิดถึงการกระจายการพัฒนาประเทศให้ดีและการขนส่งที่ประหยัดมีประสิทธิภาพ การทำชลประทานขนาดเล็ก เช่น ฝาย อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ ที่จะมีผลเสียต่อระบบนิเวศน้อยกว่าและได้ประโยชน์ทั่วถึงมากกว่า เป็นเพราะรัฐบาลต้องการผลประโยชน์จากค่าคอมมิชชั่นการก่อสร้าง รวมทั้งการเก็งกำไรซื้อขายที่ดินที่ติดโครงการ และเพราะคิดง่ายๆ ว่าการลงทุนขนาดใหญ่คือการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตและจะกระจายไปทุกส่วนเอง

แต่จริงๆ แล้วการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งการขนส่งและเขื่อน เป็นการใช้งบเงินกู้เพื่อซื้อของจากต่างประเทศมาก เงินจะไหลออกและได้ประโยชน์กับคนบางกลุ่ม ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจการผลิตของคนทั้งประเทศเข้มแข็งขึ้น โครงการเหล่านี้นอกจากจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ไม่มีประสิทธิภาพคุ้มค่าแล้ว ยังจะทำให้ประเทศชาติเป็นหนี้สินเกินตัว (ทั้งหนี้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน) เศรษฐกิจภาครัฐจะมีปัญหาวิกฤตภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะลามไปสู่ภาคเอกชนด้วย

นักเศรษฐศาสตร์ภาครัฐชอบอ้างว่า การกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้เพิ่มขึ้นเป็นก่อหนี้สาธารณะราว 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม GDP เป็นอัตราปกติ เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก แต่พวกเขาไม่ได้มองความจริงอีกข้อหนึ่งว่า รัฐบาลประเทศตะวันตกมีรายได้จากภาษีและอื่นๆ ราว 40% ของ GDP ขณะที่รัฐบาลไทยมีรายได้แค่ 18% ของ GDP ไทยจึงมีความสามารถในการใช้หนี้ต่ำกว่า ดังนั้นจึงควรก่อหนี้ต่ำกว่า ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ รัฐบาลไทยใช้วิธีซ่อนหนี้กองทุนฟื้นฟูธนาคาร สถาบันการเงิน และหนี้รัฐวิสาหกิจบางอย่างไว้ ทำให้ตัวเลขยอดหนี้สาธารณะของประเทศไทยต่ำกว่าตัวเลขทางบัญชี แต่หนี้เหล่านี้ก็คือหนี้สาธารณะที่คนไทยและลูกหลานต้องแบกรับ (ด้วยการจ่ายภาษีเพิ่ม) อยู่ดี

คำว่าโครงสร้างพื้นฐานในทางเศรษฐศาสตร์นั้นรวมถึงการพัฒนาการศึกษา การวิจัย วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีด้วย นี่คือสิ่งที่จะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพ เพิ่มผลิตการผลิตได้อย่างแท้จริง และขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานด้านนี้เราอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก (การประเมินความสามารถในการแข่งขันของ IMD) เรื่องการศึกษา เราใช้งบประมาณมาก แต่ได้ประสิทธิภาพน้อย ต้องรื้อระบบการศึกษาใหม่ พัฒนาผู้บริหารและครูอาจารย์ให้ฉลาดและทำงานมีประสิทธิภาพจริงจัง ส่วนการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียังใช้งบน้อย แต่ต้องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการด้วยเช่นกัน ไม่ใช่แค่การเพิ่มงบประมาณไปให้โครงสร้างเก่า ซึ่งทำงานแบบราชการรวมศูนย์ที่ศูนย์กลาง ซึ่งเป็นระบบที่ล้าสมัยได้ผลน้อย

ทางออกของเศรษฐกิจไทยคือ ต้องเน้นการพัฒนาแรงงาน ทรัพยากรและตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น ใช้งบลงทุนเพื่อพัฒนาคน องค์กร สถาบันต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการปฏิรูประบบการศึกษา ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบมุ่งใช้งานได้พึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น ปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ ปฏิรูปการคลัง การธนาคาร การขนส่ง การตลาด ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ปฏิรูปที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดสาร พัฒนาชลประทานขนาดเล็กอย่างทั่วถึง

ปฏิรูปการขนส่งทั้งคนและสินค้าอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ (ลดการใช้พลังงานซึ่งไทยต้องสั่งเข้าสูงมากลง) พัฒนาพลังงานทางเลือก แปรรูปผลผลิตการเกษตรต่างๆ เช่น ยาง ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่งเสริมหัตถกรรม อุตสาหกรรมขนาดกลางขนาดย่อมที่ใช้วัตถุดิบและฝีมือภายในประเทศให้แข่งขันได้เพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศิลปวัฒนธรรม การปฏิรูปเรื่องสาธารณสุข การประกันสุขภาพ และการประกันสังคม สวัสดิการ การกระจายพัฒนาเศรษฐกิจสังคมสู่จังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง แทนที่จะรวมศูนย์การพัฒนาทางเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพมากไป ซึ่งทั้งไม่สมดุล ไม่เป็นธรรม ทั้งสิ้นเปลืองต้นทุนในการดูแลจัดการและการขนส่งที่สูงมาก และกรุงเทพซึ่งพื้นที่ต่ำและติดทะเลเสี่ยงมากที่จะถูกน้ำท่วมในอนาคตอันไม่ไกลนี้

การผลาญงบประมาณไปกับโครงการประชานิยมที่มุ่งหาเสียงมากเหล่านี้อีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็จะหมดไป เพราะเศรษฐกิจไทยจะพังแบบกรีกและประเทศอื่น ๆ (รัฐบาลถังแตก เศรษฐกิจตกต่ำ, คนว่างงานสูง)

ทางออกคือคนที่รู้ปัญหาต้องคิดหาทางผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทั้งระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคม เพื่อทำให้ประชาชนฉลาดขึ้น มีผลิตภาพสูงขึ้น รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองได้เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาด้วยกลุ่มองค์กรของประชาชนเป็นด้านหลัก เน้นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งแรงงาน ทรัพยากรตลาดภายในสูงขึ้น และส่งออกสินค้าประเภทเกษตร อุตสาหกรรม หัตถกรรมที่ให้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เน้นการกระจายให้ประชาชนส่วนใหญ่มีกินมีใช้แบบพอเพียงอย่างมีคุณภาพชีวิต