วิชาเศรษฐศาสตร์ ยี่สิบปีจากนี้ไป

วิชาเศรษฐศาสตร์ ยี่สิบปีจากนี้ไป

วันก่อนได้อ่านบทความ “วิชาเศรษฐศาสตร์จะเปลี่ยนอย่างไรในช่วงยี่สิบปีข้างหน้า” หรือ “How economics will change in the next twenty years”

ก็เลยได้ข้อคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ บทความที่พูดถึงเขียนโดย ศาสตราจารย์ แบร์รี่ ไอเกนกรีน (Barry Eichengreen) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในแขนงวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงินระหว่างประเทศ ที่มาของการตั้งคำถามเกี่ยวกับอนาคตของวิชาเศรษฐศาสตร์ มาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกล่าสุด ที่ถือว่าใหญ่และรุนแรง จนมีคำถามว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์ ไม่สามารถรู้หรือบอกล่วงหน้าได้จากความรู้และวิชาการที่มีอยู่ เพื่อจะได้ป้องกันวิกฤติไม่ให้เกิดขึ้น คำถามนี้ท้าทายไปถึงสถานะของวิชาเศรษฐศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง แต่ที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งวงการร้อนตัวก็เพราะ คำถามนี้ถูกตรัสถามโดยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่สองของอังกฤษ ต่อบรรดาคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยลอนดอน (The London School of Economics) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกรุนแรงที่สุด สมเด็จพระราชินีอังกฤษ ตรัสถามว่า "ถ้าวิกฤติใหญ่มาก ทำไมทุกคนมองไม่เห็นว่าจะเกิดขึ้น" (If things were so large, how come everyone missed them?)

ผมเองพูดได้ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เพราะเรียนเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และจากนั้นก็ทำงานที่เกี่ยวกับการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์มาตลอด คือเริ่มตั้งแต่ตอนไปเรียนที่อังกฤษระดับมัธยมก็ลงเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ระดับมัธยมปลาย (A Level) และปริญญาตรีเกียรตินิยม จากนั้นก็ไปสอนหนังสือที่ออสเตรเลีย และรับทุนมหาวิทยาลัยเรียนเศรษฐศาสตร์จนจบปริญญาเอก ตอนเริ่มทำงานครั้งแรกก็เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ ในการทำนโยบายเศรษฐกิจ พูดได้ว่ารักและผูกพันและชอบวิชานี้มานาน เพราะเป็นวิชาที่แสวงหาความจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ในการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจ ที่มีผลไปถึงความเป็นอยู่ของคนในสังคม

หลายคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ครั้งแรกอาจรู้สึกว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ง่าย พูดถึงเรื่องที่รู้กันอยู่ เป็นเรื่อง Common Sense แต่เสน่ห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริงอยู่ที่การใช้เหตุใช้ผลภายใต้ข้อสมมุติต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ เป็นศาสตร์ที่พัฒนามาจากกระบวนความคิดที่เป็นระบบ มีวินัย และสวยงาม พัฒนาเป็นทฤษฎีที่สามารถทดสอบได้โดยข้อมูลจริง ดังนั้น วิชาเศรษฐศาสตร์จึงเป็นพัฒนาการความคิดมนุษย์สืบทอดกันมากว่าสี่ร้อยปี หรือประมาณ 8-9 ชั่วอายุคน เพื่ออธิบายพฤติกรรมการใช้ทรัพยากร ที่ได้นำมาสู่การเติบโตและการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนในสังคม

สมัยที่ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ช่วงปลายปี 1960’s ถึงต้นปี 1980’s เป็นช่วงที่วิชาเศรษฐศาสตร์กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ โดยเฉพาะวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคที่อธิบายการทำงานของระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงก็คือแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคขณะนั้นกำลังเดินออกจากแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทรัฐในการดูแลให้เศรษฐกิจอยู่ในดุลยภาพ คือ อุปสงค์และอุปทาน ในระบบเศรษฐกิจ ก็คือ การใช้จ่าย และการผลิตมีความสมดุลย์ ไปสู่แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของกลไกตลาดในการทำหน้าที่ดังกล่าว ในเรื่องนี้ แนวคิดเดิม ก็คือ การแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดของปัจเจกบุคคลในระดับจุลภาค สามารถนำเศรษฐกิจในระดับมหภาคเข้าสู่ดุลยภาพ หรือความสมดุลย์ได้ โดยการปรับตัวของราคาสินค้าและบริการ แต่ถ้าการปรับตัวไม่เกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจมีข้อจำกัด เช่น อัตราค่าจ้างปรับขึ้นลงไม่ได้ เพราะถูกกำหนดโดยนโยบายของฝ่ายการเมืองหรือกฏเกณฑ์ของสังคม หรือเพราะกลไกตลาดมีข้อบกพร่อง (Market failures) ก็จำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยในการปรับตัว ผ่านการใช้จ่ายหรือการเก็บภาษีของรัฐ เพื่อสร้างให้เศรษฐกิจเข้าสู่ดุลยภาพ แนวคิดนี้มีอิทธิพลมาก ต่อเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ครั้งแรกช่วงปี 1930’s ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐได้ช่วยเศรษฐกิจให้หลุดออกจากภาวะถดถอย ซึ่งเจ้าของแนวคิดนี้ ก็คือนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ John Maynard Keynes

การเปลี่ยนแปลงแนวคิด ก็คือ การกลับไปให้ความสำคัญกับกลไกตลาด เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ และใช้นโยบายเปิดเสรีปลดเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของกลไกราคา แนวคิดนี้เชื่อว่าการจัดสรรทรัพยากรโดยกลไกตลาด มีประสิทธิภาพกว่า และให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลักที่นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจในระดับสากล ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรี การลดการควบคุม และเน้นการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ แนวคิดนี้มีผลอย่างสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั้นก็คือ เศรษฐกิจโลกปรับเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่ไร้พรมแดน ขับเคลื่อนโดยความเป็นเสรีของการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและเงินทุนระหว่างประเทศ ที่มีผลให้ภาคการเงินเติบโตมากและกลายเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุน และปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก จากวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งที่เกิดขึ้น รวมถึงวิกฤติล่าสุดที่ใหญ่และรุนแรง อันนี้เป็นตัวอย่างของสิ่งที่ John Maynard Keynes ได้พูดไว้ว่า ความคิดมนุษย์มีพลังที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้ (Ideas shape the course of history)

พัฒนาการดังกล่าวพูดได้ว่า เกิดขึ้นเร็วจนแซงสิ่งที่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์เรียนและสอนในมหาวิทยาลัย จนทำให้มีความรู้สึกว่ากรอบการวิเคราะห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ จุดอ่อนที่พูดกันมาก ก็คือ การวิเคราะห์ไม่มีปัจจัยด้านการเงินเข้ามาอธิบายพฤติกรรมในระบบเศรษฐกิจมากพอ ขาดการวิเคราะห์ที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในเชิงพลวัต และปัจจัยเชิงสถาบันที่สำคัญ เช่น อิทธิพลของการเมืองต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในกระบวนการวิเคราะห์อย่างชัดเจน ช่องว่างเหล่านี้ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ถูกวิจารณ์ว่าขาดมิติสำคัญที่โยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จนไม่สามารถสร้างความเข้าใจ และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

ในความเห็นของผม วิธีวิเคราะห์ รวมถึงทฤษฏีหลักๆ ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ได้พัฒนาขึ้นมา มีพลังทางความคิดและการใช้เหตุใช้ผลที่สามารถแยกแยะ และอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ แต่การวิจารณ์เกิดเพราะผลตามทฤษฎีมักจะเกิดให้เห็นไม่เร็วพอ จนทำให้คิดกันว่าเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างกรณีวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกล่าสุด ทฤษฏีเศรษฐกิจมหภาคชี้ชัดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีปัญหารุนแรงจากการใช้จ่ายที่เกินตัวที่มาจากการก่อหนี้ ซึ่งสามารถเห็นเค้าของปัญหามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000's แต่จากปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจในช่วงนั้น ทำให้การประทุขึ้นของวิกฤติใช้เวลา แต่ในที่สุดวิกฤติก็เกิดตามที่ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มีข้อสรุปไว้ ดังนั้น โดยพื้นฐานแล้ววิชาเศรษฐศาสตร์ยังใช้ได้ แต่อาจต้องปรับปรุงโดยผสมผสานปัจจัยอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐศาสตร์สามารถอธิบายและวิเคราะห์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างสมบรูณ์

อันนี้สอดคล้องกับบทความที่พูดถึง ที่มีข้อสรุปว่าเนื้อหาและสาระหลักๆ ของตำราเศรษฐศาสตร์ยี่สิบปีข้างหน้าคงไม่แตกต่างมากจากที่มีอยู่ขณะนี้ แต่การปรับปรุงเนื้อหาคงจะต้องมี เพื่อนำปัจจัยใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์เข้ามาร่วมวิเคราะห์มากขึ้น เช่น ปัจจัยจิตวิทยาการลงทุน ปัจจัยเชิงสถาบันที่กระทบการกำหนดนโยบาย และผลที่ได้จากการทดสอบทางสถิติใหม่ๆ โดยนำปัจจัยเหล่านี้เข้ามาในกรอบการวิเคราะห์ การปรับปรุงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะเป็นการพัฒนาของความคิด ที่จะทำให้เกิดข้อสรุปเชิงทฤษฏีที่มีพลังในการอธิบาย นำไปสู่การสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจที่ดีและลึกซึ้งขึ้น ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไม่ผิดพลาด โดยเฉพาะจากความไม่รู้

ดังนั้น วิชาเศรษฐศาสตร์ช่วงยี่สิบปีข้างหน้า ยังจะสนุก ท้าทาย และยังเป็นวิชาที่น่าเรียนต่อไป