องค์กรเลี้ยวขวา

องค์กรเลี้ยวขวา

ไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้เห็น "กระทิงแดงคืนชีพ" จวบจนเมื่อมีการแถลงข่าวเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

ถนนราชดำเนินกลาง

วันนั้น บวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน พร้อมด้วย ทอง ทัศนมณเฑียร ตัวแทนหน่วย กระทิงแดง และ อัณคามิลโล เพียรพบ อดีตนักเรียนอาชีวศึกษาในยุค 14 ตุลา 2516 ร่วมกันแถลงเปิดตัว "แนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ เพื่อปกป้องสถาบัน"

"บวร" อ้างว่า เวลานี้บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ อันเกิดจากบุคคลที่บังอาจปลุกปั่นยุยงส่งเสริมให้มีการลบหลู่สถาบัน คุกคามศาล เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอาญา ปล่อยคนเผาเมือง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิด ฯลฯ

"ถึงเวลาที่กลุ่มอาชีวะ 14 ตุลา 16 กลุ่มอาชีวะ 6 ตุลา 19 หน่วยกระทิงแดง และกลุ่มอาชีวะพิทักษ์สถาบัน ต้องกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง"

กระทิงแดงเป็นชื่อหน่วยจัดตั้งของ กอ.รมน. ที่ต้องการให้นักเรียนอาชีวะเป็นกองกำลังตอบโต้ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายเมื่อ 38 ปีที่แล้ว

กรณีดังกล่าวข้างต้น ถ้าผู้ก่อการเป็น "แกนนำกระทิงแดง" ตัวจริงเสียงจริง ก็น่าสนใจ แต่บังเอิญว่าเป็น "บวร" ที่ออกแบบองค์กรมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 4-5 องค์กร จึงทำให้น้ำหนักของข่าวชิ้นนี้เบาไปถนัดใจ

บวร ยสินทร ปรากฏตัวในเวทีการเคลื่อนไหวนอกสภาครั้งแรกกับ "กลุ่มคนเสื้อหลากสี" ของหมอตุลย์ โดยเขาเข้าร่วมในนาม "เครือข่ายราษฎรปกป้องสถาบัน"

ต่อมา บวรได้ร่วมกับ "โหรกรหริศ" ตั้ง "กลุ่มเรียกคืนอำนาจจากนักการเมืองเนรคุณแผ่นดิน" ออกข่าวนัดชุมนุมใหญ่ แต่ก็ไม่มีใครเข้าร่วม

ปีที่แล้ว บวรไปร่วมกับ "เสธ.อ้าย" จัดตั้ง "องค์การพิทักษ์สยาม" ถือว่าได้น้ำได้เนื้อมากที่สุดตั้งแต่เขาเคลื่อนไหวมวลชนสีเสื้อมา แม้สุดท้ายจะจบแบบไม่ทันตั้งตัว แต่บวรก็ได้มีส่วนร่วมสร้างตำนาน "เสธ.อ้าย ม้วนเดียวจบ"

เมื่อสามปีก่อน บวรจัดตั้ง "ศูนย์กลางนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย" ชื่อย่อ "ศนท." มีวัตถุประสงค์ปกปักรักษาและพิทักษ์ ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ตอนนั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกมาทักท้วงว่า ไม่เหมาะสมในการเอาชื่อศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มีเกียรติภูมิในยุคการต่อสู้กับเผด็จการทหาร มาใช้เป็นชื่อองค์กรเฉพาะกิจเช่นนี้

บวร ได้ตอบโต้กลับไป และบอกว่าเขาก็เป็น "คนเดือนตุลา" มีบทบาทในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และที่สำคัญ เขาเป็น "คนเดือนตุลาฝ่ายขวา" ที่อยู่ตรงข้ามกับคนเดือนตุลาฝ่ายซ้าย

ปี 2516-2517 บวร เป็นประธานเชียร์ของสโมสรนิสิตจุฬาฯ และเป็นกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ (สจม.) ที่มี ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นนายก สจม. (ปัจจุบัน ประสารเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ)

ระหว่างการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (10-13 ตุลาคม 2516) บวร เป็นตัวแทนนายก สจม.ร่วมกับกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) โดยการนำของ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เลขาธิการ ศนท. เข้าเจรจากับจอมพลประภาส จารุเสถียร ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่วังปารุสกวัน เมื่อ 11 ตุลาคม 2516

กลางปี 2517 บวร เป็นผู้อำนวยการ นสพ.อธิปัตย์ กระบอกเสียงของ ศนท.ในยุคที่ ชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ เป็นรักษาการเลขาธิการ ศนท. แต่จากนั้นไม่นาน เขาก็ถอนตัวออกจากอธิปัตย์ และหายไปจากขบวนการนักศึกษา

บวร เล่าผ่านเฟซบุ๊ค ว่า ศนท. นับจากปีที่เขาถอยออกมา "ฝ่ายซ้าย" ก็เข้าครอบงำความคิดผู้นำนักศึกษา และขบวนการนักศึกษาไทยก็เลี้ยวซ้าย จนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

มีข้อน่าสังเกตว่า บวร กับ "แนวร่วมกอบกู้วิกฤติชาติ เพื่อปกป้องสถาบัน" มาโผล่ในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พอดิบพอดี

จริงๆ แล้ว ข่าวกระทิงแดงของ บวร ไม่น่าตื่นเต้นเท่ากับข่าว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นัดพบ "สหายอาวุโส" ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ชายป่าภาคอีสาน ในวันอาทิตย์นี้

มือประสานสิบทิศ ฝันว่า จะนำประเทศสู่ความปรองดอง หากได้กลับมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย...มีเสรีที่จะฝัน ก็ฝันไปเรื่อยตามประสาผู้สูงวัย