อาเซียนอีก 5 ปี 10 ปี ยังค้าขายเหมือนเดิมหรือเปล่า

อาเซียนอีก 5 ปี 10 ปี ยังค้าขายเหมือนเดิมหรือเปล่า

ในขณะที่เวลาของการเริ่มต้นความร่วมมือภายใต้อาเซียนที่จะมาถึงเร็วๆ นี้นั้นใกล้เข้ามาทุกที

และมีการประเมินมีการเตรียมตัวหาโอกาส และรับมือเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่เราสังเกตเห็นได้มีด้วยกันหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการด้านการขนส่งระหว่างกัน กติกาการค้าขายระหว่างกัน การชำระเงินและการจัดสรรทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงความเชื่อถือและการจัดการความเสี่ยงคู่ค้าทั้งเก่าและใหม่ที่จะเกิดขึ้น การย้ายฐานการประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องเกิดขึ้น ซึ่งในหลายๆ ประเด็นนั้น เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจะเป็นลักษณะไหน แต่จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้น เราสามารถเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือรูปแบบการค้าขายและการบริหารจัดการความเสี่ยงคู่ค้า ที่จะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผมคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเตรียมตัวที่จะเกิดขึ้น

การค้าขายในปัจจุบันนั้นเราอาจจำแนกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ซึ่งแบ่งจากลักษณะการทำการค้ากับคู่ค้า คือ การค้าระหว่างประเทศ และการค้าภายในประเทศ ซึ่งการค้าขายโดยทั่วไปนั้นถ้าเป็นภายในประเทศเราก็จะมีการชำระเงินค่าสินค้าหลัก ๆ คือ การให้เครดิตกับคู่ค้า การชำระบางส่วนก่อนแล้วเมื่อส่งสินค้าก็ชำระส่วนที่เหลือ การชำระทั้งหมดเมื่อได้รับสินค้า ซึ่งโดยทั่วไปเป็นเงินสกุลบาทเป็นหลัก และคู่ค้าต่าง ๆ ก็ค้าขายกับผู้บริโภค หรือ ผู้ค้าคนต่อ ๆ ไป

สำหรับการค้าระหว่างประเทศนั้น การค้าขายมีลักษณะการชำระเงินเป็น 3 รูปแบบเป็นหลัก คือชำระเงินก่อนค่อยส่งสินค้า(Advance Payment) ชำระเงินหลังจากได้รับสินค้า (TT) และการค้าแบบมีตราสารรับรองความเสี่ยงคู่ค้า (Letter of Credit or L/C) ซึ่งการค้าระหว่างประเทศนั้น เนื่องด้วยเราอาจไม่รู้จักหรือไม่มั่นใจในด้านของคู่สัญญาว่าสามารถชำระค่าสินค้าได้หรือไม่ หากการส่งสินค้าได้ดำเนินการไป และเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการชำระค่าสินค้าได้

การออก Letter of Credit โดยธนาคารพาณิชย์ของผู้ซื้อสินค้าก็เป็นการเพิ่มความมั่นใจว่า จะได้รับชำระค่าสินค้าหากผู้ซื้อสินค้าไม่ชำระค่าสินค้า หากการค้าขายทั้งในและต่างประเทศยังคงเหมือนเดิมอีก 5-10 ปีข้างหน้าเราอาจไม่ต้องห่วงมากนัก (เพราะหากเราไม่มั่นใจในคู่ค้าต่างประเทศเราก็ขอให้ผู้ซื้อออก Letter of Credit ให้กับเรา และเราดูว่าธนาคารที่ออกเอกสารนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ก็น่าจะพอ) แต่ในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกไม่ช้าน่าจะมีผลกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน เป็นผลให้การค้าขาย และวิถีดำเนินกิจกรรมทางการค้าและธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเรื่องหลัก ๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ (Connectivity) โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับประเทศที่มีชายแดนติดกับเราไม่ว่าจะเป็น CLMV ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เป็นการเพิ่มตลาดให้กับการค้าขายที่จะเพิ่มขึ้นไปสู่ประชากรที่เพิ่มขึ้น มีโอกาสในการนำเอาทรัพยากรที่อยู่ในประเทศต่างๆ รอบๆ เรา และนำมาเพิ่มมูลค่าทั้งจากวัตถุดิบ และ Semi-finished Goods ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ อาจทำให้ลักษณะการจัดกลุ่มของการค้าขายเปลี่ยนแปลงไป คือ จากเดิมมีการค้าขายในประเทศ กับการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านจะถูกรวมเข้าไปในส่วนของการค้าขายในประเทศ เพราะการชำระเงินต่างๆ และการปฏิสัมพันธ์กันสามารถดำเนินการได้ (อาจจะชำระเป็นเงินบาทระหว่างกัน) ซึ่งผลคือสัดส่วนปริมาณการค้าระหว่างประเทศ (ไทยกับประเทศอื่นนอก CLMV) จะมีปริมาณน้อยลง

ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศน้อยลง การค้าระหว่างกัน และภายในประเทศเพิ่มเติมขึ้น การใช้ธุรกรรมทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงก็จะมีลักษณะเปลี่ยนไป นอกจากนี้การดำเนินการด้าน การขนส่งสินค้าจากเดิมที่มีการขนส่งทางเรือเป็นหลักก็จะมีปริมาณขนส่งทางเรือลดน้อยลง (เดิมการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาประเมินว่ามีเรือผ่านช่องแคบดังกล่าวไม่น้อยกว่าปีละ 7 หมื่นลำ) การเปลี่ยนแปลงทั้งการค้าระหว่างกัน การขนส่วนทางบกที่เพิ่มขึ้น ทำให้หากเราต้องการป้องกันความเสี่ยงคู่ค้าผ่านการออกเอกสารทางการเงิน หรือ Letter of Credit ก็จะมีปริมาณลดน้อยลงด้วย การชำระเงินก็ชำระเงินด้วยเงินท้องถิ่น และหากเราต้องการบริหารจัดการความเสี่ยงคู่ค้าคงต้องนำเอาเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ มาใช้ประกอบ เพื่อให้เราขายของและเก็บเงินได้

เครื่องมือทางการเงินสำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าขายใน 5-10 ปีข้างหน้านั้นผมเชื่อว่าการใช้การประกันคู่ค้า (Trade Credit Insurance) จะมีการใช้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพราะการออก Letter of Credit นั้นอาจไม่สามารถดำเนินการได้ หรือ หากดำเนินการได้ความเสี่ยงของธนาคารผู้ออกในประเทศเพื่อนบ้านนั้นยังมีความเสี่ยงอยู่และอาจไม่สามารถเพิ่มความมั่นใจได้มากพอ ซึ่งการไม่ชำระค่าสินค้านั้นมีสาเหตุได้หลาย ๆ สาเหตุ อาทิ ผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า ผู้ซื้อไม่ยอมรับสินค้า ความเสี่ยงทางการเมืองต่าง ๆ (Capital Control) ซึ่งความเข้าใจในการนำเอาเครื่องมือนี้มาบริหารความเสี่ยงคู่ค้ายังมีอยู่น้อยและไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย นอกจากการประกันคู่ค้า การทำธุรกรรมแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ (International Factoring : ทั้ง Import Factoring และ Export Factoring) ก็เป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงคู่ค้าและสามารถบริหารสภาพคล่องไปในคราวเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงของอาเซียนในอนาคตนั้นผมเชื่อว่าวิธีการของการค้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนระหว่างกันอย่างมีนัยยะแน่นอน และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นผลให้เครื่องมือทางการเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเราต้องหาทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจของเราเอง โดยเครื่องมือเหล่านั้นมีอยู่ในตลาดแล้วในปัจจุบัน โดยขอให้เริ่มทำความคุ้นเคย และนำมาเพื่อทำให้การขยายธุรกิจทำได้อย่างสบายใจ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นี้นั้น เราไม่อาจปล่อยวางใจได้และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเวลาแต่ละประเทศนั้นเดินด้วยความเร็วไม่เท่ากัน เวลา 1 วันในประเทศไทย อาจเท่ากับ 1.75 วันในกัมพูชา เท่ากับ 2 วันในลาว และเท่ากับ 3-4 วันในพม่า แล้วถ้าเราปล่อยให้ผ่านไป 1-5 ปีล่ะ จะเท่ากับกี่ปีในประเทศเพื่อนบ้านของเรา